ก้าวไกลรุมอัด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่ล็อกสเปกเด็กตามช่วงอายุ ต้องมีคุณสมบัตินั่นนี่ ไม่สนความแตกต่างของคนแต่ละคน ราวกับเด็กเป็นสินค้าโรงงานที่ถูกผลิตบนสายพานให้เป็นแบบเดียวกัน เสนอ ตัดเรื่องนี้ออก เปลี่ยน ‘ช่วงอายุ’ เป็น ‘ช่วงชั้น’ – กำหนดให้อยู่ในแผนระดับอื่นที่ปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวกว่า
แม้เมื่อวานนี้ (11 มกราคม) ประชุมรัฐสภาจะล่มตั้งแต่หัววัน ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่มีความสำคัญมาก เปรียบเสมือน ‘รัฐธรรมนูญ’ ของการศึกษาไทย ชะงักค้างเติ่งอยู่ที่มาตรา 8/1 (จากทั้งหมด 110 มาตรา!) ไม่รู้จะจบยังไง ไม่รู้จะจบเมื่อไร
แต่เราอยากชวนประชาชนรับชมสิ่งที่น่าสนใจ คือการอภิปรายของกรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่รุมถล่มเนื้อหาในร่างฯ มาตรา 8 ว่าด้วยการจัดหลักสูตรการศึกษา ที่กำหนดเป้าหมายให้ผู้เรียน (ซึ่งคือเด็ก) ในแต่ละช่วงวัย ต้องบรรลุคุณสมบัติประการต่างๆ รวมกันกว่า 100 ข้อ!
1 – เริ่มที่สุรวาท ระบุว่า มาตรา 8 เต็มไปด้วยการลงรายละเอียดยิบย่อย ยากต่อการนำไปปฏิบัติ และยังผิดหลักการเรื่องความแตกต่างของคนแต่ละคน การกำหนดคุณสมบัติตามช่วงวัยแบบนี้ เป็นสิ่งที่ยังไม่มีข้อยุติหรือได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในทางวิชาการการศึกษาด้วย
จึงไม่ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ตีกรอบการจัดทำหลักสูตรทั้งในระดับชาติและระดับสถานศึกษา ดูเหมือนคนที่กำหนดคุณสมบัติเหล่านี้จะแบ่งกันไปคิด พอคิดอะไรได้ก็เอามาแปะรวมกัน ดูสับสนวุ่นวาย
2 – ต่อด้วยพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ร่างฯ ไล่ระบุเป็นข้อๆ ว่าเด็กแต่ละช่วงวัยควรต้องจัดหลักสูตรให้ได้เป้าหมายอย่างไร มีปัญหาอยู่ 3 ประการ ได้แก่
- เป้าหมายไม่ยืดหยุ่นเพียงพอต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าอดีต แต่การกำหนดเป้าหมายในมาตรา 8 กลับล็อกคุณสมบัติของผู้เรียนให้อยู่กับที่
- เป้าหมายเป็นนามธรรมสูง ไม่สามารถวัดผลได้จริง เช่น มาตรา 8(5) กำหนดให้ผู้เรียนในช่วงวัย 6-12 ปีต้อง “ซาบซึ้งในความงามของศิลปะและธรรมชาติ” แต่คำถามคือสิ่งนี้จะวัดผลได้อย่างไรและเกิดประโยชน์ขนาดไหน สิ่งที่เป็นนามธรรมแบบนี้ไม่ควรกำหนดเป็นเป้าหมาย เพราะจะนำไปสู่การสร้างภาระในเชิงปฏิบัติเยอะมาก
- เป้าหมายไม่คำนึงถึงความหลากหลายของผู้เรียน การกำหนดคุณสมบัติอย่างตายตัว เสี่ยงจะทำให้ผู้เรียนถูกตีตราอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อไม่สามารถพัฒนาทักษะได้ตามเป้าหมาย
พริษฐ์ จึงเสนอให้ทบทวนมาตรา 8 โดยปรับเป้าหมายการศึกษาตามช่วงวัย เปลี่ยนเป็นตามช่วงชั้น (เช่น ประถม มัธยม) ควบคู่กับการเอาเป้าหมายรายละเอียดไปอยู่ในแผนระดับอื่นที่ปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ของหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการยอมรับว่าจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
“ผมเชื่อว่าข้อเสนอนี้ จะพลิกมุมมองแบบอำนาจนิยมของโลกแห่งอดีต ที่มองว่าการศึกษาที่ดี คือการไล่สั่งสอนเด็กว่าจะต้องเป็นอย่างไร มาเป็นมุมมองแบบเสรีนิยมของโลกแห่งอนาคต ที่มองว่าการศึกษาที่ดีคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย ที่ทั้งเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและโอบรับความหลากหลายของผู้เรียนทุกคน”
พริษฐ์กล่าว
3 – ด้าน กุลธิดา ชี้ว่า ร่างฯ ฉบับนี้ มอบอำนาจที่มากเกินไปแก่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ หรือ Super Board ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ประกอบด้วยตัวแทนจากระบบราชการเป็นหลัก ไม่มีตัวแทนนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง แต่กลับมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ในร่างกฎหมายที่มีสภาพบังคับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกคนในระบบการศึกษา
ส่วนคุณสมบัติที่กำหนดในมาตรา 8 หลายข้อระบุถึงความรู้สึกเชิงนามธรรม เช่น ความภูมิใจ ความตระหนักถึงความสำคัญ ความสมบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งจะแปรเป็นการปฏิบัติในห้องเรียนได้ยากมาก ไม่สามารถประเมินได้ ต้องอาศัยดุลพินิจของผู้ปฏิบัติสูงมาก และผิดหลักการที่ว่าคนแต่ละคนมีพัฒนาการไม่เท่ากัน มีความถนัดแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเสนอให้ตัดรายละเอียดเป้าหมายคุณสมบัติของผู้เรียนทั้งหมดในมาตรา 8 ออก และเปลี่ยนให้เป็นคุณสมบัติตามช่วงชั้นแทน
“นี่คือการจับเด็กมาใส่กล่อง แล้วบอกว่าเขาต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างตามช่วงอายุ ราวกับเป็นสินค้าในโรงงานที่ถูกผลิตออกมาบนสายพานให้เป็นแบบเดียวกัน”
กุลธิดากล่าว