จ่อไมค์ถาม กกต. (อย่างน้อย) 4 เรื่อง
- ความพร้อมการแบ่งเขตเลือกตั้ง
- การกำหนดค่าใช้จ่ายหาเสียง
- เทคโนโลยีการรายงานผลเลือกตั้ง
- การเพิ่มความหลากหลายของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าพรุ่งนี้ (18 มกราคม 2566) กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงและหารือถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อข้องใจจากสังคมหลายเรื่อง
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ที่ยิ่งใกล้ครบกำหนดวาระของรัฐบาล ก็ยิ่งปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภามากขึ้น หรือหากไม่มีการยุบสภา ก็มีกำหนดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กกต. กลับไม่ได้แสดงท่าทีว่ามีความพร้อมมากขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งแสดงตนถึงความไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น
📌1. การอัปเดตฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรใช้เวลานาน แต่ขณะนี้กลับยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ กกต. ควรทำได้อย่างรวดเร็วและเปิดเผยมากกว่านี้
📌2. การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ซึ่ง กกต. เคยออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือกรณีที่มีการยุบสภาและกรณีที่ไม่มีการยุบสภา ซึ่งปรากฏว่าตัวเลขวงเงินมีความแตกต่างกันมากถึง 5 เท่า ทั้งในระดับ ส.ส.แบบแบ่งเขตและในระดับพรรคการเมือง นำไปสู่คำถามว่าการกำหนดให้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ เพื่อจงใจทำให้เกิดความสับสนและความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรหรือไม่
📌3. เรื่องเทคโนโลยี ที่ กกต. เพิ่งออกมาระบุว่าตัวเองไม่มีความพร้อมในการจัดทำแอปพลิเคชันรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลดข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562
เช่น การใช้เวลาที่ยาวนานเกินควร กว่าที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ การไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ และการไม่มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดย กกต. ได้อ้างถึงการไม่มีแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง (civic tech) หรือองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งอื่นๆ ต่างก็มีแพลตฟอร์มรายงานผลการเลือกตั้งอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จะบอกว่าไม่มีเทคโนโลยีนี้ไม่ได้
ขณะเดียวกัน กกต. ก็มีแอปพลิเคชันมากมายที่ยังใช้งานได้ไม่เต็มฟังก์ชั่น ดังนั้น สิ่งที่ กกต. ควรทำจึงเป็นการย้อนกลับไปมองแอปพลิเคชันที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งในอนาคตควรพัฒนาให้เหลือเพียงแอปพลิเคชันเดียวที่สามารถทำทุกเรื่องได้อย่างครบวงจร ทั้งให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง รายงานผลการเลือกตั้ง จับทุจริต ฯลฯ แทนที่จะเป็นแอปพลิเคชันย่อย ๆ หลายชิ้นที่ทำงานแยกกันแบบปัจจุบัน นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ใช้ในการรายงานผลการเลือกตั้ง จะใช้รูปแบบเว็บไซต์ หรือ Google Form ก็ยังได้
“ถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะรายผลแบบเรียลไทม์ เรื่องของเทคนิคและเครื่องมือก็ไม่ควรมาเป็นประเด็น ความพร้อมหรือไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ไม่ควรผูกกับความพร้อมของรัฐบาล กกต. ควรต้องจัดการเลือกตั้งได้ไม่ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร”
ปดิพัทธ์กล่าว
📌และ 4. เรื่องกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา มีหลายกรณีมากที่กรรมการมีสายสัมพันธ์กับหัวคะแนนในระดับท้องถิ่นต่างๆ หรือกระทั่งเป็นหัวคะแนนให้กับบางพรรคการเมืองเสียเอง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีการเปิดรับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้กว้างขวาง ได้สัดส่วนกรรมการที่เป็นคนหน้าใหม่มากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับหัวคะแนนและผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นน้อยลง
เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าขอเพียงอบรมเรื่องกฎหมายและมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้ คนไทยหลายล้านคนก็พร้อมที่จะเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้ แทนที่จะปล่อยให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอยู่ในวงแคบ ๆ ของคนที่รู้จักกัน จนอาจนำไปสู่การทุจริตการเลือกตั้งได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562
กกต. จะชี้แจงข้อสงสัยทั้ง 4 ประเด็นอย่างไร ประชาชนชาวไทยติดตามพร้อมกันพรุ่งนี้