free geoip

เรือต้องระเบิดอีกกี่ลำ ประเทศไทยถึงจะมีกฎหมาย PRTR


ประเทศไทยต้องจ่ายราคา (ที่ไม่มีวันประเมินได้) อีกกี่ครั้ง ให้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม จากการที่เราไม่มีกฎหมายรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างไปแล้ว แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกเมื่อปี 2564


หลังเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันสมูธซี 2 ระเบิดระหว่างจอดรอการซ่อมบำรุง ที่อู่ซ่อมเรือ ต.แหลมใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม เมื่อวานนี้ (17 มกราคม 2566) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บหลายราย และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย

อานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล พร้อมทีมงานพรรคก้าวไกลสมุทรสงคราม เข้าติดตามผลกระทบ เยี่ยมเยียนพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และร่วมฟัง-ซักถามผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนเปิดเผยถึงประเด็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

📌 สำหรับระยะสั้น สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดขณะนี้คือมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้บาดเจ็บ-ผู้เสียชีวิต โดยจากการซักถามผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวานนี้ ได้คำตอบว่าบริษัทเจ้าของเรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และรับปากว่าจะเร่งรัดกับทางบริษัทเจ้าของเรือและบริษัทประกันภัยให้รีบดำเนินการเยียวยาโดยเร็วที่สุด

ที่ต้องย้ำเรื่องนี้ เพราะเมื่อปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับเรือของบริษัทเดียวกันที่ จ.สมุทรปราการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าประชาชนจำนวนมากได้รับเงินเยียวยาล่าช้า บ้างก็ถูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมชดเชยให้ ตนจึงขอเรียกร้องไปทางผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ขออย่าให้เกิดการบ่ายเบี่ยงล่าช้าในการเยียวยาประชาชนเกิดขึ้นอีก


📌 สำหรับระยะยาว การป้องกันจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนอกจากว่าจะต้องรอกระบวนการพิสูจน์หลักฐานเข้าเก็บข้อมูลวันนี้เพื่อหาสาเหตุก่อน โดยเหตุระเบิดครั้งนี้ เรียกได้ว่าซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่ จ.สมุทรปราการ แทบจะถอดแบบกันมา ทั้งเรือยี่ห้อเดียวกัน มาจากบริษัทเดียวกัน ลักษณะการระเบิดก็เหมือนกัน เกิดแรงดันอากาศจนบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย กระจกแตก หลังคาพังเหมือนกัน

ก่อนเกิดเหตุระเบิด ภายในชุมชนโดยรอบเองก็มีบรรยากาศของความไม่สบายใจและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อกังขาถึงการอนุญาตให้ตั้งอู่ซ่อมเรือที่นี่ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของอู่ ที่ทำให้ชุมชนเกิดความไม่สบายใจมาโดยตลอด

“ก่อนหน้านี้ประชาชนในชุมชนเคยร้องเรียนไปหลายครั้งว่าเวลามีการนำเรือมาซ่อมบำรุง มักจะมีน้ำมันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ ประชาชนหลายคนก็ไม่อยากให้มาตั้งที่นี่ หลายคนมีคำถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบอนุญาตให้บริษัทเข้าตั้งอู่ต่อเรือในจุดนี้ซึ่งเป็นป่าชายเลนได้อย่างไร กรณีที่เกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทว่าถูกต้องหรือไม่ มีการปล่อยมลพิษลงสู่สิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นข้อเท็จจริงต่อไป แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ ก็คือความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนได้ดำรงอยู่ที่นี่มาระยะหนึ่งแล้ว และมีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นต่อไปในอนาคตหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นมาเช่นนี้”

อานุภาพกล่าว


มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ต้องเน้นไปที่นโยบายระดับประเทศ ผ่านการออกกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม – PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่าง แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตก

📣 ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายนี้ ทั้งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของชุมชน ข้อร้องเรียนต่างๆ จนมาถึงการระเบิดในครั้งนี้ จะสามารถป้องกันหรือบรรเทาและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพราะกฎหมาย PRTR …

  1. บังคับให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องรายงานการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ และ เปิดเผยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้
  2. มีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจน
  3. กำหนดสารมลพิษที่จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ เช่น กรณีอู่ซ่อมเรือแบบนี้ หากภาครัฐมีข้อมูลปริมาณน้ำมัน รวมทั้งสารเคมีอื่นๆ ที่มีอยู่ทั้งบนเรือและในอู่ซ่อมเรือ ก็สามารถเตรียมการในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้ได้อย่างทันท่วงที แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพสารเคมี
  4. สามารถออกคำเตือนต่อประชาชนบริเวณโดยรอบได้อย่างเหมาะสม ทำให้ประชาชนได้รับรู้อย่างไร้ข้อกังขา ว่ามีการปล่อยมลพิษเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ในปริมาณเท่าไร หากบริษัททำทุกอย่างถูกต้องก็ไม่ต้องกังวลหรือกลัวจะถูกร้องเรียนใดๆ


กฎหมาย PRTR มีการใช้กันในมากกว่า 36 ประเทศทั่วโลก เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศไทยควรมี เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนกับอุตสาหกรรมมักมีข้อพิพาทกันอยู่เสมอเนื่องจากความหละหลวมของกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน

หากเรายังเดินหน้าไปด้วยความหละหลวมแบบที่เป็นมา ความสูญเสียแบบที่เป็นอยู่ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต


สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 18 มกราคม 2566

Login

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เราขอยุติการรับสมัครสมาชิกพรรคและการรับบริจาค ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ย้ายไปยังพรรคประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุณาติดต่อที่ เว็บไซต์พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า