กรณี อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศบนเวทีปราศรัยเมื่อวานนี้ (29 มกราคม 2566) เรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์กำหนดการครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด เป็นผู้ค้า
📌 วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าเรื่องนี้อาจยิ่งซ้ำเติมปัญหา เพราะที่ผ่านมา นโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าของประเทศไทย วางอยู่บนหลักการที่ว่าต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า โดยถือว่า ‘ผู้เสพ’ เป็น ‘ผู้ป่วย’ ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ไม่ใช่อาชญากร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว
แต่วิธีการที่ใช้ในการแยกตัว ‘ผู้เสพ’ ออกจาก ‘ผู้ค้า’ มีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน (law of assumption) ว่าผู้ที่ครอบครองเกินกว่า 15 หน่วยการใช้ ถือเป็นผู้ค้า
ปัญหาของเกณฑ์แบบนี้ คือการแยก ‘ผู้ค้า’ ออกจาก ‘ผู้เสพ’ จะทำได้ยาก หรือไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะหากตัดเม็ดยาบ้าให้เป็น 4 ขา ก็นับเป็น 4 หน่วยการใช้ ดังนั้น ถ้าคนคนหนึ่งที่เป็นเพียง ‘ผู้เสพ’ มียาบ้า 4 เม็ด แต่ตัดเป็นเม็ดละ 4 ขา จะกลายเป็นว่าคนคนนั้นมี 16 หน่วยการใช้ และต้องถูกตีความให้เป็น ‘ผู้ค้า’ ทันที
การตีกรอบแบบนี้ ส่งผลต่อดุลพินิจในการพิจารณาคดี ให้ศาลต้องตีความได้ประการเดียว ว่าผู้ครอบครองเกินเกณฑ์ 15 หน่วยการใช้ ต้องถูกนับให้เป็น ‘ผู้ค้า’ เท่านั้น ทั้งที่หากสืบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลไป คนคนนั้นอาจเป็นเพียง ‘ผู้เสพ’ หรือ ‘ผู้ป่วย’ ที่ควรได้รับการบำบัดมากกว่าการเอาไปขังก็ได้
ที่ผ่านมางานวิจัย การศึกษา และสถิติทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ยังบ่งชี้ตรงกันว่า การใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อนเช่นนี้ ไม่ได้ผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเพียงพอ และยังก่อให้เกิดผลในทางกลับกัน คือคดียาเสพติดและจำนวนผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เกิดการผลักให้ ‘ผู้เสพ’ ซึ่งควรเป็น ‘ผู้ป่วย’กลายเป็น ‘ผู้ค้า’ แทน
📌 ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะปรับเกณฑ์จาก 15 หน่วยการใช้ มาเป็น 2 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาช่องโหว่มากกว่าเดิม ไม่สมกับเจตนารมณ์ในการนำผู้ป่วยมาเข้ารับการบำบัด และยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุก
เพราะเมื่อเอาสถิติมาดู จะพบว่า 60-70% ของคนที่ติดคุกมาจากคดียาเสพติด และส่วนใหญ่ก็เป็นรายย่อยกว่า 80-90% ในจำนวนนี้ บางส่วนควรถูกนับเป็นผู้ป่วย แต่กลับถูกผลักให้เป็นอาชญากรไปเสีย จึงต้องฝากถามไปที่รัฐมนตรีสาธารณสุข ว่าการผลักดันเกณฑ์แบบนี้ออกมา อาศัยผลการศึกษาเชิงประจักษ์ เอกสารทางวิชาการ หรือข้อมูลเชิงสถิติ จากทั้งในและต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาแล้วหรือไม่ มีข้อบ่งชี้จากผลการศึกษาเหล่านั้นหรือไม่ว่า หากปรับเปลี่ยนเกณฑ์เช่นนี้แล้วจะทำให้แก้ปัญหาได้จริงๆ
“นโยบายเช่นนี้ ในขาหนึ่งอาจจะป้องปรามยาเสพติดได้จริง แต่อีกขาหนึ่งก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่ และกลายเป็นการผลักผู้ป่วยให้กลายเป็นอาชญากรหรือไม่ ที่ผ่านมาการใช้วิธีแบบนี้ มีพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือสถิติมายืนยันหรือไม่ว่าได้ผลจริงในการแก้ปัญหายาเสพติด”
วาโยกล่าว
วาโยเห็นว่า นโยบายที่เน้นการแยก ‘ผู้เสพ’ ออกจาก ‘ผู้ค้า’ เป็นแนวทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ที่ใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อน มีปัญหาช่องโหว่มากเกินไป หากสามารถปรับวิธีพิจารณาให้กลับสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปได้ จะช่วยให้เกิดกระบวนการแยก ‘ผู้เสพ’ ออกจาก ‘อาชญากร’ ตัวจริงได้ตามเจตนารมณ์ของการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ต้นตอ จะเป็นมาตรการที่ช่วยยุติปัญหายาเสพติด ที่ได้ผลดีที่สุด
“ทุกคนที่เป็นเหยื่อของสังคม ถูกล่อลวงให้เสพยาจนเกิดการเสพติดขึ้นมา เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรค addiction disorder แบบหนึ่งที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่เกณฑ์ที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายแบบนี้ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมเป็นหลัก ถูกบีบคั้นทางสังคม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สภาพแวดล้อมที่เป็นวงจรภายในชุมชน ชักนำให้เสพยา นำไปสู่การติดยาและค้ายา ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาประเทศจนชุมชนได้รับการพัฒนา มีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนดีพอ ปัญหายาเสพติดจะลดน้อยลงไปเองในที่สุด”