กรณีที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคก้าวไกล เสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องรถโดยสารประจําทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ หรือ “กฎหมายรถเมล์อนาคต” ที่จะกำหนดให้รถเมล์ที่วิ่งใน กทม. ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 7 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายลดฝุ่นละออง PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถเมล์ ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้งานหลักล้านคน
โดยก่อนหน้านี้ ประธานสภา กทม. ไม่บรรจุร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าวในวาระการประชุมสภา กทม. โดยอ้างว่าฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขานุการสภา กทม. มีข้อห่วงใยว่าการออกกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสภากทม. สุ่มเสี่ยงจะเป็นการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิผู้อื่น จำเป็นต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน และ กทม. ไม่มีอำนาจออกกฎหมายที่เป็นการระบุโทษได้เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายระดับรอง
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กทม. เรื่องการจำกัดมลพิษใน กทม. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เสนอร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภา กทม. ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 และมีโอกาสสูงที่ร่างจะผ่านความเห็นชอบบังคับใช้เป็นข้อบัญญัติ กทม. ถือเป็นสัญญาณที่ดีของความพยายามแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของขนส่งสาธารณะในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.ก. พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น