“ก้าวไกล” เปิดเวทีพบชาวน่าน ย้ำนโยบายรัฐสวัสดิการทำได้ทันที พร้อมปรับเบี้ยคนแก่เป็น 3,000 บาท ด้าน “พิธา” เสนอแก้ฝุ่น PM2.5 ต้องยกเครื่องโครงสร้างอำนาจ ออกกฎหมายใหม่-กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น-ปรับขนส่งสาธารณะใช้พลังงานไฟฟ้า
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม ส.ส. พรรคก้าวไกล อาทิ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน จัดเวทีพบปะประชาชนที่จังหวัดน่าน พร้อมนำเสนอนโยบายและตอบคำถามของประชาชนในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาชน เช่น ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น
ณัฐชา ได้นำเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะเรื่องเงินผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่จะปรับจาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน โดยระบุว่านี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ลงไปถึงรายละเอียดว่าแหล่งรายได้ที่จะนำมาทำนโยบายจะมาจากไหน และสามารถทำได้ทันที หากพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ผลที่จะเกิดขึ้นคือพี่น้องไม่ต้องมารอลุ้นให้ได้รับเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามอายุของตัวเองอีกแล้ว ขอเพียงมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและเป็นคนไทย จะได้รับสิทธิทันที ไม่ต้องลงทะเบียนด้วย
😷 จากนั้น มีหนึ่งคำถามสำคัญจากวงพูดคุย เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่นับวันสถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลง ทางพรรคก้าวไกลมีนโยบายอย่างไร พิธาได้ตอบคำถามนี้โดยระบุว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่มีต้นตอจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่
หากเป็นเขตเมือง มักเกิดจากรถยนต์ โรงงาน และการก่อสร้าง ส่วนในพื้นที่ชนบทมักเกิดจากการเผาไหม้จากภาคเกษตร การใช้พลังงานถ่านหิน หรือการเผาป่าที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สาเหตุเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันมายาวนาน แต่การแก้ไขปัญหาไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะโครงสร้างอำนาจที่มีปัญหา
กล่าวคือปัญหาของฝุ่น PM2.5 เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แต่ความรับผิดชอบที่อธิบดีมีอยู่นั้น ไม่ได้มาพร้อมกับอำนาจ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถไปสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษออกมาตรการเพื่อระงับฝุ่น PM2.5 ได้ ผลก็คือที่ผ่านมามีเพียงการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนมากก็มักไม่ได้รับความร่วมมือกลับมา
📌ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลเล็งเห็นว่าเป็นมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ คือ
- ด้านโครงสร้างอำนาจ ต้องมีการผ่าน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สามารถบังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษได้
- ด้านที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ กรณีปัญหาฝุ่นมีต้นตอจากประเทศในภูมิภาค เราต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นสากล สามารถใช้กลไกอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกัน
- มาตรการอื่นๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน
- การเปลี่ยนรถเมล์เก่าให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV bus) ทั้งหมดภายใน 7 ปี ตามที่ ส.ก. ของพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. “รถเมล์อนาคต” ซึ่งคาดว่าสภา กทม. จะพิจารณาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566
- การส่งเสริมให้เกิด car free day ด้วยการงดเก็บค่าบริการขนส่งสาธารณะ
- การเลิกการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินภายในปี 2580
- การกระจายอำนาจการดับไฟป่าไปให้ท้องถิ่น ไม่ให้อยู่ที่ส่วนกลางที่มีแต่ความไม่โปร่งใส
- การแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาการเผาไหม้ป่า เป็นต้น
“เรื่องของฝุ่น PM2.5 อาจกล่าวได้สั้นๆ ว่าเป็นปัญหาจากโครงสร้างอำนาจ ที่กรมควบคุมมลพิษไม่สามารถออกมาตรการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้ การมีกฎหมายมารองรับให้อำนาจส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง บวกกับการเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ให้สามารถออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง จะช่วยให้เกิดการกระจายการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ทำได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น”
พิธาทิ้งท้ายว่า แม้จะเป็นปัญหาที่ยาก แต่หลายประเทศสามารถทำให้ปัญหานี้ดีขึ้นได้ ประเทศไทยก็ต้องทำให้ดีขึ้นได้เช่นกัน