รับชมคลิปการอภิปราย https://youtu.be/CCPZYLQ7GCw
17 กุมภาพันธ์ 2564 – วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในปีกแรงงาน ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในข้อหาบริหารราชการบกพร่องผิดพลาดร้ายแรง ปล่อยปะละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ดำเนินนโยบายผิดพลาดจนเกิดทำให้มีการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบและเป็นเหตุทำให้เกิดการระบาดของโควิด 19 รอบที่สอง เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานอย่างทั่วถึง ผลาญเงินประกันสังคมซึ่งเป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียวของแรงงานในระบบ และยังมีพฤติการณ์สร้างความปลุกปั่น แตกแยก เกลียดชังในหมู่ประชาชน ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง
อัดสองโครงการกระตุ้นการจ้างงานล้มไม่เป็นท่า แถมหนุนขูดรีดแรงงานโดยรัฐ
โดยวรรณวิภา ระบุว่าในวันที่สุชาติเข้ารับตำแหน่งวันแรก หนึ่งในนโยบายที่มีการมอบคือนโยบายให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และการเยียวยาพี่น้องแรงงาน
แม้สุชาติเพิ่งรับตำแหน่งมาได้เพียง 6 เดือนแต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงการบริหารงานที่บกพร่อง หละหลวม ละเลยในการจัดการแรงงานข้ามชาติน จนเป็นสาเหตุให้ประเทศต้องเจอกับการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ และถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นแล้ว สุชาติก็ยังคงแก้ปัญหาผิดๆถูกๆ จนต้นตอของปัญหาไม่ถูกนำมาแก้ไข
นับตั้งแต่มีมาตรการล็อคดาวน์ การสั่งหยุดงานทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มีธุรกิจปิดกิจการไปแล้วกว่า 20,000 แห่ง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างขนานใหญ่ ตัวเลขคนว่างงานสูงเป็น 2 เท่า หรือเกือบล้านคน ลูกจ้างหลายคนจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชย การร้องเรียนให้ได้สิทธิที่ควรได้รับ จากที่ปกติก็ดำเนินการล่าช้าอยู่แล้วยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก บางเรื่องค้างอยู่ที่ศาลก็ต้องเลื่อนต่อไปไม่มีกำหนด บางคนจนเกิดการระบาดเป็นรอบที่สองแล้วก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเฉพาะตัวแรงงานเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปจนถึงครอบครัว ความหวังเดียวที่อยากจะหวังพึ่ง ก็คือนโยบายของรัฐบาล และคนที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
เมื่อสุชาติรับตำแหน่งรัฐมนตรีมา ก็ได้ริเริ่มโครงการของกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือ Co Payment และ โครงการ Job Expo
โครงการ Co Payment ตั้งเป้าหมายจ้างงาน 260,000 คน ใช้งบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐช่วยออกคนละครึ่งกับนายจ้างก็เหมือนจะล้มเหลว เพราะจ้างงานได้แค่ประมาณ 7,000 คนเท่านั้น เมื่อโครงการไม่เป็นไปตามเป้า สุชาติก็แก้เงื่อนไข เอื้อให้มีการกดค่าแรงโดยยกเลิกการกำหนดเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ให้ใช้การเจรจาต่อรองกันเอง โดยกำหนดเพียงว่าไม่ให้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัด ซึ่งค่าแรงตามวุฒิเดิมก็แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว สุชาติยังจะให้ลูกจ้างกับนายจ้างไปต่อรองกันเองแบบนี้อีก
ส่วนโครงการ Job Expo ที่จัดงานใหญ่โต ตั้งเป้าไว้ว่าจะจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง แต่พอไปดูเนื้อหาของตำแหน่งงานในเว็บไซต์ไทยมีงานทำ กลับมีตำแหน่งงานที่เปิดรับอยู่เพียงแค่ 600,000 กว่าตำแหน่ง และมีคนเข้าไปสมัครเพียง 134,716 ครั้งเท่านั้นเอง ทำให้ตนสสงสัยว่าสุดท้ายแล้ว มีคนที่ได้งานทำจากโครงนี้กี่คน เพราะจำนวนคนว่างงาน ณ เดือนตุลาคมมีมากถึง 800,000 คน แต่คนสมัครงานตามโครงการนี้เพียงแค่แสนกว่าคน คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานอย่างนั้นหรือ?
มิหนำซ้ำ งานภาครัฐที่มาประกาศจ้างงานใน Job Expo ดังกล่าวนี้ ยังกดขี่ค่าแรงเสียเอง จ้างงานเป็นหมื่นอัตรา ค่าตอบแทนเพียง 5,000 บาทต่อเดือน ทั้งๆที่ต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เรื่องนี้ชัดเจนว่าขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าแรงขั้นต่ำที่ควรจะได้รับ สุชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแบบไหน นอกจากจะไม่ทักท้วงห้ามปรามแล้ว ยังสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทำผิดกฎหมายและเอาเปรียบลูกจ้างได้ถึงเพียงนี้
นอกจากนี้งานที่มีให้สมัครยังเป็นสัญญาจ้าง 12 เดือน ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ สุชาติเคยคิดหรือไม่ว่าถ้าหมดสัญญาแล้วชีวิตคนงานจะเป็นอย่างไรต่อ สัญญาในลักษณะนี้สมัยที่ตนอยู่สหภาพแรงงานเรียกว่า “สัญญาทาส” เพราะปล่อยให้คนงานโดนเอาเปรียบ สวัสดิการอะไรก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องโดนให้ออกตอนครบปีพอดี กลายเป็นว่าต้องกลับไปหางานใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนั้น
“ถ้าท่านตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จะรู้เลยว่าการมีงานมั่นคงระยะยาวมีคุณค่าต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จัดงานใหญ่โต แต่ถ้าแก้ปัญหาแบบขอไปทีไม่ตรงโจทย์และความต้องการของประชาชนที่เผชิญอยู่ ก็ดูเหมือนจะไร้ความหมาย ดิฉันคิดว่าหากมี Job Expo รอบหน้าท่านไม่ต้องเปิดเป็นล้านตำแหน่งหรอกค่ะ เปิดแค่ตำแหน่งเดียวก็พอ คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะอีกไม่นานต้องออกแล้ว ตำแหน่งนี้” วรรณวิภากล่าว
เงินรัฐไม่ควักเยียวยาประชาชน มาเบียดเบียนกองทุนประกันสังคม แถมไม่มีแผนโปะคืนให้ — กองทุนถังแตกขึ้นมาจะรับผิดชอบอย่างไร?
วรรณวิภายังอภิปรายต่อไป ว่านอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคนว่างงาน คนตกงานแล้ว ยังผลักให้เป็นภาระของกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างอีก ซึ่งได้สร้างความเสียหายและความสูญเสียโอกาสให้กับกองทุนประกันสังคม ที่ถือเป็นเงินในอนาคตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่จ่ายสมทบร่วมกับนายจ้างทุกเดือน ทั้งๆที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายสมทบส่วนน้อย
ความเสียหายแรกที่สุชาติสร้าง คือการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งแม้จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง ทำให้มีเงินสดในมือมากขึ้น ช่วยค่าครองชีพได้บ้าง แต่อย่าลืมว่ากองทุนประกันสังคมไม่ใช่เงินของรัฐ ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างช่วยกันจ่าย มีรัฐบาลช่วยจ่ายมาสมทบเพียงประมาณ 2.75% ของรายได้
แต่พอมีปัญหากลับมาลดเงินสมทบแบบไม่ยอมโปะคืน สิ่งนี้กระทบกับความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมโดยตรง พี่น้องแรงงานที่ออมเงินไว้หวังว่าจะได้บำนาญก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ
ก่อนหน้าสุชาติจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงฯได้ลดอัตราสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยลูกจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 1 นายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 4 ในงวดเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2563 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้เข้ากองทุน 23,119 ล้านบาท
หลังจากที่สุชาติมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนกันยายน ก็ได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 2 ในงวดเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้ของกองทุน 24,313 ล้านบาท
และล่าสุด สุชาติยังได้ลดเงินสมทบเข้ากองทันประกันสังคมเป็นครั้งที่ 3 โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 3 ในงวดเดือนมกราคม 2564 ต่อมาหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ท่านก็ได้ลดการสมทบในส่วนของลูกจ้างลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 งวดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้ของกองทุนไปอีก 21,237 ล้านบาท
การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้ง 3 ครั้ง ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้จากการสมทบไปแล้วรวม 68,669 ล้านบาท เฉพาะในช่วงที่สุชาติเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการแรงงานก็ร่วมๆ 50,000 ล้านบาท แต่จนถึงตอนนี้ตนก็ยังไม่เห็นสุชาติมีแผนงานหรือมีแนวทางในการคืนเงินสมทบชดเชยให้กองทุนประกันสังคมจากการจากออกนโยบายลดเงินสมทบของท่านเลย
“ท่านกำลังทำให้ผลประโยชน์ในอนาคตของผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย จากการลดเงินสมทบ ที่เป็นตัวเร่งทำให้กองทุนประสังคม โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ ที่อนาคตจะต้องขาดทุน ก็จะยิ่งทำให้ถังแตกเร็วขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ อย่างเช่นน้องๆที่เพิ่งเรียนจบใหม่ และมาเป็นผู้ประกันตน ถ้าอายุ 23 ปี และจ่ายสมทบกองทุนไปเรื่อยๆ เมื่อเกษียณอายุหรืออายุครบ 55 ปี ก็จะไม่ได้ใช้เงินบำนาญที่ตัวเองจ่ายสมทบไปเลยแม้แต่บาทเดียว ถ้าถึงวันนั้นขอให้ทุกท่านจำไว้เลยนะคะ ว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ เป็นผลงานของรัฐมนตรีที่ชื่อสุชาติ ชมกลิ่น”
วรรณวิภากล่าว
วรรณวิภาอภิปรายต่อไป ว่าความเสียหายที่สองที่สุชาติสร้างไว้กับกองทุนประกันสังคม คือการที่ท่านเอาเงินของกองทุนว่างงานไปเยียวยาผู้ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดจากคำสั่งรัฐ เช่นเคย กองทุนนี้ได้เงินมาจากการสมทบระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รัฐบาลสมทบน้อยมาก แต่พอเกิดเรื่อง ก็มาควักเงินจากกองทุนนี้ ทั้งๆที่เหตุเกิดจากความผิดของรัฐบาลแท้ๆ ที่ทำให้กิจการต่างๆโดนสั่งปิด
โดยในรอบนี้สุชาติ ได้ใช้เงินจากกองทุนนี้ไปแล้วประมาณ 2,800 ล้านบาท รวมกับยอดเก่าในระลอกแรกก็ประมาณ 11,400 ล้านบาท แทนที่ท่านจะใช้เงินของรัฐบาลจาก พ.ร.ก.กู้เงิน หรืองบกลางสำหรับการเยียวยาในสถานการณ์โควิด 19 มาจ่ายเยียวยาผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการจากรัฐ สุชาติไม่สมควรมาทำแบบนี้ เพราะนี่ มันไม่ใช่เงินของท่านหรือของรัฐบาล
สรุปแล้วกระทรวงแรงงานของสุชาติ ได้นำเงินประกันสังคมมาใช้เยียวยาผู้ประกันตนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไปแล้วราว 80,000 ล้านบาท โดยที่ท่านยังไม่คิดที่จะคืนเงินหรือชดเชยให้กองทุนประกันสังคม หรือคิดที่จะเพิ่มสมทบในส่วนของรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งท่านเองกำลังซ้ำเติมกองทุนประกันสังคมอยู่
เพราะว่ารัฐบาลเองก็มีหนี้ค้างจ่ายสมทบอยู่เกือบๆ 88,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 รวมๆแล้วท่านควรที่จะต้องจ่ายคืนทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ให้กองทุนประกันสังคมประมาณ 168,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่จนป่านนี้ยังไม่เห็นว่าสุชาติจะมีนโยบายใดๆในการคืนเลย
“นอกจากท่านจะไม่คืนเงินกองทุนประกันสังคมแล้ว ท่านยังหน้าด้านที่จะเอาเงินก้อนนี้ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกันตนตอนว่างงาน มาสร้าง PR ให้กับตัวเองและหัวหน้าพรรคของท่าน จัดพิธีรีตรองมอบเงินเอาหน้าเสียใหญ่โตให้เปลืองงบประมาณ ทั้งๆที่มันเป็นเงินของคนงานที่สะสมมา ไม่ใช่เงินของท่านหรือรัฐบาล”
วรรณวิภากล่าว
วรรณวิภาอภิปรายต่อไป ว่าต่อมาหลังจากที่รัฐบาลได้ออกนโยบายเราชนะ วงเงิน 7,000 บาทให้เป็นเครดิตในแอพเป๋าตัง ไม่เป็นเงินสดแบบครั้งก่อน และแน่นอนว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เหมือนเดิม ตนก็คิดเอาเองว่าสุชาติก็คงจะใช้เงินประกันสังคมไปจ่ายเหมือนรอบแรก คงจะไม่ไปควักเงินจากรัฐบาล
แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะด้วยเสียงประนามสาบแช่งหรือด้วยใกล้ถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติก็ได้ปล่อยโครงการ ม.33 เรารักกันออกมา โดยจ่ายให้เป็นเครดิตในแอพเป๋าตัง ที่สุดท้ายก็ทำได้เพียงเอาไว้ซื้อน้ำปลาข้าวสารอาหารแห้งประทังชีวิต เพราะเอาไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนรถผ่อนบ้านไม่ได้ แถมให้อย่างแสนเค็มเพียงแค่ 4,000 บาท
“นโยบายนี้ไม่รู้จะช่วยกู้หน้าหรือขายหน้ากันแน่ เพราะนอกจากจะเค็มในการแจกเงินแล้ว ยังมิวายใส่เกณฑ์เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทเข้าไปอีก ทำให้แรงงานตั้งคำถามว่าทำงานมาเป็นสิบๆปีจะไม่ให้มีเงินเก็บบ้างเลยหรือไง ขนาดนายทหารนายพล รัฐมนตรีบางคน ทำงานไม่กี่ปียังมีเงินเก็บเป็นร้อยล้านพันล้านเลย สิ่งนี้ทำให้แรงงานชักไม่แน่ใจเสียแล้ว ว่านโบาย ม.33 เรารักกันที่เกิดขึ้นเป็นเพราะท่านรักแรงงาน หรือรักษาเก้าอี้ตนเองไว้กันแน่”
วรรณวิภากล่าว
สร้างเงื่อนไขยุ่งยาก จัดการความต้องการแรงงานข้ามชาติไม่ได้ สุดท้ายเอื้อขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ทำโควิดระบาดรอบสอง
จากนั้น วรรณวิภาได้อภิปรายต่อไป ว่าที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนยกการ์ดสูงเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค แต่การแพร่ระบาดก็กลับมารุนแรงกว่าเดิม เพราะเป็นรัฐบาลที่การ์ดตกเสียเอง ทั้งเรื่องการลักลอบเข้าเมืองของคนไทยที่ไปทำงานที่พม่า การปล่อยให้มีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ปล่อยให้มีการค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติ จนทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ครั้งใหญ่
แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมือง ถูกชี้นิ้วตีตราด่าทอว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดในรอบนี้ แต่สาเหตุที่แท้จริงก็คือ สุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ทำงานบกพร่อง หละหลวม ไม่สนใจการแก้ปัญหาอย่างจริงจังในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ นำไปสู่ธุรกิจค้ามนุษย์ที่นำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จนทำให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ถูกตรวจโรค ไม่ได้กักตัว ทะลักเข้ามาจนเป็น super spreader ที่ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร
ท่านเคยคิดหรือไม่ ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กิจการค้ามนุษย์ของบริษัทนายหน้าแรงงานเถื่อนมาเฟื่องฟูในช่วงนี้เป็นพิเศษ นั่นก็มาจากการที่สุชาติดำเนินนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ผิดพลาด ประมาทในเรื่องของการคาดการณ์ความต้องการแรงงานข้ามชาติ จนปล่อยให้สถานประกอบการต้องขาดแคลนแรงงาน ถ้าอยากได้คนทำงานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง ขั้นตอนยุ่งยาก และใช้เวลานาน
ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดระลอกแรก เป็นช่วงที่แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยกลับบ้าน พอมีการล็อกดาวน์ ก็มีแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง ส่วนนี้ก็มุ่งหน้ากลับบ้านก่อนที่จะมีการปิดด่านวันที่ 18 เมษายน แน่นอนว่ามีแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีสถานะเป็นแรงงานเถื่อน เนื่องจากพอไม่มีงานทำ ก็ไม่มีนายจ้าง เมื่อไม่มีนายจ้างเกิน 30 วัน ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อ ต้องกลับไปที่ประเทศต้นทาง
หลังการคลายล็อคดาวน์ เศรษฐกิจที่กำลังจะโงหัวขึ้นมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลังการแพร่ระบาดในระลอกแรก มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบสูงถึง 600,000 คน จาก 3 ล้านคนในช่วงปลายปี 2562 พอมาเดือนสิงหาคม 2563 เหลืออยู่เพียง 2.4 ล้านคนเท่านั้น
มีนายจ้างและสถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติพุ่งสูงไปถึง 1,266,351 คน แต่ท่านอนุมัติแค่เพียง 69,235 คน และมีกลุ่มที่นายจ้างยื่นขอไปที่ประเทศต้นทาง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้อีก 42,168 คน รวมๆแล้วสามารถนำแรงงานกลับมาเข้ามาแบบถูกกฎหมายได้แสนกว่าคนเท่านั้นเอง โดยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และอนุญาตให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ผ่าน MOU เท่านั้น
ตั้งแต่สุชาติเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตนก็ไม่เห็นว่าจะมีการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างแต่อย่างใด จะมีก็แค่การเซ็นต่อใบอนุญาตให้แรงงานที่ยังอยู่ในประเทศไทยสามารถทำงานต่อได้เป็นระยะ แต่ท่านลืมบอกให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศต่อวีซ่าให้ด้วย
ผู้ประกอบการที่อยากจะนำเข้าแรงงานให้ถูกกฎหมาย ก็ต้องเผชิญกับขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมายและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ลำพังก่อนโควิดก็แพงมากอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์โควิดค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก แรงงานข้ามชาติต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ มีใบรับรองแพทย์ มีวีซ่า มีประกันสุขภาพหรือทำประกันสังคม ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ด่านควบคุมโรค และต้องกักตัว 14 วัน ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 19,580 – 28,180 บาทต่อแรงงานข้ามชาติ 1 คน
แค่ค่าตรวจเชื้อและกักตัวก็ปาเข้าไปแล้ว 13,200 – 19,000 บาทต่อหัว โดยที่นายจ้างต้องเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้นายจ้างคิดหนักเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากต้องการนำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ขั้นตอนนำเข้าก็ยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารมากมายจนต้องหานายหน้ามาดำเนินการให้ ทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มอีก 10 – 25 % ของค่าจ้างรายเดือนที่ต้องให้แรงงานข้ามชาติ
ภาระของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับที่มากขึ้นรวมทั้งต้องจ่ายค่ากักตัว ในช่วงสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ สุชาติกลับไม่คิดที่จะมีมาตรการแบ่งเบาภาระนายจ้างแม้แต่บาทเดียว ตัวอย่างดีๆ ก็อย่างเช่นประเทศไต้หวัน มีค่าใช้จ่ายกักตัว 21,000 ดอลลาร์ไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันยังช่วยนายจ้าง 14,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือช่วย 2 ใน 3 ของค่ากักตัวทั้งหมด แต่สุชาติก็ไม่คิดที่จะดูเป็นแบบอย่าง
ตนจึงไม่แปลกใจเลย ที่นายจ้างเลือกใช้บริการนายหน้าลักลอบค้ามนุษย์ ค้าแรงงานผิดกฎหมาย นายจ้างเพียงจ่ายเงินให้นายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐในการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเพียงแค่ 13,000 บาทต่อคน โดยทำเป็นกระบวนการ มีบริษัทนายหน้าจัดหา กินค่าหัวคิวกันทั้งแบบจ่ายสดและผ่อนชำระ และเมื่อมาถึงประเทศไทยก็มีการจัดหางานให้ทำ และให้ผ่อนเป็นระบบรายเดือน ในยุคก่อนโควิดตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อคน หลายธุรกิจยอมจ่ายเงินค่าหัวคิวและเงินใต้โต๊ะให้แก่ผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการได้แรงงานเถื่อนมาใช้งาน
“อดคิดไม่ได้ว่าความยุ่งยากทั้งหมดที่เกิดขึ้นและไม่มีการแก้ไขปรับปรุงใดๆเลย เป็นเพราะต้องการให้บริษัทนายหน้ายังทำมาหากินได้ต่อไปหรือเปล่า ลองคิดดูนะคะ ว่าถ้าขั้นตอนทุกอย่างมันง่าย ทำออนไลน์ได้คลิกเดียวเสร็จแล้วบริษัทนายหน้าจะหากินกันอย่างไร? แน่นอนว่านายหน้าค้าแรงงานเถื่อนไม่ได้ทำคนเดียว แต่เป็นขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ล้วนแล้วแต่มีการจ่าย “ส่วย” กันตลอดทาง”
วรรณวิภากล่าว
วรรณวิภายังอภิปรายต่อไป ว่าที่ตนต้องมาย้ำเรื่องนี้อีกรอบ เพราะขบวนการนี้นอกจากเอื้อให้นายหน้าค้าแรงงานแล้ว ยังทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ซึ่งถ้าเลือกได้ก็คงไม่ได้อยากเป็นแรงงานเถื่อน ค่าใช้จ่ายค่าหัวคิวที่นายจ้างต้องจ่าย ก็ไปหักเงินจากค่าแรงในแต่ละงวดที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติได้รับ ปกติก็ค่าแรงน้อยอยู่แล้วยังถูกหักอีกแบบนี้ โดนกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานถึงจะมารับตำแหน่งได้เพียงไม่นาน แต่ความผิดพลาดของท่านในการบริหารแผ่นดิน ปล่อยให้แรงงานขาดแคลน แถมไม่ช่วยแบ่งเบาภาระการกักตัว สุดท้ายเมื่อเขาแอบลักลอบเข้ามาโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเก็บส่วยเก็บใต้โต๊ะ จนสุดท้ายโควิดแพร่ระบาดอีกรอบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมแย่เกินกว่าที่ตนจะไว้วางใจให้สุชาติทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่อไปได้
มองแรงงานข้ามชาติเหมือนไม่ใช่คน จับขังรวม-ล้อมลวดหนาม แถมเก็บเงินค่าตรวจโควิด แต่สุดท้ายก็คุมการระบาดไม่ได้
วรรณวิภาอภิปรายต่อไป ว่าแม้สุชาติจะได้พยายามจะควบคุมการแพร่ระบาดของแรงงานข้ามชาติ พยายามดึงแรงงานผิดกฎหมายให้กล้าออกมาเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยการประกาศนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แต่มาตรการนี้ก็ทำให้นายจ้างที่กลัวความผิด ออกมาลอยแพลูกจ้างที่ผิดกฎหมาย เลิกจ้างกลางคัน หรือแม้กระทั่งพาไปทิ้ง มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆว่าหลอกลูกจ้างขึ้นรถบอกว่าจะไปทำงาน แต่ไปปล่อยเขาทิ้งไว้กลางทางแทน
ต้นทุนในการลงทะเบียนวันนี้ยังแพงเหมือนเดิม โดยรอบนี้ต้องจ่ายเกือบหมื่นบาทต่อแรงงานข้ามชาติ 1 คน ท่านตั้งเป้าว่าจะมีคนมาลงทะเบียน 500,000 ราย ตอนนี้ก็คงน่าจะถึงเป้าแล้ว แต่ถามจริงๆว่าตัวเลขที่ท่านอ้างว่ามีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอยู่กว่า 500,000 ราย ท่านไปเอามาจากไหน
ทั้งๆ ที่ตอนนี้กระทรวงแรงงานของท่านเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีจำนวนเท่าไร ตามที่ท่านได้ให้เหตุผลไว้ในประกาศผ่อนผันแรงงาน 4 สัญชาติของท่านเอง สุดท้ายแล้ว ถ้าจะคุมการระบาดของโควิด 19 ก็ต้องไล่ตรวจให้หมด แต่ท่านกลับไม่ได้ให้เขาตรวจฟรี มีค่าตรวจ ตอนแรก 3,000 บาท แล้วเพิ่งมาลดให้เหลือ 2,300 บาท เหตุใดถึงไม่ให้ตรวจฟรี แล้วยังให้ส่งผลตรวจได้ถึงวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งถือว่าช้ามาก แล้วแบบนี้จะควบคุมได้จริงหรือ?
หลังจากการระบาดใหญ่ที่สมุทรสาคร ที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ สุชาติในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กลับไม่ดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติอย่างไร้มนุษยธรรม ดังที่เห็นได้จากการกักตัวแรงงานข้ามชาติโดยเอารั้วลวดหนามมาล้อมตลาดกลางกุ้งและชุมชนแรงงานข้ามชาติไว้ หากพบว่าใครติดโควิด ก็ให้กักตัวอยู่ในที่พักที่ล้อมรั้วลวดหนาม ไม่ได้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาล รัฐเองก็ไม่ได้ส่งข้าวส่งน้ำให้กิน จนนายจ้างต้องไปส่งข้ามลวดหนามให้ลูกจ้างเอง
ในจังหวัดอื่นๆ ก็เช่นกัน การควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติระหว่างรอผลตรวจไวรัสโควิด 19 มีการนำแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายไปขังไว้รวมกันอย่างแออัดที่ จ.ระนอง กับ จ.ประจวบคีรีขันธ์
“การกระทำแบบนี้ใครเห็นก็คงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้หรอกค่ะ ท่านไม่เคยเห็นคนเท่ากัน แรงงานพวกนี้ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม สำหรับพวกเราแรงงานทุกคนคือพี่น้อง สิ่งที่แรงงานไทยต้องเจอ แรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่า กัมพูชา หรือลาว ก็เจอกับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน และน่าจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยแยแส ไม่เคยเยียวยาใดๆเลย ยังจะกระทำกับพวกเค้าเหมือนไม่ใช่คน ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีแรงงาน ยิ่งต้องเข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน ในภาวะที่ประเทศขาดแคลนกำลังแรงงานแบบนี้ และเขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา ต้องการการปฏิบัติที่เท่าเทียมเช่นเดียวกัน”
วรรณวิภากล่าว
ตัวตั้งตัวตีจัดม๊อบชนม๊อบ แฉโฉมหน้าอันธพาลทำร้าย “ราษฎร” เด็ก “สุชาติ” ทั้งนั้น
วรรณวิภาอภิปรายต่อไปอีก ถึงกรณีที่สุชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน มาปะทะกันที่หน้ารัฐสภา โดยระบุว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2563 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ต่อมาเมื่อการชุมนุมขยายตัว รัฐบาลทำท่าจะเอาไม่อยู่ จึงเกิดกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มที่สอง ที่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล หลายครั้งมีการชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกันจนเกิดการยั่วยุถึงขั้นปะทะ ส่วนในโลกออนไลน์ ก็มีการโจมตีกันด้วยวาทะสร้างความเกลียดชัง ข่าวปลอม ทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะฝั่งที่ต่อต้านรัฐบาล
ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบนี้ สุชาติที่ฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทนที่จะตั้งตกตั้งใจทำงานของตนเอง กลับใช้ความเป็น ส.ส.ความเป็นรัฐมนตรี ยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในสังคม อยู่เบื้องหลังในการขนคนในเครือข่ายของตัวเองมาสร้างบรรยากาศความรุนแรงในการชุมนุมในลักษณะม็อบชนม็อบ
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่มีการปะทะกันระหว่างม็อบราษฎร และม็อบเสื้อเหลือง จะะพบว่ามีคนในเครือข่ายของสุชาติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ก็คงไม่เป็นการแปลกอะไรถ้าการชุมนุมในครั้งนั้นไม่เกินเลยไปสู่การใช้ความรุนแรง แต่ประชาชนที่มาชุมนุมวันนั้นโดนทั้งการใช้กำลังควบคุมฝูงชนโดยตำรวจ แล้วยังจะโดนขว้างปา สิ่งของ เข้าทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มคนที่ใส่เสื้อเหลืองจนเป็นการปะทะกัน พอตกค่ำก็ถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน มีคนถูกยิง 6 คน พบปลอกกระสุนตกอยู่ทางฝั่งของม็อบเสื้อเหลืองเต็มไปหมด
โดยผู้ก่อเหตุก็เป็นทีมงานของสุชาติที่จังหวัดชลบุรี คนแรกที่กำลังถือก้อนหินปาใส่ผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม คือ “ทิดหมึก” หรือ สมชาย แน่นิ่ง ซึ่งเมื่อไปส่องเฟซบุ๊คดู ทั้งเฟซบุ๊คของสุชาติและเฟซบุ๊คของทิดหมึก ยังทำงานให้กับสุชาติ ใส่ชุด PPE ไปพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด 19 อยู่เลยเมื่อเดือนที่แล้ว
คนต่อมา ก็คือคนข้างๆ ทิดหมึก ที่ทำหน้าขึงขังชี้เป้าให้ทิดหมึกปาหินใส่ คือ “บังทอง” หรือหน่อง หลังเพชร ซึ่งตนมีหลักฐานว่าอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุทำร้ายม็อบราษฎรที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บังทองคนนี้เป็นทีมงานในสำนักงาน ส.ส.สุชาติ ชมกลิ่น และยังคงทำงานให้อย่างเปิดเผยหลังจากเหตุปะทะดังกล่าว
สิ่งที่ยืนยันได้ว่าทั้งสองคนเป็นคนในเครือข่ายของสุชาติ ก็ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊คของสุชาติเอง ในรูปภาพกิจกรรมพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด 19 ปรากฎรูปของบังทองและแก๊งหลังเพชรซอยเก้า ถ่ายรูปร่วมกับ “สจ.ตี๋” สุรพงศ์ นำชัยรุจิพงษ์ โดยคนกลุ่มเหล่านี้ก็คือลูกน้องของ สจ.ตี๋ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสุชาตินั่นเอง
หรือจะคนต่อมาในรูปนี้ ที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าม็อบเสื้อเหลืองได้อภิสิทธิ์ สามารถใช้พื้นที่ในหน่วยงานทหารได้ด้วย คนนี้ใช้ชื่อว่า “เต้ซ่า ซอยเก้า” กลุ่มหลังเพชรซอยเก้า ในภาพก็เห็นได้ว่าเคยไปร่วมงานถ่ายภาพกับสุชาติ ให้กระเช้า “กำนันเผือก” คนสนิทและผู้ติดตามของสุชาติ ซึ่งก็เป็นแกนนำม็อบรักสถาบันที่ชลบุรี
และเมื่อตนขุดคุ้ยลึกเข้าไปอีก ก็พบว่า เต้ซ่า ซอยเก้า ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “กำนันเข็ก” ขวัญชัย เดชชีวะ ที่มีความสนิทสนมกับสุชาติ ถ่ายรูปกันอย่างใกล้ชิด ถึงกับให้สุชาติมาประดับขีดกำนันให้
คดีทำร้ายและยิงผู้ชุมนุมราษฎรบาดเจ็บที่หน้ารัฐสภาจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งๆที่ผู้เสียหายก็ได้ออกมาแจ้งความไว้แล้ว ปลอกกระสุนตกเกลื่อนพื้นถนน และตำรวจก็เก็บหลักฐานไปหมดแล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า นั่นเป็นเพราะว่าที่ผู้ต้องสงสัยเป็นคนของรัฐมนตรี คือสุชาติใช่หรือไม่?
“จากหลักฐานที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าท่านมัวแต่ไปใช้คนและเครือข่ายของตัวเองสนับสนุนการสร้างความขัดแย้ง สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยที่ท่านไม่ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จนนำไปสู่การจัดการแรงงานที่ล้มเหลว สร้างความเสียหายกับกองทุนประกันสังคม พูดง่ายๆ ท่านเป็นรัฐมนตรีแรงงาน แต่ท่านมัวแต่เอาเวลาไปสนับสนุนม็อบ จัดม็อบชนม็อบ จนงานการในหน้าที่ตัวเองเละเทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศไทย ท่านไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีของพี่น้องแรงงานทุกคนได้ ท่านบกพร่องต่อหน้าที่ในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ล้มเหลว ดิฉันจึงไม่สามารถไว้วางใจให้ สุชาติ ชมกลิ่น ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ต่อไปแม้แต่วินาทีเดียวค่ะ” วรรณวิภากล่าวทิ้งท้ายการอภิปราย