free geoip

เปิดโปงบันได 5 ขั้น รัฐประเคนสัมปทานรถไฟสายสีส้ม


สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงความผิดปกติของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่ามีความจงใจเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่



ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่เป็นมูลค่ามหาศาล นั่นจึงนำไปสู่กระบวนการหาผลประโยชน์ ซึ่งขอแยกให้เห็นภาพเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมเค้กชิ้นใหญ่ ให้เป็นโครงการที่มีสัญญาร่วมลงทุนสองก้อนใหญ่มัดรวมกัน กล่าวคือ สัญญาร่วมลงทุนก้อนที่ 1 เป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ซึ่งรัฐจะอุดหนุนไม่เกิน 91,983 ล้านบาท กับสัญญาร่วมลงทุนก้อนที่ 2 เป็นงานเดินรถ 30 ปีบวกกับการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งผลประโยชน์ที่ว่านี้ คือการที่รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง 100% ไม่ว่าใครประมูลได้ ก็จะสามารถทำกำไรได้มหาศาลแน่นอน ตามตัวเลขที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เคยประเมินไว้ว่าจะสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเป็นการแข่งขันกัน ว่าเอกชนรายใดจะคืนผลประโยชน์ให้กับรัฐมากกว่ากัน


ขั้นตอนที่ 2 ล็อกเป้าเอาไว้ จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีเพียงสองเจ้า คือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งขั้นตอนช่วงแรกก็ดำเนินไปอย่างปกติ คือในวันที่ 28 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ จากนั้นวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ก็มีการออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมลงทุน และทั้งสองเจ้าก็เข้าร่วมประมูลตามปกติ

แต่ต่อมาเกิดกระบวนการล็อกเป้าเพื่อเตะตัดขาบางเจ้าออกไป นั่นคือในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จน BTS ฟ้องไปที่ศาลปกครอง จนนำไปสู่คำสั่งศาลปกครองให้ทุเลาการเปลี่ยนเกณฑ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 และต่อมาก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์โดย รฟม. ก่อนที่จะมีการล้มประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งศาลปกครองก็ได้ชี้ออกมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ว่าการล้มประมูลครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ขั้นตอนที่สาม เตะตัดขา เมื่อล้มประมูลแล้ว รฟม. จึงทำการเปิดประมูลครั้งใหม่ในปี 2565 พร้อมกับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลที่ต่างออกไปจากในปี 2563 กล่าวคือเปลี่ยนจากเกณฑ์เดิมที่วัดกันที่ราคาที่เอกชนเสนอให้รัฐ ซึ่งใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี มาเป็นการประเมินแบบ “ให้คะแนน” รวมทั้งราคาและเกณฑ์ทางเทคนิคเข้าด้วยกัน ซึ่งสร้างมาโดยเฉพาะสำหรับการประมูลสายสีส้มเท่านั้น


ขั้นตอนที่สี่ ฆ่าตัดตอน ด้วยเกณฑ์การประมูลในปี 2565 ที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ขั้นคุณสมบัติ ที่ระบุว่าต้องมีผลงานที่แล้วเสร็จ ไม่สามารถใช้ผลงานที่ตรวจรับแล้วได้ และต้องมีคุณสมบัติงานโยธาเป็นผลงานที่ทำกับรัฐบาลไทยเท่านั้น และยังล็อกไว้ด้วยว่าต้องมีประสบการณ์คล้ายคลึงกับการออกแบบก่อสร้างระบบอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ทำให้ในที่สุด BTS ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้


จึงทำให้เหลือเพียง BEM เจ้าเดียวที่เข้าร่วมการประมูลได้ และด้วยความกลัวโจ่งแจ้งเกินไป จึงมีการเปลี่ยนเกณฑ์บางอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้มีการสร้างคู่เทียบหลอกขึ้นมา คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD โดยยกเลิกเกณฑ์คุณสมบัติจัดหาและติดตั้งรถไฟฟ้า รวมถึงการเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติผู้นำกลุ่ม จากต้องมีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟฟ้า เป็นมีประสบการณ์งานโยธาก็เพียงพอ

แต่ด้วยความที่กรรมการ ITD เคยได้รับโทษจำคุกในคดีเสือดำ ซึ่งถือเป็นการขาดคุณสมบัติที่จะมาเป็นคู่เทียบร่วมลงทุนกับรัฐ BTS จึงยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการคัดเลือกให้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและตัดสิทธิ ITD ออก แต่คณะกรรมการคัดเลือกก็ไม่ได้ดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ ปล่อยให้ ITD ยังคงเป็นคู่เทียบอยู่


ขั้นตอนที่ห้า รอทอนส่วนแบ่ง ขณะนี้การลงนามสัญญากำลังจ่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จึงต้องถามว่าขณะนี้กำลังมีการรอทอนส่วนแบ่งอยู่หรือไม่ ซึ่งส่วนแบ่งที่ว่านั้น ก็คือส่วนต่างมูลค่ากว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

เพราะตามข้อเสนอของ BTS รัฐจะต้องอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท ในการก่อสร้างปีที่ 3-8 และจะมีการคืนผลตอบแทนให้รัฐ 7.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ชนะการประมูลคือ BEM เงื่อนไขคือรัฐจะต้องอุดหนุนถึง 78,288 ล้านบาท จนเกิดส่วนต่างขึ้นมาถึง 68,613 ล้านบาท


จึงต้องตั้งคำถามว่าเงินส่วนต่างนี้ จะไปเข้าที่กระเป๋าของนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองพรรคใดหรือไม่ และจำเป็นต้องให้รัฐมนตรีออกมาชี้แจงใน 7 ประเด็นด้วยกัน

(1) เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศเช่นนั้น?

(2) เหตุใดจึงมีการยกเลิกการประมูล ทั้งที่ศาลปกครองชี้แล้วว่าเป็นการยกเลิกโดยมิชอบ?

(3) เหตุใดจึงมีการกีดกัน BTS ไม่ให้เข้าประมูล

(4) เหตุใดจึงปล่อยให้คู่เทียบที่ขาดคุณสมบัติเข้ารอบโดยไม่มีการตัดสิทธิ?

(5) เหตุใดการตั้งราคากลางจึงเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากขนาดนี้?

(6) รัฐไปเจรจากับ BEM แบบไหนจึงเกิดส่วนต่างจาก BTS มากขนาดนี้?

(7) เหตุใดส่วนต่างจึงมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาทเช่นนี้?


สรุป… มองจากดาวอังคารยังรู้ว่าโกง!

  • – เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ
  • – ยกเลิกประมูลที่ตัวเองไม่ถูกใจ
  • – กีดกันไม่ให้ BTS เข้าประมูล
  • – ตั้งราคากลางเอื้อประโยชน์นายทุน
  • – ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐในการเจรจา
  • – ส่วนต่างที่รัฐเสียประโยชน์ 68,613 ล้านบาท มีจริง!

นี่คือมหากาพย์เมกะดีลที่ใหญ่ที่สุดในรัฐบาลปรสิตยุคนี้ ถ้าผลการประมูลครั้งนี้ถูกรับรองโดย ครม. นี่จะกลายเป็น “ค่าโกง” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การคอร์รัปชันของประเทศไทยอย่างแน่นอน

ประเด็นนี้กำลังจ่อเข้า ครม. ทั้งที่ส่อไปในทางทุจริต ว่าจะมีการทิ้งทวนก่อนเลือกตั้งหรือไม่ ผมไม่ได้ช่วย BTS เพราะผมก็เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องสายสีเขียว คัดค้านการใช้มาตรา 44 แอบต่อขยายสัมปทานให้ BTS โดยไม่มีการแข่งขัน เราต้องตรวจสอบทุกโครงการไม่ให้รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนโครงการมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น 

อย่าบอกเลยครับว่าถูกต้องตามกระบวนการ เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องของป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท แน่นอนว่ารัฐทำอย่างถูกต้อง แต่สุดท้ายมันแพงเกินจริง นี่เป็นการถูกต้องโดยทุจริต อย่าปล่อยให้เมกะโปรเจกต์กลายเป็นเมกะดีล

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า