free geoip

เปิดเบื้องหลังเรือหลวงสุโขทัยล่ม จ้องโกงกินกันทุกส่วน นี่เรือหรือขนมเค้ก?

การอภิปรายของผมในวันนี้ จะพูดถึงเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยล่มอับปางลง ผมจึงขอถือโอกาสนี้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสียทุกท่าน และหากการอภิปรายของผมต่อจากนี้ จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อผู้ที่ได้รับความสูญเสีย ก็ต้องกราบขออภัย โดยผมยืนยันครับ ว่าผมมีเพียงความปรารถนาดี และความหวังสูงสุด ที่จะถอดบทเรียน เพื่อให้แน่ใจว่า เราทุกคนจะไม่ได้ต้องเผชิญกับความสูญเสียแบบนี้อีกต่อไป ในอนาคต


ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้อภิปรายหลายเรื่องเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม

เราเปิดโปงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพต่างๆ ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการทุจริตภายในกองทัพ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซ่อมทำ 

เราพูดแล้วเตือนแล้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นการแสดงออกของ พล.อ. ประยุทธ์ ในความพยายามที่จะแก้ไข ตรวจสอบ หรือทำให้สังคมคลายข้อสงสัย จนนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ล่าสุด คือการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย ที่คร่าชีวิตทหารเรือไปถึง 24 นายและสูญหาย 5 นาย

พี่น้องประชาชน อาจจะสงสัยว่าการอับปางของเรือหลวงสุโขทัยไปเกี่ยวข้องอะไรกับการทุจริตคอร์รัปชัน?

ผมจะไล่เรียง แล้วลองถามตัวเองดูว่าสิ่งที่ผมเล่าต่อไปนี้ เป็นความบกพร่องโดยสุจริต หรือ เป็นความจงใจบกพร่องจากการทุจริตทีละเล็กทีละน้อย จนแม้แต่ผู้กระทำผิดเอง ก็คงคาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลถึงเพียงนี้ และ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้



จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปาง ที่ผ่านมาในสังคมมีการพูดถึงความเป็นไปได้ อยู่ 3 สาเหตุใหญ่ ได้แก่ (1) ความผิดพลาดของมนุษย์ หรือ Human Error (2) สภาพอากาศ และ (3) ความพร้อมในการใช้งานของตัวเรือ

**ความเป็นไปได้ที่ 1 ความผิดพลาดของมนุษย์**

เรือสุโขทัยจมเพราะความผิดพลาดของคนบนเรือ ณ วันนั้น หรือความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานบนชายฝั่ง? ผมมีข้อสังเกตแบบนี้ 


ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยในวันนั้น คือการเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ (จุดที่ 1 ในแผนที่) เพื่อไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ซึ่งก็คือบริเวณจุดที่ 2 ในภาพแผนที่

เมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าว ด้วยคลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถทอดสมอบริเวณนั้นได้ จำเป็นต้องเข้าเทียบท่า เมื่อดูจากแผนที่ เห็นได้ว่าท่าเรือที่ใกล้ที่สุดคือท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในจุดที่ 3 ตามภาพ


ท่าเรือบางสะพานนี้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ของเอกชน และถือเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวในแนวชายฝั่ง จาก จ.ประจวบฯ ถึง จ.นราธิวาส จากภาพเป็นเครื่องยืนยันว่า เรือหลวงของกองทัพ หลายลำก็เคยไปเทียบท่า และส่งกำลังบำรุงที่ท่านี้ โดยในวันนั้น เรือหลวงกระบุรี ที่มาถึงหาดทรายรีก่อนหน้าเรือสุโขทัย ก็ทอดสมอไม่ได้เช่นกัน จึงเดินทางเข้าเทียบเรือที่ท่าเรือบางสะพานไปเป็นที่เรียบร้อย


คำถามคือ แล้วเหตุใด เรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน?

ตกลงแล้วเป็นการสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่ไหน ที่สั่งให้เรือสุโขทัยกลับสัตหีบ

เพราะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้การบนเรือ จะตัดสินใจฝ่าคลื่นลมมุ่งหน้ากลับไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ ทั้งๆ ที่เรือกระบุรีที่ใหญ่กว่าถึงสองเท่า ได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพานไปแล้ว

ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ต้องชี้แจง ว่าใครเป็นคนสั่งให้เรือหลวงสุโขทัยมุ่งหน้ากลับไปสัตหีบ จนนำมาสู่การล่มอับปางลงในจุดที่ 4 ตามภาพ


**ความเป็นไปได้ที่ 2 สภาพอากาศ**

หลังเกิดเหตุการณ์เรืออับปาง กองทัพเรือพยายามชี้แจงในหลายช่องทาง ว่าในวันเกิดเหตุมีคลื่นลมที่รุนแรงมากกว่าปกติเป็นอย่างมาก โดยบอกว่ามีคลื่นสูงถึง 6เมตร

เมื่อไปดูรายงานการพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ มีความคลาดเคลื่อนจากการพยากรณ์อากาศของทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และของบริษัทเดินเรือเอกชนเป็นอย่างมาก โดยกองทัพเรือบอกว่าวันนั้นคลื่นจะสูงประมาณ 2.5 เมตร ในขณะที่การพยากรณ์ของเอกชนระบุว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร

แต่จะ 2 เมตร หรือ 6เมตร ก็ต้องเรียนว่า อดีตข้าราชกาารทหารเรือหลายต่อหลายท่าน ต่างยืนยันกับผมว่า นี่ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้เรืออับปางลงได้ เพราะเรือหลวงสุโขทัยคือเรือรบ เป็นเรือระดับ คอร์เวต ไม่ใช่เรือทั่วๆไป ดังนั้น สามารถทนต่อ sea state เลเวล 6 ซึ่งเป็นคลื่นสูงถึง 6 เมตรได้ ดังนั้นหากเรืออยู่ในสภาพพร้อมรบ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะจมลงเพราะคลื่น 6 เมตร

นอกจากนี้ ภายในเรือหลวงสุโขทัย ถูกแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ห้องที่ใหญ่ที่สุด คือห้องเครื่องยนต์ ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ชั้นใต้ดินที่ 1 จนถึงชั้นใต้ดินล่างสุด และในชั้นใต้ดิน 1 นี้ ยังเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 เครื่อง

ภายในเรือถูกแบ่งเป็นห้องๆ และทุกห้องจะมีประตูผนึกน้ำ นั่นหมายความว่า หากถูกข้าศึกโจมตี แล้วมีน้ำรั่วเข้ามาทางใด เราก็สามารถปิดประตูผนึกน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องอื่นๆได้ เพราะฉะนั้นคลื่น 6 เมตร จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยล่ม เว้นเสียแต่ว่า เรือสุโขทัยไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น ประตูผนึกน้ำใช้การไม่ได้ ซีลกันน้ำขอบประตูเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น

**ความเป็นไปได้ที่ 3 ความพร้อมในการใช้งานของตัวเรือ**


ข้อกล่าวหาที่ผมมีต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือการที่ท่านปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตในทุกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ และต่อเรื่องนี้ ก็คือ การซ่อมเรือรบของกองทัพ รวมทั้งปล่อยให้กำลังพล พี่น้องทหารเรือ ต้องทนใช้เรือรบที่ไม่ได้ถูกซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทำศึกสงคราม จนเกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้


ในคณะกรรมาธิการการทหาร ได้เชิญกองทัพเรือเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือหลวงสุโขทัยรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยตั้งแต่ประชุมครั้งแรกในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 (4 วันหลังเรือล่ม) ผมก็ขอเอกสารไปหลายรายการ เช่น ประวัติการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย งบประมาณที่ใช้ในการซ่อมบำรุง บันทึกการปฎิบัติภารกิจ บันทึกการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือหลวงสุโขทัย กับหน่วยงานชายฝั่งต่างๆ และเรืออื่นๆ ตั้งแต่ออกเดินทางจากสัตหีบ จนถึงเวลาที่ระบบสื่อสารใช้การไม่ได้ รายงานตรวจสอบความพร้อมของเรือ ก่อนออกจากสัตหีบ

แต่สุดท้ายได้มาแค่ 2 อย่าง คืออัตรากำลังพลและประวัติการบรรจุของเรือ และเอกสารประเมินสภาพอากาศ จนถึงวันนี้ เกือบสองเดือนกองทัพเรือยังคงอ้างว่าต้องใช้เวลารวบรวมเอกสาร

แต่ยังดีที่มีข้าราชการทหารเรือ ส่งเอกสารให้ผม คือเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ในช่วง พฤษภาคม 2561 – มกราคม 2564 รวม 300 กว่าหน้า ด้วยงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท

ผมถามว่า เอกสารแบบนี้ กองทัพเรือก็มีอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ยอมส่งให้ กมธ.การทหาร

เปิดลิ้นชักมาก็มีแล้ว แต่ไม่ให้

พอผมได้อ่านในรายละเอียด ก็เข้าใจทันทีครับ ที่ไม่ยอมส่งเอกสารให้ผม ก็เพราะว่า ต้องการปกปิดข้อมูลจากผู้แทนราษฎร ปกปิดความผิดตนเองในการซ่อมบำรุง

หากเราไล่เรียงตามรายงานนี้จะพบว่า เรือหลวงสุโขทัยนั้นแม้ว่าจะซ่อมเสร็จแล้ว ผมย้ำนะครับว่า ซ่อมเสร็จแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาในหลายจุด ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ไปจนถึงจุดใหญ่ ๆ จนผมกล้าพูดเลยครับว่า นี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริตในการซ่อมทำ แบ่งกันกินทีละส่วน คนละคำ จนผมชักไม่แน่ใจแล้วครับ ว่าตกลงนี่มันเรือรบ หรือ ขนมเค้ก กันแน่


ลองมาไล่เรียงดูในรายงาน

จุดที่หนึ่ง คือสมอเรือ ในเอกสารส่งมอบเรือหลังการซ่อมฉบับนี้ ระบุเอาไว้ชัดเจนครับ เมื่อทดสอบการใช้งานจริงของเรือในทะเลหลังการซ่อม พบว่า มอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง มีอาการหยุดการทำงานในบางจังหวะ เนื่องจากเกิดสภาวะ Overload มอเตอร์เลยตัดกาารทำงาน

บางท่านจะบอกว่า แค่สมอเรือ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่เห็นเกี่ยวกับเรือจะล่มไม่ล่ม


อย่างในสไลด์นี้ ที่ขีดเส้นสีแดง ก็คือมาตรวัดแรงดันต่าง ๆ ที่ใช้ในเรือหลวงสุโขทัย ใช้การไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสูบน้ำไฟรเมน 4 เครื่อง และมอเตอร์สูบน้ำใช้การ 2 เครื่อง มาตรวัดใช้งานไม่ได้บ้าง ไม่มีติดตั้งมาบ้าง


ในรายงานเขียนแบบนี้เลยครับ มอเตอร์น้ำจืดใช้การทั้งหมายเลข 1 และ 2 ไม่มีมาตรวัดแรงดันทางดูด เครื่องหมายเลขหนึ่งนี้ มีการรั่วไหลของน้ำบริเวณแกนพัดน้ำจำนวนมาก

ส่วนเครื่องหมายเลขสอง มีค่าความสั่นสะเทือนเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นี่คือ ซ่อมแล้วนะครับ


มีอะไรขัดข้องอีกครับ

เครื่องจักรหลายตัวก็มีค่าการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ สูงเกินมาตรฐาน ตั้งแต่

ข้อ 4.3.1 เครื่องอัดลมกำลังต่ำ 2 เครื่อง

เครื่องสูบน้ำทะเลระบายความร้อนเครื่องไฟฟ้า 2 เครื่อง

เครื่องทำความเย็น

มอเตอร์น้ำจืด

จนถึง ข้อ 4.3.7 มอเตอร์สูบน้ำสำรอง 


ผมจึงพลิกไปดูในรายละเอียด ว่าสั่นเพราะอะไร ปรากฎว่า

เครื่องอัดลมกำลังต่ำ เขียนชัดเจนว่าเป็นการติดตั้งเครื่องใหม่แทนตัวเดิม ย้ำว่าตัวใหม่ๆ เลย แต่ก็กลับพบว่ามีแรงสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ดังนั้นจึงยืนยันได้ชัดเจนว่าปัญหาของการสั่นสะเทือนนั้นไม่ได้มาจากเครื่องอัดลม เพราะมันเป็นเครื่องใหม่ แต่มาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน คือติดตั้งเครื่องได้ไม่ดี ไม่สมดุล

ผมย้ำอีกครั้งว่านี่คือสภาพหลังซ่อมเสร็จแล้ว ทำไมซ่อมตั้งแต่ปี 2561 – 2564 แล้วยังมีปัญหาแบบนี้ คำถามคือผู้มีหน้าที่ซ่อม ซ่อมกันยังไง แล้วคนที่มีหน้าที่ตรวจรับ ไปตรวจรับให้ผ่านได้ยังไง


ข้อขัดข้องต่อไปที่พบคืออะไร จากสไลด์ ขีดเส้นใต้สีแดง การขนานเครื่องไฟฟ้า (หรือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า) หมายเลข 4 ไม่ได้ทดสอบ เนื่องจากระบบควบคุมไม่พร้อม การขนานโหมด Auto ไม่สามารถใช้ราชการได้ สรุปง่ายๆ คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 เสีย


เรามาดูสไลด์นี้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ Power Generator ของเรือหลวงสุโขทัยนั้น ตามแบบแล้วจะมีทั้งสิ้น 4 เครื่อง วางอยู่ตรงกลางเรือ ห้องติดกับเครื่องยนต์ดีเซล  และมีเครื่องสำรอง อีก 2 ตัว วางอยู่หัวเรือตัวหนึ่ง และวางอยู่ท้ายเรืออีกตัวหนึ่ง เผื่อว่า เครื่องหลักตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา ก็สามารถใช้เครื่องสำรองมาทดแทนได้


ปรากฏว่า หลังจากการซ่อม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า กลับใช้งานได้ 3 เครื่อง ย้ำว่า ผ่านการซ่อมแล้วนะครับ เครื่องสำรองหมายเลข 4 กลับไม่สามารถใช้งานได้

ผมถามว่า แล้วเวลามาของบประมาณจากสภาฯ เรื่องซ่อมบำรุง บอกว่า ต้องดำรงสภาพความพร้อมในการรบ แล้วแบบนี้เรียกว่าพร้อมในการรบหรือครับ มันคือความจงใจ ไม่ซ่อมให้สมบูรณ์

ผมถามเรื่องนี้กับผู้แทนของกองทัพเรือในคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ กองทัพเรือยอมรับว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเสีย 1 เครื่องจริง! และตอบแบบหน้าตาเฉยเลยว่า ถึงจะเสียก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีอีกเครื่องที่ใช้งานได้

ถ้าแบบนั้น สหรัฐอเมริกาจะออกแบบให้มี 4 เครื่องมาทำไมตั้งแต่ต้น คนสร้างเรือออกแบบให้มีสำรอง 2 เครื่อง แต่ท่านมาบอก ไม่เป็นไรมีเครื่องเดียวก็พอ

พล.อ. ประยุทธ์ว่าไง ตกลงแล้วที่ว่าดำรงสภาพความพร้อมในการพร้อมรบอยู่ตรงไหน หรือจริงๆแล้ว ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้ต้องไปรบกับใคร เอาไว้แสดงวันเด็ก กับพาผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพออกไปประกอบพิธีลอยอังคารก็พอ อย่างที่ล่าสุด เอาเรือหลวงบางปะกงที่ขนาดใหญ่กว่าเรือหลวงสุโขทัยสองเท่า ออกไปประกอบพิธีลอยอังคารของอดีต ผบ.ทอ. ท่านหนึ่ง พร้อม F16 อีกสองลำ

สรุปแล้วคือซ่อม โดยไม่ได้สนใจภารกิจป้องกันประเทศเลยใช่ไหม ผลาญงบประมาณไปอย่างนั้น

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือการซ่อมตัวเรือ ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้แนวน้ำ ผิวน้ำ และเหนือน้ำ

แม้ตัวถังเรือจะทำมาจากเหล็ก แต่ถูกใช้งานไปนาน ๆ โดยเฉพาะส่วนของตัวเรือหรือผนังเรือที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ มันก็จะถูกกร่อนจนบางไปเรื่อย ๆ เลยต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยการตัดเชื่อมเหล็กตัวเรือใหม่ให้มีความหนาตามมาตรฐาน


โดยก่อนที่จะเริ่มซ่อม ทางกองแผนการช่างของกรมอู่ทหารเรือ ก็ได้ทำการสำรวจเรือและออกรายงานมาชุดหนึ่งครับ ลงวันที่ 12 กันยายน 2561 ระบุว่ามีแผ่นเหล็กแผ่นไหนบ้างของเรือหลวงสุโขทัย ที่มีความหนาต่ำกว่ามาตรฐานและต้องซ่อมแซมแก้ไข ทั้งหมดผมนับรวมแล้วได้ 13 จุด


โดยเรื่องนี้ ทางเพจ CSI LA ได้โพสต์ในวันที่ 4 มกราคม 2566 แสดงเอกสารฉบับที่ผมได้กล่าวเมื่อสักครู่ พร้อมตั้งคำถาม ว่ากองทัพเรือซ่อมโดยใช้แผ่นเหล็ก (high tensile AH-36) หรือไม่ ลวดเชื่อมเป็นชนิดเดียวกับที่กำหนดไว้หรือเปล่า ช่างเชื่อมมีใบรับรองหรือเปล่า

กองทัพเรือก็รีบตอบออกมาทันควันในวันรุ่งขึ้นคือ 5 มกราคมเลยครับ แต่แทนที่จะตอบคำถามอย่างละเอียด พร้อมแสดงเอกสาร กลับมาโต้ เพจ CSI LA ในทำนองว่า CSI LA นี้ช่างไม่รู้อะไรเลย กองทัพเรือซ่อมไปหมดแล้ว เอกสารนี้มันเป็นข้อมูลก่อนซ่อม พูดง่ายๆ คือ CSI LA ดูไม่น่าเชื่อถือ นั่นเอง

แต่ท่านประธานครับ เกมพลิกครับ เพราะวันต่อมา ในวันที่ 6 มกราคม CSI LA โพสต์เอกสารเพิ่มเติม ซึ่งคือรายงานการซ่อมเรือในมือผมนี่แหละครับ ว่าแท้จริงแล้ว 13 จุด ที่ซ่อมตามที่กองแผนการช่างระบุมาว่าต้องซ่อม เอาเข้าจริง ไม่ได้ซ่อม ถึง 8 จุด


ท่านประธานครับ จากสไลด์นี้ สีเขียวขอบแดง คือตำแหน่งของแผ่นเหล็ก 5 จุดที่พบว่ามีความหนาต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งถูกซ่อมไปแล้ว แต่สีชมพู คือ 8 จุดที่ตรวจพบว่าเหล็กหนาต่ำกว่ามาตรฐานกลับไม่ได้ซ่อม ในทางกลับกัน ปรากฎว่า มีสีเขียวอีก 10 จุด ที่ความหนาของเหล็กเป็นปกติกลับถูกซ่อม

ผมขอทวนอีกที

ทีแรก กองแผนบอกให้ซ่อม 13 จุด ลงมือซ่อมไป 15 จุด ดูแค่จำนวนแบบนี้เหมือนดี ซ่อมเกินไป 2 จุด แต่เอาเข้าจริง ใน 15 จุดนี้ มีแค่ 5 จุดที่เป็นจุดที่ต้องซ่อมจริงๆ ส่วนอีก 10 จุด ไม่รู้ซ่อมทำไม แล้วอีก 8 จุดที่ต้องซ่อม ก็ดันไม่ซ่อม

มันชักมีกลิ่นแปลกๆ หรือไม่ครับ ผมไม่คิดว่านี่เป็นความบกพร่องโดยสุจริตแน่ๆ

ในรายงานฉบับนี้ลงรายละเอียดเอาไว้ชัดเจนว่า กรณีจุดที่ไม่ต้องซ่อม ที่มีความหนาเฉลี่ยลดลงเป็น 0% ง่ายๆ คือ ไม่ได้บางลงจากเกณฑ์เลย กลับมีการซ่อม เช่น จุดสีเขียว A8, A9, A10, B8, C11 กราบขวา

ส่วนจุดที่ต้องซ่อม แต่ไม่ได้ซ่อม สีชมพู เช่น

K6 ที่ความหนาเฉลี่ยลดลง 12.36% เป็นเหล็กแผ่นที่อยู่บริเวณกระดูกงูของเรือ แต่กลับไม่ได้ซ่อม

A7 กราบขวา ที่ความหนาเฉลี่ยลดลง 19%

A7 กราบซ้าย ที่ความหนาเฉลี่ยลดลง 13.4%

A5 กราบซ้าย ที่ความหนาเฉลี่ยลดลง 15.5%

ทั้งจุด K6 A7 และ A5 ล้วนแต่เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและเป็นความเป็นความตายของเรือมาก ถ้าหากเกิดรอยร้าวหรือรูรั่ว เพราะอะไร?


ดูภาพนี้ครับ นี่คือกราบขวาของเรือ เพราะตำแหน่งเหล่านี้ K6 A7 เป็นผนังของห้องเครื่องยนต์ และ ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรือสุโขทัย


กราบซ้ายของเรือภาพนี้ K6 A5 A7 ไม่ได้ซ่อม

ดังนั้น หากมีการแตกร้าว ไม่ว่าจะกราบซ้ายหรือขวา  น้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมในห้องเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จนนำมาสู่การอับปางลงของเรือสุโขทัยได้อย่างแน่นอน

คำถามคือ กองทัพเรือทำงานแบบนี้ได้อย่างไร มี 8 จุดที่ไม่ได้ซ่อม แล้วตรวจรับงานเอาเรือกลับลงน้ำไปใช้งานต่อได้อย่างไร

ผมถาม พล.อ.ประยุทธ์ มีรถสักคัน เอาไปซ่อมแล้วเป็นแบบนี้ จะรับส่งมอบหรือ แล้วท่านปล่อยให้กองทัพเรือ ทำแบบนี้ได้อย่างไร


เมื่อผมตรวจสอบลึกลงไปว่าใครเป็นคนซ่อม กองทัพเรือซ่อมเองหรือจ้างซ่อม พบว่าเป็นการจ้างซ่อมโดยเอกชนรายหนึ่ง ที่ผมไม่แน่ใจเลยว่ามีศักยภาพในการซ่อมทำหรือไม่

มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และมีพนักงานประจำเพียง 20 คน แล้วจะมีมาตรฐานการทำงาน ความพร้อมในการซ่อมทำเรือรบหรือไม่

แต่เขารู้กันทั้งกองทัพเรือ ว่าทำไมเอกชนรายนี้ถึงได้งานซ่อมตัวเรืออยู่เสมอ เพราะมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพลเรือโท ว. ชื่อเล่น ก. อดีตเจ้ากรม เพียงแต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ก็เท่านั้นเอง

สรุปแล้วคือกินกันหนักครับ กินเหล็ก กินลวดเชื่อม กินค่าแรง ตำแหน่งผนังเหล็กที่ควรซ่อม ไม่ซ่อม ส่วนตำแหน่งที่ไม่ต้องซ่อม ก็ระบุมาว่าซ่อม ซ่อมจริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ แล้วก็หลับหูหลับตาเซ็นตรวจรับงานกันไป ขอแค่ให้เรือมันลอยน้ำได้ก็พอแล้ว ตรงไหนไม่ได้ซ่อม ก็ช่างหัวมัน ไม่เคยคิดหรอกว่าเพราะความจงใจบกพร่อง แบ่งเค้กกันกินจนพุงกางแบบนี้ สุดท้ายแล้วสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติไปมากขนาดไหน

ยังไม่หมดนะครับท่านประธาน เรื่องฉาว ๆ ของการซ่อมเรือหลวงสุโขทัยยังไม่จบเพียงเท่านี้ การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย ยังพบอีกหนึ่งความบกพร่องนั่นคือ การซ่อม Fin Stabilizer หรือครีบกันโคลง


ครีบกันโคลง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลของเรือ เวลาเจอคลื่นลมแรง เจ้าครีบนี้จะช่วยรักษาสมดุล ไม่ให้เรือต้องเอียงซ้ายที ขวาที

ต่อเรื่องนี้ ผมก็ถามกองทัพเรือในกรรมาธิการ ว่าตกลงแล้ว ในการซ่อมทำเรือสุโขทัย มีการถอดชิ้นส่วนนี้ออกไปหรือไม่ กองทัพเรือกลับตอบผมว่า ด้วยเรือมันเก่าแล้ว หาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ อีกทั้ง การซ่อมทำครีบกันโคลงหากทำได้ไม่ดี กลับจะเป็นผลร้ายต่อสมดุลของเรือ ก็เลยถอดทิ้งไปดีกว่า แล้วยังบอกอีกว่า เรืออาจจะโคลงมากขึ้นแต่ไม่เป็นไร ครีบกันโครงจะมีหรือไม่มี ก็ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม

ประการแรก ผมยืนยันกับท่านประธานตรงนี้เลยนะครับว่าไม่จริง ครีบกันโคลงนี้สำคัญ และต่อให้เรือจะเก่าอย่างไร อะไหล่ตัวนี้ก็หาได้แน่ ๆ ที่หาไม่ได้น่าจะเป็นเพราะไอ้บริษัทห้องแถวที่สนิทชิดเชื้อกับ พล.ร.ท. ‘ว’ หาอะไหล่ไม่ได้หรือเปล่า แต่ก็ไม่รู้นะครับว่าจริงๆ แล้วอาจจะหาได้ แต่ไม่ไหว เพราะโดนหักหัวคิวเยอะเหลือเกิน

ประการที่สอง กองทัพเรือพยายามชี้แจงว่า การไม่มีครีบกันโคลง ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม แต่ผมถามว่า ในสภาพคลื่นลมทะเลรุนแรง เมื่อไม่มีครีบกันโครง ที่จะช่วยลดอาการโคลงของเรือ เรือมันก็ยิ่งโคลงมากขึ้น ดังนั้นการปฎิบัติหน้าที่กำลังพลและลูกเรือ ก็แน่นอนว่าจะมีประสิทธิภาพลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ต้องอย่าลืมว่าเรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือรบ ที่มีคุณค่าทางยุทธการสูง คือรบได้ถึง 3 มิติ ยิงสู้กับเครื่องบินบนฟ้าก็ได้ ยิงสู้กับเรือบนผิวน้ำด้วยกันก็ได้ หรือยิงสู้กับเรือดำน้ำที่ใต้น้ำก็ได้

ผมถามว่า ถ้าเรือมันโคลงไปโคลงมา มากกว่าที่มันควรจะเป็น แล้วเราจะยังยิงขีปนาวุธได้อย่างแม่นยำสูงสุดหรือครับ

คือตอนผมฟังคำตอบของผู้แทนทหารเรือใน กมธ. ผมอึ้งพูดไม่ออกเลยครับ จึงสะท้อนให้เห็นว่า การซ่อมทำเรือ ไม่ได้ดำรงอยู่บนการเตรียมความพร้อมในการรบให้ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.  ประยุทธ์ เอาเข้าจริง ไม่ได้บริหารให้กองทัพมีความพร้อมในการป้องกันประเทศแต่อย่างใด งบประมาณมหาศาลที่อ้างว่าใช้ในการดำรงสภาพความพร้อมในการรบ ไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของมันเลย

มาสู่ปัญหาสุดท้ายในเรื่องความพร้อมของเรือ

อย่างที่เราทราบจากรายงานข่าว ในตอนที่เกิดเหตุนั้น มีน้ำเข้ามาในห้องเครื่องซึ่งอยู่ใต้ท้องเรือ ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดับ ระบบไฟฟ้าล้มเหลว

คำถามคือ แล้วน้ำจะเข้ามาท่วมในห้องเครื่องใต้ท้องเรือได้อย่างไร ผมตั้งสมมุติฐานแบบนี้นะครับ

สมมุติว่า น้ำไม่ได้เข้ามาทางดาดฟ้าเรือ และสมมุติว่า น้ำไม่ได้ทะลุซึมผ่านผนังท้องเรือที่แตกร้าว

ก็จะเหลือทางเดียวที่น้ำจะเข้ามาทางใต้ท้องเรือได้ นั่นคือผ่านแบริ่งรองรับเพลาจักร


แบริ่งรองรับเพลาใบจักร คืออะไร? ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ อุปกรณ์ชิ้นนี้มีลักษณะเหมือนท่อยาง ติดตั้งตรงจุดสีเหลือง เพื่อโอบอุ้มแกนหรือเพลาของใบจักรสีเทาเอาไว้ และทำหน้าที่เป็นตัวที่อุดช่องใต้ท้องเรือ ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามาในตัวเรือได้ ตรงเส้นประสีเขียวนั่นแหละครับ

จากรายงานผลการทดสอบเรือหลังการซ่อม เราพบว่าแบริ่งเพลาจักรอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติ

แต่ผมไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าแบริ่งรองรับเพลาจักรของเรือหลวงสุโขทัยนั้น ถูกซ่อมตามวงรอบที่เหมาะสม และใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐานหรือไม่

แต่ที่ผมทราบแน่ๆ คือการจัดซื้ออะไหล่ชนิดนี้ของกองทัพเรือ มีความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง


ผมมีหลักฐานว่า เรือรบของกองทัพอย่างน้อย 2 ลำ ก็คือเรือหลวงสีชัง และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ มีการซื้ออะไหล่เพลาแบริ่งมาตั้งแต่ปี 2560 แต่จนป่านนี้ปาเข้าไป 6 ปีแล้ว ยังไม่ซ่อมเลย

อย่างกรณีเรือหลวงสีชัง เมื่อปีงบประมาณ 2560 พบว่ามีการสั่งซื้ออะไหล่เพลาแบริ่ง มูลค่า 2.4 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้ประกอบการนำอะไหล่ดังกล่าวมาส่ง ก็ตรวจพบครับว่ามีปัญหาด้านคุณภาพ แต่คงเพราะเงินทอนมันเยอะมั้งครับ แทนที่กองทัพเรือจะส่งอะไหล่ที่ด้อยคุณภาพกลับไป ก็กลับยัดเยียดจะให้ใช้อะไหล่ด้อยคุณภาพนี้ให้ได้

แต่คนซ่อมเขาก็ซ่อมไม่ลงครับ มันซ่อมไม่ได้ ของมันห่วย ไม่ได้มาตรฐาน เพราะถ้าซ่อมแล้วมันมีปัญหา คนที่ซวยคือคนซ่อม ผ่านมา 6 ปี ตอนนี้อะไหล่ชิ้นนี้ก็เลยยังนอนอยู่ในโกดังของกองทัพเรือ ไม่ได้ถูกเอาไปเปลี่ยนสักที

คงต้องตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ครับว่า ทำไมพวกท่านถึงจ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วนเลย การซ่อมบำรุงก็ไม่ได้มาตรฐาน อะไหล่ที่ควรจะเปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ผู้รับเหมาที่จ้างมาซ่อม แทนที่จะเป็นบริษัทดี ๆ กลับเป็นบริษัทห้องแถวที่ไหนก็ไม่รู้ สรุปแล้วนี่มันเรือรบ หรือเป็นขนมเค้กกันแน่ 


นอกจากนี้ เรื่องการซ่อมก็ยังไม่จบ ต้องบอกว่าในปีงบประมาณ 2566 หรือปีงบประมาณนี้ เรือหลวงสุโขทัยยังมีคิวรอซ่อมอีกตั้ง 19 รายการ รวมมูลค่า 16.25 ล้านบาท งานซ่อมที่ใหญ่ที่สุด คือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท

ผมนึกไม่ออกเลยว่าทำไม เรือที่ต้องรอซ่อมเกียร์และรายการต่างๆ รวม 19 รายการ ทำไมถึงอนุญาตให้ออกไปปฎิบัติภารกิจได้ ทำไมถึงไม่จอดเทียบท่า หรืออยู่ในอู่เพื่อรอการซ่อม นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรือหลวงสุโขทัยไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมรบอย่างที่กองทัพเรือเคยกล่าวอ้าง


นอกจากเรือหลวงสุโขทัย จะไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมรบแล้ว อัตรากำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยก็ยังว่างและขาดบรรจุเป็นจำนวนมาก

พบว่าจาก 97 อัตรา ว่างไป 22 อัตรา ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งช่างกล 4 อัตรา ตำแหน่งนายช่างกล นายทหารไฟฟ้า ผู้ช่วยนายทหารไฟฟ้า สรั่งเรือ อีกอย่างละ 1 อัตรา และตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้นกล หรือหัวหน้าวิศวกร ยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุเรือสุโขทัยล่ม บนเรือไม่มีต้นกลไปด้วย

ต้นกลนี้มีทำหน้าที่ควบคุม ดูแล รักษา เครื่องยนต์และเครื่องจักรใหญ่ที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด และแน่นอน ต้นกลคือบุคคลากรที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรในยามฉุกเฉินมากที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบผมหน่อยสิ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เหตุใดต้นกลของเรือหลวงสุโขทัยถูกเว้นว่าง ไม่ได้มีการบรรจุแต่งตั้งมาตั้ง 18 เดือน ผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้เรือหลวงสุโขทัยออกปฏิบัติภารกิจได้อย่างไรโดยไม่มีต้นกล

ผมต้องเรียนว่า ไม่ใช่เพียงเรือหลวงสุโขทัยเท่านั้น ที่ไม่ได้มีความพร้อมในการรบ ปรากฎว่าเรือหลวงอื่นๆ ก็มีสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน นั่นคือการขอเข้าซ่อมบำรุงเป็นการด่วนของเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสินที่พบความขัดข้อง ชำรุดในหลายส่วน หลังจากออกปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้สูญหายจากเรือหลวงสุโขทัยไม่ถึงสัปดาห์


นี่คือหนังสือขอรับการซ่อมของเรือหลวงนเรศวร ต่อกรมอู่ทหารเรือ เขียนชัดเจนครับว่า ตรวจพบการชำรุดของเครื่องจักรใหญ่ดีเซลหมายเลข 2 รอบเครื่องไม่คงที่ พบว่าท่อน้ำมันแตกชำรุด และเครื่องไฟฟ้าหมายเลข 4 พบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดเช่นเดียวกัน

ย้ำอีกครั้งว่า พังขนาดนี้ ทั้งที่ไม่ได้ออกไปรบนะครับ แค่ออกไปค้นหาผู้สูญหายไม่ถึง 7วัน


ส่วนในกรณีเรือหลวงตากสิน พบปัญหามากมาย 9 รายการ สองรายการแรก คือพัดน้ำจืดและพัดน้ำทะเลของเครื่องจักรใหญ่ดีเซลหมายเลข 2 ชำรุด มีทั้งน้ำจืดและน้ำทะเลรั่วไหลออกมาขณะเดินเครื่อง Hydrostatic Pump ของเกียร์ด้านซ้ายมีน้ำมันรั่วไหลออกมาขณะเดินเครื่อง

โดยทั้งเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน ขอเข้าไปรับการซ่อมบำรุงที่ท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบฯ แสดงว่าการชำรุดที่เกิดขึ้นนี้ จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมโดยด่วนและไม่สามารถเดินทางกลับไปซ่อมบำรุงที่สัตหีบได้

จากข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้อภิปรายมา ผมขอสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 ได้แบบนี้

1. ในวันที่17 ธันวาคม เรือหลวงสุโขทัย ออกจากท่าเรือฐานทัพสัตหีบ มุ่งหน้าไปร่วมพิธี 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีทหารเรือจำนวน 105 นาย ร่วมเดินทางเพื่อไปร่วมพิธี แต่จากจำนวน 105 นายนั้น กลับไม่มีต้นกลเรือซึ่งมีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความเป็นความตายของเรือติดไปด้วย

2. วันที่ 18 ธันวาคม เรือไปถึงหาดทรายรี จังหวัดชุมพร บริเวณหน้าตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ แต่ด้วยคลื่นลมทะเล เรือสุโขทัยไม่สามารถทอดสมอเรือได้ พบว่าคลื่นสูงกว่าที่กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือพยากรณ์เอาไว้มาก จนเรือที่ไม่มีครีบกันโคลงเกิดเอียงไปมาอย่างน่าหวาดเสียว

แล้วในช่วงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 แทนที่เรือหลวงสุโขทัยจะเดินทางเข้าเทียบเรือ ที่ท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบฯ ที่อยู่ห่างออกไป เพียง 22 ไมล์ทะเล เรือหลวงสุโขทัย กลับถูกใครก็ไม่รู้สั่งให้เดินทางกลับไปสัตหีบ ที่ไกลออกไปถึง 115 ไมล์ทะเล ต่อมาภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เดินทางไปได้น่าจะเกิน 35 ไมล์ทะเล


ไม่ทราบได้ว่าเป็นเพราะแบริ่งเพลาจักรรั่วซึม หรือแผ่นเหล็กใต้ท้องเรือที่ทนรับความเครียดสะสมในเนื้อเหล็กไม่ไหวแตกร้าว จึงทำให้น้ำทะเลไหลเข้าใต้ท้องเรืออย่างรวดเร็ว โดยไหลเข้าไปในส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าล้มเหลว เครื่องยนต์ดับลง

3. เจ้าหน้าที่พยายามติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 ไม่สามารถใช้งานได้ เรือรบที่มีขนาดเกือบ 80 เมตร หนักเกือบ 1 พันตัน จึงเหลือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียง 1 ตัว ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนต่อไปได้

4. ในท้ายที่สุด เรือหลวงสุโขทัยที่มีรูรั่ว ขาดต้นกล ขาดมาตรวัดที่ใช้งานได้จริง ขาดครีบกันโคลง และขาดกำลังเครื่องยนต์ที่จะไปต่อ จึงต้องจมลงสู่ก้นอ่าวไทย สังเวยชีวิตทหารเรือ 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ รวมไปถึงนายทหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ว่าได้โปรดอย่ามองยุทโธปกรณ์เป็นเหมือนขนมเค้ก ที่ต้องแบ่งกันกิน ตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงการจัดซ่อม เพราะทุกคำที่ท่านกัดกินอย่างเอร็ดอร่อยโดยคิดว่า “แค่คำเดียวไม่เป็นไรหรอก” พอกัดกันหลายคนเข้า มันก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ อย่างกรณีเรือหลวงสุโขทัยนี่เอง

แต่ท่านประธานครับ แม้เรือสุโขทัยจะจมลงสู่ก้นทะเลที่ระดับความลึก 50 เมตรไปแล้ว

แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคให้คนในรัฐบาลนี้ ครม.นี้ ตามลงไปกินเค้กใต้น้ำได้เลยครับ ขนาดว่าจมลงไปแล้วยังจะตามไปกินกันต่อ

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ในการกู้เรือสุโขทัย ที่ทางกองทัพเรือกำลังอยู่ในขั้นตอนประชุมหารือ วางแผน โดยมีคณะทำงานขึ้นมา โดยได้มีการเชิญเอกชนหลายรายเข้ามาพูดคุยหลายรอบ เพื่อหารือถึงแนวทางในการกู้เรือ


ซึ่งท้ายที่สุด คณะทำงานมีความเห็นคร่าวๆ ว่า น่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนที่จะมาดำเนินการ คร่าวๆ มี 3 ประการ คือ

1. บริษัทต้องมีประสบการณ์ในการกู้เรือที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 พันตัน

2. เรือที่เคยกู้ต้องมีความลึกจากพื้นผิวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับความลึกเดียวกับที่เรือหลวงฯ จมลง

3. เป็นสมาชิกของ ISU หรือ International Salvage Union ซึ่งเป็นสหภาพในระดับนานาชาติที่เป็นการรวมตัวผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการกู้เรือ

โดยมีเงื่อนไขในการทำงานที่สำคัญคือ การกู้ต้องไม่เกิดความเสียหายใดๆ ต่อเรือหลวงฯ มิฉะนั้นแล้วจะไม่แยกแยะได้ว่า ความเสียหายต่อตัวเรือ เกิดจากการกู้เรือ หรือ เกิดขึ้นก่อนการอับปาง


จากเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ก็มีเอกชนเกือบ 30 ราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงความสนใจในการกู้เรือครั้งนี้ ต่างเสนอราคาและวิธีการกู้เรือ ที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ 200 – 700 ล้านบาท

ไม่ว่าบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีประสบการณ์ตามเงื่อนไขทั้งสามข้อ หรือบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ที่เคยทำการกู้เรือขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากถึง 1 หมื่นตัน หรือบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการกู้เรือดำน้ำของประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีบริษัทไทยอยู่บริษัทหนึ่ง ที่ดูทรงแล้วน่าจะได้รับงานกู้เรือในครั้งนี้ไป เพราะแม้ว่า บริษัทนี้จะไม่มีคุณสมบัติใดในสามข้อที่กล่าวมานี้เลย แต่บริษัทนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ที่เหนือกว่าทุกบริษัท คืออะไรทราบไหมครับ


คือ บริษัทนี้ได้รับการรับรองจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เหรียญหลวงพ่อประวิตรนี่ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะครับ ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ อยากได้งานไหน งานนั้นต้องได้

นอกจากจะสามารถเสกเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ได้แล้ว ยังมีอภินิหารกินเค้กใต้น้ำได้ด้วยครับ

นี่เป็นความลำบากใจของคนทำงาน จนเรื่องต้องมาถึงหูของผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกล

มันมีอีกตัวเลือกหนึ่งนะครับที่มันสมเหตุสมผลมากๆ ก็คือ US NAVY เรือสหรัฐฯ ที่เสนอความช่วยเหลือว่าจะกู้เรือให้ฟรีๆ ก็ต้องไม่ลืมว่าเรือหลวงสุโขทัย เราซื้อมาจากสหรัฐฯ 

พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทางกองทัพสหรัฐฯ ก็อยากจะสืบสวนหาข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาเรือของเขามีแต่จมลงเพราะสู้รบหรือไม่ก็ชนหินโสโครก ไม่เคยมีที่จมเพราะคลื่นทะเล โดยมีเงื่อนไขว่าผลการสืบสวนต้องเก็บเป็นชั้นความลับระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ 

ฟังแบบนี้ ผมก็คิดว่ากองทัพเรือคงไม่รับเงื่อนไขนี้แน่ๆ เพราะกองทัพเรือจำเป็นต้องเปิดเผยเรื่องนี้ต่อพี่น้องประชาชนคนไทย

แต่กลับมีการพูดกันในกองทัพเรือครับ จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ ว่าเหตุผลที่กองทัพเรือไม่รับข้อเสนอของสหรัฐฯ กลับกลายเป็นเพราะกองทัพเรือไทยเองกลัวว่าชั้นความลับดังกล่าวจะรั่วไหลภายหลัง แล้วอาจจะทำความเสื่อมเสีย ขายหน้าต่อกองทัพเรือไทยได้ ถ้าหากว่าผลของการสอบสวนชี้ว่าการที่เรือหลวงสุโขทัยล่ม เป็นเพราะความผิดพลาดของกองทัพเรือเสียเอง

ผมได้ยินได้ฟังมาแบบนี้ ก็เศร้าเลยครับ เป็นห่วงเหลือเกินว่า ในท้ายที่สุดแล้วพี่น้องประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย จะได้ฟังข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้เรือหลวงสุโขทัยล่มจากปากกองทัพเรือหรือไม่

สุดท้าย ผมอยากกราบเรียนผ่านไปยังพี่น้องประชาชน ว่าที่เรือหลวงสุโขทัย ไม่อยู่ในสภาพความพร้อมในการใช้งาน หรือการรบนั้น ไม่ได้เป็นเพราะว่ากระทรวงกลาโหมได้งบประมาณน้อยเกินไป

แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการทุจริต แบ่งกันกิน จนสร้างความเสียหายให้กับยุทโธปกรณ์ จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ผมยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเพิ่มงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากเท่าใดก็ตาม แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ภายใต้รัฐบาลปรสิต ในระบอบ 3ป เราก็จะยังคงอยู่ในการทุจริต คอร์รัปชัน ระบบแบ่งกันกิน แต่แล้วก็ปกปิดความผิดกันไป 

เราจะไม่มีวัน มีกองทัพที่เข้มแข็ง ไม่มีกองทัพที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน นายทหารน้ำดี ก็ยังคงจะต้องหมดความชอบธรรม ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพี่น้องประชาชน

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฎิรูปกองทัพ

ผมยืนยันครับ ว่าการปฏิรูปกองทัพคือเรื่องเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคม

ปากท้องจะดีได้อย่างยั่งยืน ประเทศไทยจะมีอนาคต การเมืองต้องดีก่อนครับ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า