free geoip

“ป่ากินคน” : ปัญหาที่ดินรัฐประกาศทับที่ดินประชาชนในรัฐบาล คสช. สู่รัฐบาลสืบทอดอำนาจ

ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ ผู้เข้ามาประกาศเขตที่ดินของรัฐ  ไม่ว่าเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ ที่สาธารณะประโยชน์ ฯลฯ ทับที่ดินทำกินของประชาชนที่ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน

หลายพื้นที่มีหลักฐานทางกายภาพอย่างวัดวาอาราม ตรวจวัดอายุได้ว่าอยู่มาก่อนหน้าการประกาศเขตพื้นที่ของรัฐ บางแห่งถึงขั้นมีเอกสารสิทธิ์ด้วย แต่กลายเป็นรัฐมาประกาศทับ ทำให้ต้องกลายเป็นผู้ที่บุกรุกไปแทน หลายกรณีรัฐอนุโลมให้อยู่อาศัยโดยไม่ฟ้องร้อง แต่ก็มีเงื่อนไขใให้ไม่สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเองได้ น้ำ ไฟฟ้า ถนน เข้าไม่ถึง และไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากนโยบายรัฐ ทั้งการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร และเงินชดเชยเยียวยาต่างๆ

กลายเป็นคนเถื่อนบนที่ดินบรรพบุรุษของตัวเอง มาอย่างถูกต้องแต่ก็ถูกอำนาจรัฐทำให้กลายเป็นผู้ผิด


ปัญหาที่เรื้อรังกันมานานข้ามทศวรรษเช่นนี้ แต่เดิมก็เป็นการยื้อกันไปมาโดยอนุโลม แต่สถานการณ์ก็มาเปลี่ยนไปหลังปี 2557 เมื่อรัฐบาล คสช. ใช้นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” มาจับกุมดำเนินคดีต่อประชาชนอย่างรุนแรง 


แม้หลังรัฐบาล คสช. รัฐบาลปัจจุบันก็ยังดำเนินคดีกับประชาชนในลักษณะเดียวกัน เช่น กรณีเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงปี 2562 มีการฟ้องคดีว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและอุทยาน ทั้งที่ชาวบ้านมีหลักฐานชัดเจนว่าตั้งรกรากมาก่อนเป็น 100 ปี และมีเอกสารสิทธิยืนยันทั้ง สค.1 และใบเสียภาษี ภ.บ.ท.5

ก่อนหน้านี้ ในพื้นที่เดียวกัน ก็เคยมีการดำเนินคดีฐานบุกรุกกับประชาชนจำนวน 6 รายใน 3 หมู่บ้าน จนผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน ต้องเดินทางยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จนสุดท้ายมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินดังกล่าว ก็พบว่าประชาชนมีการทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติชัดเจนก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยาน ปี 2534 จริงๆ

บางกรณีก็เกิดจากการบริหารที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐเอง อย่างเช่น กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มีการฟ้องประชาชนในข้อหาบุกรุก แต่สืบไปสืบมา ปรากฏว่าประชาชนที่อยู่บนที่ดินเหล่านั้น คือกลุ่มที่ถูกอพยพมาจากนโยบายของรัฐเองในปี 2518 โดยรัฐมีการจัดสรรที่ทำกินให้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ไม่มีสภาพป่าตามธรรมชาติเหลงเหลืออยู่แล้ว มีหลักฐานในการทำแนวเขตตั้งแต่ช่วงปี 2533 – 2543 

ต่อมา รัฐกลับประกาศให้พื้นที่นั้นกลายเป็นเขตป่า ทำให้ประชาชนทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี ที่ถูกรัฐอพยพมาตั้งรกรากเอง กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังพบด้วยว่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ยังประกาศทับซ้อนกับที่ดิน สปก. ทับซ้อนกับที่ดินทำโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง (พมพ.) และยังทับซ้อนกับโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.)


ปัญหาที่ดินรัฐประกาศทับที่ดินประชาชนดื้อๆ แบบนี้มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นข้อเท็จจริงที่รัฐเองก็ปฏิเสธไม่ได้ แม้เจ้าตัวจะยืนยันกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่าเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านั้น

ก็เลยกลายเป็นอดไม่ได้ ที่รัฐจะต้องตั้งหน่วยงานตามระเบียบสำนักนายกในปี 2557 ขึ้นมา “แก้ปัญหา” คือ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก่อนจะยกระดับขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ  (สคทช.) โดยมีบทบาทหลักคือการเป็นหน่วยงานที่จะมาพิสูจน์สิทธิและจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน 

แต่การทำงานของ สคทช. ตลอด 4 ปี กลับไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และยิ่งตอกย้ำปัญหาที่มีอยู่ให้เลวร้ายลงไปอีก 

ทั้งกระบวนจัดสรรที่ดินของ คทช. ที่เรียกว่า “รถไฟ 5 ขบวน” ที่มีปัญหาหลักอยู่ที่การใช้ภาพถ่ายอากาศปี 2541 ในการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งเป็นภาพถ่ายโบราณ ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขจริงของแต่ละพื้นที่ เช่น วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ที่ทำไร่หมุนเวียน หากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในช่วงพักที่ดินพอดี มีการฟื้นสภาพป่าขึ้นมา หากตรงกับภาพถ่ายก็จะถือว่าพื้นที่นั้นเป็นเขตป่า ที่ประชาชนไม่สามารถใช้ทำกินได้อีกต่อไป

หรือเกณฑ์การแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-5 ที่ใช้ความลาดชันเป็นตัวชี้วัด ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศในบางพื้นที่ เช่น เขตภาคเหนือ ที่หากใช้เกณฑ์นี้จริงๆ เกือบทุกพื้นที่ก็กลายเป็นพื้นที่ล่อแหลมตามนิยามของรัฐทันที ส่งผลให้ถูกจำกัดการเพาะปลูก รวมทั้งการพัฒนา ไม่ว่าจะไฟฟ้า ประปา ถนน ที่ไม่สามารถเข้าไปทำได้ทันที

หรือต่อให้มีการพิสูจน์สิทธิจนผ่านเกณฑ์เหล่านี้แล้ว แต่การจัดสรรที่ทำกินให้กับประชาชน กลับให้เพียงสิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราว โดยต้องได้รับ “อนุญาต” จากหน่วยงานรัฐเจ้าของพื้นที่เท่านั้น หากประชาชนยอมรับเงื่อนไขนี้เมื่อไหร่ ก็จะเท่ากับการยอมรับว่าที่ดินแห่งนั้นเป็นที่ดินของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินของประชาชนในทันที

กระบวนการพิสูจน์สิทธิเช่นนี้ ทำให้ชุมชนหรือกลุ่มประชาชนหลายพื้นที่ ปฎิเสธกระบวนการจัดที่ดินของ คทช. เช่น กลุ่ม “13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์” ซึ่งเกิดจากรวมตัวของนิคมสหกรณ์ที่ได้รับพื้นที่จากมีมติ ครม. ซึ่งกันพื้นที่เป็นเขตป่าเสื่อมโทรมออกจากชุมชนมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2517 โดยที่ประชาชนก็อยู่อาศัยทำกินอย่างถูกต้องมาเกือบ 50 ปี  และควรได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตรงนั้นมานานแล้ว ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ 2511 ที่ให้เปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์เป็นโฉนด แต่เมื่อรัฐบาลบ่ายเบี่ยงไม่ยอมดำเนินการมาตลอด และกลับไปจัดสรรให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในโครงการจัดที่ดินของ คทช. แทน จึงทำให้สถานะของประชาชนกลายเป็นผู้ขออยู่อาศัยในที่ดินรัฐเท่านั้น 


ไม่แปลกที่สุดท้ายกลไก คทช. จึงล้มเหลวในการพิสูจน์สิทธิ์และการจัดสรรที่ดินทำกิน เพราะประชาชนไม่ยอมรับกระบวนการที่เอาเปรียบเช่นนี้  ผลการดำเนินงานในรอบ 8 ปี ที่มีการบันทึกไว้ในปี 2565 คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแนวทางนี้ล้มเหลวเพียงใด ทั้งการจัดสรรที่ดินทำกินที่ตั้งเป้าไว้ 1,483 พื้นที่ กลับทำได้เพียง 338 พื้นที่ หรือเพียง 23% จากเป้าหมายเท่านั้น


และที่เป็นปัญหามากที่สุด คือรายงานผลดำเนินการจัดสรรที่ดิน ที่ไม่ว่าจะในกรรมาธิการที่ดิน หรือในรายงานของ คทช. ไม่เคยระบุจำนวนพื้นที่ที่จัดสรรได้เป็น “ไร่” เลย กลับระบุเป็น “พื้นที่” ซึ่งสร้างความคลุมเครือเข้าไปอีก 

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประชาชนจะรู้สึกหมดหวังที่จะได้สิทธิในที่ดินทำกิน ที่พวกเขาควรจะได้จากการตั้งรกรากมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนใครก็ตามที่สามารถให้ความหวังกับพวกเขาได้ พวกเขาก็พร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งในหลายกรณีก็เป็นเพียงแค่การอาศัยความสิ้นหวังของประชาชนมาหาผลประโยชน์ใส่ตนเท่านั้น

อย่างเช่น ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่ารู้จักกับคนสนิทขององคมนตรี และมีเส้นสายกับพระเทพฯ เข้ามาติดต่อกับประธานของกลุ่ม “13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์”อ้างว่าจะเข้ามารับฟังปัญหาเพื่อที่จะช่วยในกระบวนการฎีกาให้กับทางวัง 


มีการเปิดประชุมร่วมกันกับกลุ่มอยู่หลายครั้ง โดยที่ครั้งแรก บุคคลที่อ้างว่าสนิทกับองคมนตรีไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ให้ผู้ประสานงานอีกบุคคลเข้ามาประชุมร่วม คือ นิยม อินทชัย ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกันอีก 2 ครั้ง จนในการประชุมครั้งที่ 3 ที่จังหวัดพิษณุโลก ผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นคนสนิทของพระเทพฯ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อาจารย์สิทธิ” ก็ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย แต่ไม่ยอมให้มีบันทึกเนื้อหาหรือเสียงจากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ และหลังการประชุม ก็ได้มีการเรียกเงินจากทุกสหกรณ์แห่งละ 13,000 บาท โดยอ้างว่าเป็น “ค่าประสานงาน” ซึ่งก็มีหลายสหกรณ์ที่ยอมโอนให้


โดยสิ่งที่ได้กลับมาหลังจากเสียเงินเสียทองกันไปแล้ว ก็มีเพียงแต่เอกสารยืนยันรับเรื่องฏีกาจากสำนักพระราชวัง กองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ 

ปัญหาก็คือการฎีกาและได้รับการตอบรับเป็นเอกสารแบบนี้ บุคคลทั่วไปก็สามารถส่งเรื่องได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางคนสนิทหรือใครทั้งนั้น และจนถึงวันนี้ บุคคลที่แอบอ้างพระเทพฯ ที่เคยติดต่อมาก็เงียบหายไป และการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแอบอ้างวังมาหลอกลวงชาวบ้านในลักษณะนี้ ก่อนหน้านั้นในปี 2562 ก็เคยมีกรณีแบบเดียวกันเกิดขึ้นที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีปัญหารัฐประกาศเขตเขตเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมูแปลงทับซ้อนเข้ามาในพื้นที่ชุมชน

ในครั้งนั้น มีบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “ครูบาไก่” ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในศูนย์ปฎิบัติธรรมจังหวัดในกาฬสินธุ์ แอบอ้างว่าตัวเองเป็นพระเลขาของพระเทพฯ มีเส้นสายคนในกระทรวง ได้เรียกรับเงินชาวบ้านไปกว่า 2 แสนบาท ทำให้ชาวบ้านต้องเรี่ยไรเงินกันคนละ 4 – 5 พันบาท แต่เมื่อเสียเงินเสียทองไปแล้ว เรื่องราวกลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แถมบุคคลดังกล่าวนี้ก็ยังอยู่สุขสบายในศูนย์ปฏิบัติธรรมดังกล่าวโดยไม่รู้ดำรู้แดงความทุกข์ร้องของชาวบ้านอีกเลย

ด้วยความที่ปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลายล้านคนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเชื่อได้เลยว่าการแองอ้างวัง หรือแอบอ้างว่ารู้จักคนใหญ่คนโตในรัฐบาล มาใช้ความสิ้นหวังของชาวบ้านเป็นช่องทางหาผลประโยชน์เช่นนี้ ยังมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ยังคงทำสิ่งที่ไม่ต่างจากการทวงคืนผืนป่า ทำทีว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน แต่ก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวอ้างสิทธิในที่ดินที่ประชาชนอยู่มาโดยชอบ ดำเนินคดีกับประชาชน บีบให้ต้องยอมมอบที่ดินให้ แล้วยังแสร้งว่ามีเมตตา “อนุโลม” “อนุญาต” ให้ประชาชนได้อยู่อาศัยทำกินบนที่ดินเป็นการชั่วคราวได้ 

แต่นั่นก็ไม่ใช่เครื่องการันตีอะไรเลย ว่าในอนาคตจะไม่มีนโยบายแบบ “ทวงคืนผืนป่า” หรือการรุกคืบยึดที่ดินจากชาวบ้านในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก ไม่อะไรที่จะยืนยันได้ว่าสิทธิบนที่ดินของประชาชนจะยั่งยืนส่งต่อให้ลูกหลานได้


สำหรับพรรคก้าวไกล หัวใจของการแก้ปัญหาที่ดิน คือการยืนยันสิทธิของประชาชนในที่ดินทำกินของตัวเอง โดยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งตามกฎหมายและโดยนโยบาย ต้องมีการแก้ไขให้เกิดการมอบคืนสิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นคืนให้แก่ประชาชนที่ต้องทนทุกข์มานานหลายปี เช่น

  1. ต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดในการพิสูจน์สิทธิ เช่น ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน มาตรา 12 ที่จำกัดให้การพิสูจน์สิทธิหลังปิดประกาศป่าสงวน ต้องดำเนินการภายใน 90 วัน จะต้องได้รับการแก้ไข การพิสูจน์สิทธิ์ต้องทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเงื่อนเวลาหรือหลักฐานที่ต้องเป็นเอกสารหรือแผนที่ภาพถ่ายเท่านั้น และถ้าผู้อยู่อาศัยมีหลักฐานว่าอยู่มาก่อนการประกาศเป็นป่าจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางกายภาพหรือหลักฐานเอกสารใดๆ รัฐต้องยกกรรมสิทธิ์ให้เป็นของประชาชนทันที
  2. ต้องยืนยันสิทธิของประชาชน ไม่ให้มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนย้อนหลังได้อีก เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จะต้องมีการแก้ไขในมาตรา 8 ให้การกำหนดเขตอุทยานจะต้องไม่ไปทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ  
  3. ต้องยืนยันว่าประชาชนควรมีกรรมสิทธิในที่ดินที่แท้จริง ไม่ต้องมีเงื่อนไขมาจองจำสิทธิของประชาชนอย่างไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เช่น ส.ป.ก. ต้องถูกเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อให้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริงแก่ประชาชน โดยที่การเปลี่ยนเป็นโฉนดต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม ที่ดินที่หลุดมือไปสู่นายทุนแล้วต้องถูกเรียกคืน แล้วนำมากระจายใหม่ให้กับประชาชนตามขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การเป็นโฉนดต่อไปในอนาคต 
  4. ต้องมีมาตรการที่จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น การปรับปรุงภาษีที่ดินใหม่ ให้มีการเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง เน้นเก็บจากผู้ที่มีที่ดินเป็นจำนวนมาก นำรายได้ที่เก็บได้มาส่งเสริมให้กับกลไก “ธนาคารที่ดิน” ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินที่หลุดเข้ามาในตลาดเหล่านั้น มาเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมารถเข้าถึงที่ดินโดยจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงน้อยได้


“หากรัฐบาลนี้ที่ยังไม่เลิกทำตัวเหมือน คสช. ทวงคืนผืนป่า ไม่เอาสิทธิของประชาชนเป็นตัวตั้ง การจัดการปัญหาที่ดินจะไม่มีวันสำเร็จ ทางออกเดียว ก็คือรัฐต้องยืนยันว่าสิทธิในที่ดินต้องเป็นของประชาชน จึงจะแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน”

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า