
อัปยศรับวันสุดท้ายของการประชุมสภาในสมัยเลือกตั้งนี้ ที่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเลือกเดินเกมเตะถ่วง การลงมติเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ถามว่าหมากการเมืองเกมนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคิดอะไร?
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ตัวแทน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้ลุกขึ้นอภิปรายปิดให้เหตุผลเอาไว้ว่า
- การยื่นให้ ศาล รธน. ตีความ เป็นไปตาม รธน. เพื่อจะได้ให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติไม่เกิดความสับสน
- ร่นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ถ้าปล่อยผ่านร่นเวลาไป 6 เดือน ถ้าศาล รธน. วินิจฉัย 2 เดือนเท่านั้น
- ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ ส.ส. ฝ่ายร่วมรัฐบาลยื่นตีความกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอ
โดยสามัญสำนึกปกติ เราก็เห็นได้ว่าเหตุผลที่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลให้ฟังไม่ขึ้นทุกประการ เรื่องแรกกันบอกว่าให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติไม่เกิดความสับสน ถ้าสภามีมติคว่ำร่างพระราชกำหนดของฝ่ายบริหารก็ไม่เกิดความสับสนเช่นกัน เพราะมันคือการตัดสินใจที่ชัดเจนว่าตัวแทนประชาชน ไม่ยอมรับการใช้อำนาจทรราชครั้งนี้
ส่วนเหตุผลเรื่องร่นระยะเวลาในการยื้อบังคับใช้ถ้าไม่ผ่าน พ.ร.ก. ไม่ต้องเถียงกันเรื่อง 2 เดือนหรือ 6 เดือน เพราะกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานจะมีผลทันทีในวันนี้ ส่วนข้อ 3 เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลยึดตีความกฏหมายของฝ่ายบริหาร นี่แสดงให้เห็นถึงความขลาดกลัว ในการแสดงความกล้าหาญทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร
ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ต่างรู้ดีว่ากฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานคือกฎหมายที่ดีและมีความจำเป็นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการจบปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พวกเขาไม่กล้าพอที่จะลงมติตามจุดยืนที่ตัวเองปกป้อง เพื่อปกป้องรัฐบาลประยุทธ์พี่มีเวลาเหลืออันน้อยนิด
การเตะถ่วงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือการเตะถ่วงการตัดสินใจของตัวเอง ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยทำให้ ซึ่งจากที่พรรคก้าวไกลได้รวบรวมข้อมูล ตั้งแต่ปี 2562-2566 ได้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนดไปแล้ว 5 ฉบับ ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ไม่ว่าปากจะพูดอย่างไรผลในทางปฏิบัติคือการเล่นเกมการเมือง โยนเผือกร้อนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ และยื้อเวลาของตัวเองในการลงมติไปอีกจนกว่าจะจบสมัยเลือกตั้งหน้า ซึ่งคาดว่ากว่าจะประชุมสภาได้อย่างเร็วที่สุดคือปลายเดือนมิถุนายน
หมายความว่ากฎหมายฉบับที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องอุ้มหายไปอีกถึงอย่างน้อย 4-5 เดือน
เหตุผลในการตัดสินใจคือเกมการเมือง แต่ผู้รับผลของเกมการเมืองคือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้