
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘เมือง’ ในจินตภาพของคนส่วนใหญ่ มักมองไปในทางกายภาพ คือความทันสมัยและตึกรามบ้านช่อง แต่สำหรับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล มอง ‘เมือง’ ในฐานะหน่วยปกครองและการบริหาร ซึ่งในทางรูปธรรมของประเทศไทย คือ อบต. และเทศบาล
แต่ที่ผ่านมานักพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทย แทบไม่เคยมีโอกาสทำงานร่วมกับเทศบาลและ อบต. เลย ทั้งที่มีความสำคัญอย่างมาก เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจในชุมชนอย่างลึกซึ้ง





ในชั้นเรียนการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้วันนี้ มีการนำเสนอผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และการแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษา-อาจารย์ในหัวข้อเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะและการมีส่วนร่วม ธนาธรในฐานะแขกรับเชิญ จึงพยายามชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองเป็นมากกว่าการพัฒนาทางกายภาพ แต่คือการพัฒนาในฐานะหน่วยที่มีหน้าที่ปกครองเมืองจริงๆ นักพัฒนาเมืองจึงจำเป็นต้องมองเห็นข้อจำกัดของการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจและงบประมาณของเมือง ที่เป็นจุดอ่อนให้เมืองในประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้
ดังนั้น สำหรับนักพัฒนาเมืองทั้งหลาย องค์ความรู้การจัดการจะทำให้การพัฒนาเมืองเป็นไปได้อย่างมีพลัง แต่การรู้ถึงข้อจำกัดที่ทำให้เมืองพัฒนาไปไม่ได้ด้วยก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงอยากให้อนาคตนักศึกษาที่จะจบออกไปเป็นนักพัฒนาเมืองในห้องนี้ ได้พิจารณาทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นมากขึ้น หรือเข้าไปมีบทบาทในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นในอนาคต





หลังจากนั้น ธนาธร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกับ พุธิตา ชัยอนันต์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล (อ.สันทราย และ อ.แม่ริมบางส่วน) เปิดเวทีพบปะประชาชนที่บ้านแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ
ธนาธรระบุว่า ภาคประชาสังคมเชียงใหม่เป็นหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจอย่างแข็งขันมาตลอด ผ่าน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร แต่ด้วยการสกัดขัดขวางในรูปแบบต่างๆ จึงทำให้การกระจายอำนาจยังไม่เกิดขึ้น
ปัญหาของท้องถิ่นในประเทศไทย คือการมีอำนาจที่จำกัดจำเขี่ยมาก แม้จะได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาแล้ว แต่กลับไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณลงมา งบประมาณที่เทศบาลและ อบต. ได้มาโดยส่วนใหญ่ก็มักมีเพียงพอเฉพาะรายจ่ายประจำ จะเหลืองบประมาณลงทุนต่อปีเพียงแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ไม่สามารถดูแลปัญหาพื้นฐานในชีวิตของประชาชนได้





เมื่องบประมาณส่วนใหญ่กองอยู่ที่ส่วนกลาง ก็เกิดช่องว่างมหาศาลระหว่างงบประมาณกับประชาชนในท้องถิ่น เต็มไปด้วยตัวกลางที่กั้นขวางงบประมาณเอาไว้ เทศบาลและ อบต. ต่างๆ ต้องเขียนโครงการของบประมาณมาเพิ่มทุกปี สะพานขาดหนึ่งสาย สร้างฝายน้ำล้น สร้างถนน สร้างไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ฯลฯ ล้วนต้องเขียนโครงการของบประมาณลงมาจากส่วนกลาง
ถ้าโครงการไม่ผ่าน ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข บางครั้งยาวนานข้ามทศวรรษ จนหลายครั้งนายกฯ ท้องถิ่นต้องสร้างเส้นสายและระบบอุปถัมภ์กับราชการส่วนกลางและนักการเมืองระดับชาติ เพื่อให้ได้งบประมาณลงมาพัฒนาเมือง
ธนาธรจึงเห็นด้วยกับนโยบายกระจายอำนาจของพรรคก้าวไกล มีรูปธรรมแบบอธิบายได้ง่ายที่สุด คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด หัวใจหลักคือการทำให้ช่องว่างระหว่างอำนาจ งบประมาณ และประชาชน มาอยู่ใกล้กันมากที่สุด เมื่อเอางบประมาณมาใกล้กับประชาชนมากขึ้น การแก้ปัญหาจะอยู่ในมือของประชาชนเอง แต่ละท้องถิ่นเลือกจัดการกันเอง
“ไม่มีใครในประเทศไทยรู้ปัญหาของทั้ง 7 พันตำบลได้ด้วยตัวคนเดียว แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างรัฐรวมศูนย์แบบปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้
ธนาธร กล่าว
จากที่ติดตามมา ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่เคยสัญญาว่าจะเอาโครงการนั้นโครงการนี้มาลงให้ที่ไหนเหมือนคนอื่น แต่สิ่งที่ผมเห็นเช่นเดียวกับทุกคน คือพรรคก้าวไกลต้องการให้เครื่องมือ เอาไปแก้ปัญหาของท้องถิ่นเองอย่างสอดคล้องกับความต้องการของคนพื้นที่จริงๆ ทำให้ช่องว่างระหว่างประชาชนกับงบประมาณ ไม่ต้องผ่านตัวกลางในระบบราชการอีกต่อไป”


