
1- เมื่อวานนี้ (9 มีนาคม) คฑาวุธ ทองไทย หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘อ.ไข่ มาลีฮวนน่า’ ในฐานะประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย เดินทางมาที่พรรคก้าวไกล เสนอให้พรรคผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งสถานะปัจจุบันของร่างนี้ ประธานสภาฯ อนุมัติเมื่อปลายปี 2565 ให้สามารถเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
2- อันที่จริงร่าง พ.ร.บ.สภาศิลปะฯ ถูกริเริ่มมานานแล้วโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและ ส.ว. ชุดปัจจุบัน สาระสำคัญคือต้องการให้เกิดแผนแม่บทเพื่อคุ้มครองคนทำงานในวงการศิลปะวัฒนธรรม อาศัย 3 กลไก คือ สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการสภาศิลปะฯ และกองทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติ
3- ที่ผ่านมาแม้พยายามผลักดันผ่านมาแล้ว 2 รัฐบาล แต่ยังไม่สำเร็จ พอเจอวิกฤติโควิดที่กระทบการประกอบอาชีพของคนทำงานในวงการอย่างหนัก ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้
4- ในวงพูดคุยวันนั้น บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี ฝั่งพรรคก้าวไกลมี พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พร้อมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คนที่เป็นอดีตคนทำงานในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่าง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้ออกแบบท่าเต้น ‘จีนี่จ๋า 2002 ราตรี’ และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล อดีตมือเบสวง Basher ร่วมพูดคุยกับทีมของ อ.ไข่
5- ทุกคนเห็นตรงกันเชิงหลักการใน 2 เรื่องใหญ่ หนึ่งคือรัฐควรมีกลไกคุ้มครองศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ สองคือบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรม จากตอนนี้ที่เหมือนเป็นกระทรวงทางสังคม เน้นควบคุม-เซ็นเซอร์ ควรปรับเป็นกระทรวงเชิงเศรษฐกิจ เปิดพื้นที่ให้เสรีภาพแก่ผู้ผลิตผลงาน และมีบทบาทดูแลคนทำงานศิลปะมากกว่าที่เป็นอยู่
6- ประเด็นนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยพูดถึง ‘อิฐห้าก้อน’ หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางของรัฐบาลก้าวไกล อิฐก้อนแรกคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ เพราะทุกวันนี้คนในวงการทำงานหนัก อย่างแรงงานในอุตสาหกรรมโฆษณาหรือภาพยนตร์ ต้องทำงาน – ไม่ใช่ 40 ชั่วโมง – แต่เป็นร้อยชั่วโมง เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
7- อิฐก้อนที่ 2 คือ คือเสรีภาพในการแสดงออก ถ้าประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กดทับเสรีภาพ เช่น กฎหมายอาญา ม.112 ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อิฐก้อนที่ 3 คือเพิ่มงบประมาณ อิฐก้อนที่ 4 ต้องทลายทุนผูกขาด และอิฐก้อนที่ 5 คือการสร้างคน
8– พรรคก้าวไกลมั่นใจว่านโยบายเหล่านี้ ประเทศไทยทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐเห็นความสำคัญและมีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เห็นสิ่งนี้จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
9- กลับมาที่วงพูดคุย ปกรณ์วุฒิ บอกว่านอกจากเรื่องที่เห็นตรงกัน ก็ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมไปกับทีม อ.ไข่ ว่า เนื้อหาของร่างบางส่วน สามารถปรับให้ชัดเจนขึ้น เช่น ใส่คำว่า ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ดนตรีสากล ภาพยนตร์ ลงไปในร่างกฎหมายเลย
10- การเขียนลงไปชัดๆ แบบนี้ เป็นการยืนยันว่าวัฒนธรรมของเรามันรวมถึงเรื่องพวกนี้ ช่วยปิดช่องไม่ให้รัฐตีความคำว่า ‘วัฒนธรรม’ อย่างคับแคบ เพราะจริงๆ เมื่อพูดถึงคำว่าวัฒนธรรม ในตัวมันเองครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นงานศิลปะอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือสายตาของรัฐยังมองว่า ‘วัฒนธรรม’ คือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เมื่อร้อยปีที่แล้ว และมักมาคู่กับคำว่า ‘อนุรักษ์’ ไม่ใช่ ‘พัฒนา’
11- ที่สำคัญ การปรับแก้เนื้อหา ต้องรับฟังความเห็นจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น สหภาพคนทำงาน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย
12- จากนั้น สามารถขยายผลเรื่องนี้ให้ถูกรับรู้ในวงกว้าง ผ่านการทำแคมเปญ เชิญชวนให้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และประชาชน ที่ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมาย (เช่น นักดนตรีกลางคืน ศิลปินอิสระ) มาร่วมเข้าชื่อออนไลน์
13- อดีตมือเบสวง Basher เชื่อว่า หากทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นร่างฉบับประชาชน ที่มีความทันต่อยุคสมัย ปรับเนื้อหาจากการรับฟังคนในวงการ และให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อสภาฯ ในสมัยหน้า จะสร้างแรงสนับสนุน และเป็นไปได้ว่าอาจได้เสียงถึงแสนรายชื่อ!
14- ชุดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคก้าวไกล ยังจัดเต็มอีกหลายเรื่อง เช่น เพิ่มงบสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 10 เท่า จาก 500 ล้าน เป็น 5,000 ล้านบาท, สวัสดิการให้เยาวชน คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปี สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน, เพิ่มพื้นที่ผลิตและโชว์งานสร้างสรรค์ เช่น co-studio และแกลเลอรี, พอกันทีทำงานวันละ 16 ชั่วโมง! คุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิคนทำงาน, ทุกอาชีพต้องมีสิทธิ์เรียกร้องรวมตัว ตั้งสหภาพ
15- รัฐบาลพรรคก้าวไกลเชื่อว่าศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ คือเสื้อผ้าที่เราไม่เพียงสวมใส่ เปลี่ยนสไตล์ได้ เพื่ออวดความเป็นตัวตนของเรา ความเป็นไทยที่หลากหลาย ลื่นไหล แต่มากกว่านั้น ยังเป็นเสื้อผ้าที่เราเอาไปขาย สร้างงานที่ดี สร้างรายได้ สร้างชื่อของคนไทยในเวทีโลก