หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้อง กรณีที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากการคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยศาลฯ พิจารณาให้ศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลฯ จะวินิจฉัยนั้น
ล่าสุด วันนี้ เวลา 09.00 น. ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจศักดิ์สยามเรื่องนี้เมื่อกลางปี 2565 จะร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 144 ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยยื่นต่อประธานสภาฯ มาแล้ว พร้อมกับคำร้องมาตรา 170 และมาตรา 82 ที่มีผลให้ศักดิ์สยามถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
แต่เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ตีความว่าความผิดตามมาตรา 144 ไม่อยู่ในอำนาจของประธานสภาฯ ทางพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ จึงร่วมกันร่างคำร้องและรวบรวมรายชื่อ ส.ส. จำนวน 1 ใน 10 ของ ส.ส. ทั้งหมด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และปัจจุบันได้รายชื่อ ส.ส. ครบแล้ว
“จังหวะการยื่นครั้งนี้ไม่ใช่การฉวยโอกาสทางการเมือง” ปกรณ์วุฒิชี้แจง เพราะคำร้องตามมาตรา 144 เคยอยู่ในคำร้องเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่เมื่อทางประธานสภาฯ แจ้งว่าไม่มีอำนาจในการยื่น ทำให้ต้องตัดเนื้อหาบางส่วนออก
ดังนั้น คำร้องฉบับนี้ เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้คำร้องฉบับก่อนหน้านั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคาดว่าผลคำวินิจฉัยในคำร้องก่อนหน้า จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงคำร้องนี้ด้วย
ปกรณ์วุฒิกล่าวด้วยว่า เมื่อดูตามข้อกฎหมาย เรื่องนี้จะมีผลสืบเนื่องในอนาคต เพราะตามคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น ระบุว่าหากเคยถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ไปอีก 2 ปี ดังนั้น คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าศักดิ์สยามจะยังอยู่ในตำแหน่งในวันที่มีคำวินิจฉัยหรือไม่ก็ตาม
สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 นั้น ว่าด้วยการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีศักดิ์สยาม อยู่ที่วรรคสองและวรรคสาม
วรรคสอง : “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทํามิได้”
จากข้อมูลในการอภิปรายของปกรณ์วุฒิ แสดงให้เห็นว่าศักดิ์สยามนำ หจก. บุรีเจริญ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานก็มีความผิดปกติ คือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 5 ล้านบาทในปี 2562
จึงนำมาสู่วรรคสาม : ในกรณีที่ ส.ส. หรือ ส.ว. มีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
- ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืน ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล
- ถ้าผู้กระทําการเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
- แต่ในกรณีที่ ครม. เป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้ ครม. พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย