
รับชมคลิปการอภิปราย https://youtu.be/8Fk6CAGM_mc

“เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐมนตรีท่านนี้ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีบุคคลหลายรายซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต เป็นอุปสรรคและภาระของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคภาระของการศึกษาอย่างแท้จริง”
นั่นคือข้อกล่าวหาที่ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.พิษณุโลก มีต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดหัวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอขา”
เป็นที่รู้กันดี ว่าภาพรวมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ด้วยการกระหน่ำครอบงำยัดเยียดเนื้อหาต่างๆ สถาปนาอำนาจนิยมในโรงเรียน ที่จากเดิมมีมากอยู่แล้ว ให้กลายเป็นยิ่งสาหัสมากขึ้นอีก
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการรัฐประหารครั้งนั้น เกิดขึ้นได้เพราะการสร้างสถานการณ์และปูทางจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันนี้นั่นเอง
ปกป้องสิ่งตกค้างรัฐประหาร ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย: เมื่อ รมว.ศึกษาฯรู้เห็นเป็นใจให้ครูบ้าอำนาจรบ “นักเรียนเลว“
ในวันที่นักเรียนจากโรงเรียนขนาดใหญ่ตามหัวเมืองมากมาย ออกมาร่วมขบวนขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เมื่อกลาง-ปลายปีที่แล้ว และพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและสภาพบ้านเมืองอย่างสร้างสรรค์ หลังจากที่ถูกกดทับมานานหลายปี
แน่นอน ว่านายณัฏฐพลย่อมตกเป็นเป้าใหญ่ของความเคลื่อนไหว “นักเรียนเลว” เหล่านี้ และหากนายณัฏฐพลยึดในหน้าที่เป็นหลัก ไม่ใช่ในตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐบาล และเครือข่ายที่ช่วยกันสถาปนาอำนาจรัฐประหารขึ้นมา สิ่งที่นายณัฏฐพลควรทำเป็นอย่างน้อยที่สุด ก็คือการแข็งขันเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการศึกษาต่างๆที่ถูหยิบยกขึ้นมา
ไม่ต้องพูดเรื่องการเมือง เรื่องที่ตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีจากการเป่านกหวีด หรือเรื่องในอดีตพวกนั้นเลยก็ได้ แค่ตั้งใจทำงานในฐานะเจ้ากระทรวงศึกษาฯ รับเรื่องที่นักเรียนมาพูดคุยปัญหาให้ฟัง จริงจังกับการจัดการปัญหาต่างๆเหล่านี้ก็พอ ก็จะเรียกได้ว่าพอจะเป็นรัฐมนตรีที่ดีมีผลงานได้แล้ว
แต่สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำ กลับเป็นการพุ่งความกังวลไปที่ตำแหน่งของตนเองที่แขวนอยู่บนความมั่นคงของรัฐบาล ทำการปากว่าตาขยิบ แอบสนับสนุนให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูบ้าอำนาจ ได้กระทำการที่ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธินักเรียนที่มาแสดงออกอย่างกว้างขวาง
ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ในทางปฏิบัติณัฏฐพลจะได้ออกหนังสือคำสั่งต่างๆให้มีการ “เปิดพื้นที่” ให้นักเรียนแสดงออกในโรงเรียน แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับไม่มีการบังคับใช้ให้เกิดผล ปล่อยให้มีการละเมิดคำสั่งเหล่านี้หน้าตาเฉย
มาจนถึงช่วงสิ้นปี 2563 มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างน้อย 5 คนถูกตั้งข้อหาละเมิด พรก. ฉุกเฉิน ข้อหายุยงปลุกปั่น และอย่างน้อยหนึ่งคนถูกตั้งข้อหา ม.112 กลุ่มที่เคลื่อนไหวกว่า 9 ใน 10 คน ถูกครูทำร้ายจิตใจ ล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆอีกสารพัด ได้แก่การที่มี จนท.ตำรวจตาม หรือไปหาที่บ้าน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยครูในโรงเรียนเอง ไปจนถึงขั้นสั่งพักการเรียนและไล่ออกก็มีให้เห็น
คำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สพฐ.เลขที่ 04001/ว1692 เรื่องเปิดพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษาและไม่กีดกันให้นักเรียนสามารถทำกิจกรรม แสดงออกได้อย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์ รวมทั้งหนังสือที่ออกมาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
ล้วนแต่ถูกละเลยโดยครู ราวกับว่าเป็นแค่เศษกระดาษที่เอามาวางไว้บนโต๊ะของผู้บริหารเท่านั้น
เมื่อหนังสือคำสั่งต่างๆออกมาแล้วแทนที่จะมีการทำตาม โรงเรียนกลับละเมิดนักเรียนยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ทั้งการล้วงข้อมูลในโซเชียลมีเดียของนักเรียน ทั้งการขู่จะฟ้องนักเรียนที่ตั้งคำถามเรื่องของทรงผม มีข้อความในไลน์ของคุณครูหลุดออกมาว่าสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง ไม่อย่างนั้นจะไม่จบการศึกษา ครูข่มขู่ว่านักเรียนที่ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวจะถูกไล่ออก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 103 กรณี จากนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง มีตั้งแต่ห้าม พูดจาตำหนิ ข่มขู่จะลงโทษในรูปแบบต่างๆ จนถึงขั้นไล่ออก ตบหัว ตีมือ ยึดโทรศัพท์ และปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ-กอรมน.เข้าไปสอดส่องคุกคามนักเรียนของตัวเองในสถานศึกษา
การละเมิดสิทธิในเรื่องอื่นๆก็ยิ่งหนักข้อขึ้น อย่างที่มีให้เห็นในหน้าข่าวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิทางเพศ การข่มขืนกระทำชำเรา และการลงโทษที่ป่าเถื่อนอนารยะอย่างการใช้ไม้เรียว ก็กลับมามีรายงานเปิดเผยให้เห็นหนักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น วิญญูชนที่ได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ ย่อมจะต้องไม่พอใจที่คำสั่งของกระทรวงไม่เป็นผล ที่ครูภายใต้สังกัดกระทรวงละเมิดฝ่าฝืนคำสั่ง โดยที่การกระทำเหล่านี้ในหลายกรณีเป็นการผิดกฎหมายอาญาเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่กฎกระทรวงเท่านั้น
รัฐมนตรีที่เป็นวิญญูชน จะต้องเร่งรัดดำเนินการ สอบสวนอย่างกว้างขวางถึงการฝ่าฝืนคำสั่งเหล่านี้ แล้วนำบรรดาครูที่ฝ่าฝืนคำสั่งมาสู่การลงโทษ และในกรณีที่ผิดกฎหมายอาญา ให้ดำเนินการในทางคดีเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างยกเว้นสืบไปด้วย
แต่เรากลับไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ ได้รับการปฏิบัติโดยรัฐมนตรีศึกษาฯ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เลยแม้แต่นิดเดียว
สิ่งนี้แปลความได้แค่สองอย่างเท่านั้น คือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนนี้ไร้น้ำยา ไร้อำนาจในการปกป้องนักเรียนจากการคุกคาม
หรือจริงๆแล้วเป็นณัฐพลนั่นเองที่ปากว่าตาขยิบ เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน ที่เป็นได้พวกสร้าง “ความวุ่นวาย” ในสายตาของมนุษย์พันธุ์อำนาจนิยมอย่างนายณัฏฐพลเอง
ด้วยความที่ตัวเองก็มาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย สนับสนุนอำนาจนิยมโดยธรรมชาติ แถมยังเข้าร่วมกับกระบวนการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาอีก
แต่เพื่อให้ดูดี ก็เลยออกหนังสือมาทำขึงขัง แต่สุปท้ายก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม
ใช่หรือไม่?
ฆ่านักเรียนจน: งบฯที่หายไปจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ค่าอาหารกลางวัน, และการปิดโรงเรียน
หากเราย้อนไปดูสถิตินักเรียนยากจน ที่รวบรวมขึ้นมาโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะเห็นได้ว่าแม้นักเรียนยากจนลดลง แต่ก็ไม่ได้หายจากความยากจนนะครับ ในทางกลับกัน เรามี “นักเรียนยากจนพิเศษ” ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 711,536 คน เป็น 994,428 คน ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น
นักเรียนยากจนพิเศษ คือ นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าเรารวมนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเข้าด้วยกัน เรากำลังพูดถึงครอบครัวจำนวน 1,768,211 ครอบครัว
ปกติก็ลำบากยากแค้นอยู่แล้ว สองปีนี้ยิ่งหนักหนาสาหัสด้วยสถานการณ์โควิด แต่รัฐมนตรีกลับทำเรื่องที่ขยี้ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้สาหัสขึ้นไปอีก 3 เรื่อง ได้แก่
(1)
ปล่อยให้งบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาถูกตัดไป 1,000 ล้านบาท ทำให้นักเรียนอย่างน้อย 200,000-300,000 คน เข้าไม่ถึงความเสมอภาคทางการศึกษา
มันไม่ใช่แค่เงิน 3,000-4,000 บาทต่อปีที่ให้กับนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูน้อยสำหรับคนหลายๆคน แต่สำหรับเด็กๆเหล่านี้ มันหมายถึงหนังสือ ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน และชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งที่จะหายไป
งบพันล้านนี้หายไปได้เป็นอย่างไร? เรื่องราวอัปยศนี้เกิดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2563 ในการประชุม ครม. มีมติออกมาเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินทั้งสิ้น 7,635 ล้านบาท
แต่ยังไม่ทันพ้น 24 ชั่วโมงดี วันที่ 13 มกราคม 2564 กลับมีการเปลี่ยนแปลงงบกองทุน กสศ.ให้เหลือ 6,556.86 ล้านบาท ด้วยเหตุผลในหนังสือของสำนักงบประมาณว่า “เป็นภาระทางการคลัง”
คำถามคือ ในวันที่งบประมาณถูกตัดไปแบบนี้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาวันนั้นได้อยู่ในที่ประชุม ครม.ด้วยหรือไม่? และเหตุใดจึงไม่มีท่าทีอะไรเลย ไม่มีการปกป้องงบประมาณที่จะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำ เงียบเป็นเป่าสาก ให้นักเรียนหลายแสนคนต้องถูกลอยแพ
แต่ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 473 ล้านบาทให้กระทรวงกลาโหมใช้แก้โควิด และอนุมัติงบประมาณให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 ล้านบาท ในการปราบปรามการชุมนุม
คำถามคล้ายๆกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการวันนั้นได้อยู่ในที่ประชุม ครม.ด้วยหรือไม่? และได้คัดค้านการเพิ่มงบให้กระทรวงกลาโหมและการปราบปรามการชุมนุมหรือไม่?
อ้อ ลืมไป ก็ในเมื่อณัฏฐพลเป็นรัฐมนตรีที่มาจากการเป่านกหวีด การรัฐประหาร และการรักษาผลประโยชน์ของระบอบประยุทธ์ นายณัฏฐพลจะไปคัดค้านการเพิ่มงบให้กลาโหมและการปราบม๊อบไปทำไม?
แม้เราจะคาดหวังว่า อย่างน้อยที่สุด ในฐานะที่สวมหัวโขนของเจ้ากระทรวงศึกษาฯอยู่ นายณัฏฐพลควรจะมีความกระอักกระอ่วนใจและไม่พอใจ ยกมือคัดค้านการตัดงบฯการศึกษาไปเพิ่มงบฯกลาโหมและงบฯปราบม๊อบบ้างเสียหน่อยสักนิดนึงก็ยังดี
(2)
ไม่สามารถทำตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ ว่าจะปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนให้ดีขึ้น
มติ ครม.เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้เห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนจาก 20 เป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน นับเป็นการปรับขึ้นค่าอาหารกลางวันครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 มา
ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอจะเพิ่มแม้แต่ไข่สักฟองให้นักเรียนทุกคนด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปก่อนวันที่จะมีมติเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนออกมาเช่นนี้ ในวันที่มีการการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นายณัฏฐพลเคยได้ตอบการอภิปรายโดย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ที่เสนอให้เพิ่มงบฯอาหารกลางวันเป็น 23 บาทต่อคน ว่า “เป็นการเสนอที่ไม่ได้ใช้สมอง ถ้ามีสมองมันต้องเพิ่มเป็น 36 บาท เพิ่มให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน”
คำถามคือ แล้วการตัดสินใจวันนี้ ณัฏฐพลไปใช้สมองมาอย่างไร ให้ค่าอาหารกลางวันได้ขึ้นเป็นแค่ 21 บาท?
(3)
ปิดโรงเรียนทั้งประเทศ สะท้อนความความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภาวะผู้นำ ไร้ความรู้ ไร้ความรับผิดชอบ
ในภาวะปกติเรื่องเหล่านี้ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว พอสถานการณ์สถานการณ์โควิดเกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก
ในขณะที่บางประเทศรับมือด้วยการปิด แต่มีทางเลือกและทางออกให้กับนักเรียนและผู้ปกครองโดยไม่ต้องยุ่งยากลำบาก เช่น มอบวันหยุดงานให้ผู้ปกครองด้วย หรือไม่ก็เปิดทางเลือกให้นักเรียนที่ผู้ปกครองดูแลไม่ได้ให้มาโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น
แต่สิ่งที่นายณัฐพลทำ กลับเป็นการเด้งขานรับการประกาศของ ศบค.อย่างรวดเร็วทันใจ สั่งปิดโรงเรียนทั้งหมดโดยไม่มีทางเลือกให้นักเรียนและผู้ปกครองใดๆทั้งสิ้น นอกจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่สถานการณ์ปกติก็แย่อยู่แล้ว ให้สาหัสยิ่งขึ้น
ในรอบแรกยังพอเข้าใจได้ ด้วยความที่ไม่มีใครเคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่พอมารอบที่สอง ทั้งๆที่ไม่ได้มีปัจจัยที่เกิดจากโรงเรียนเลยแม้แต่เคสเดียว แต่รัฐมนตรีกลับออกมาสั่งการอย่างรวดเร็ว ปิดโรงเรียนหนีภาระ หนีความรับผิดชอบ ปล่อยทิ้งให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ลอยเท้งเต้งรับมือผลกระทบแบบตามมีตามเกิด
มีคำสั่งให้ปิดโรงเรียน และโยนภาระให้โรงเรียน ครู นักเรียน ไปจัดการเรียนการสอนออนไลน์เองตามมีตามเกิด ในประเทศไทยที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทางสังคมสูงเป็นอันดับโลกนี่นะ? ใช้อะไรคิด?
ทุกครั้งที่มีคำสั่งปิดโรงเรียน สังคมไทยที่มีครอบครัวแหว่งกลางจำนวนมาก นักเรียนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีแต่ตายายที่ทุกวันนี้ยังต้องไปต่อแถวรับเงินเยียวยาเพราะไม่มีสมาร์ทโฟนอยู่ แล้วใครจะมีปัญญาไปดูแลหลานให้เรียนออนไลน์ได้?
โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ที่หลายแห่งจะยุบแหล่ไม่ยุบแหล่จะทำอย่างไร? โรงเรียนในพื้นที่ป่าที่ไม่มีไฟฟ้า 415-700 โรงเรียนจะทำอย่างไร? สื่อ DLTV DLIT ที่สอนผิดก็ยังไม่แก้ งบเอกสารประกอบการเรียนการสอนที่ครูจะต้องไปมอบใบงานให้ตามบ้านก็ไม่จัดให้ ค่าน้ำมันรถให้ครูก็ไม่มีให้ ครูต้องออกเงินกันเอง จัดผ้าป่าก็ไม่ได้ วุ่นวายเดือดร้อนกันไปหมดหรือไม่?
เท่านั้นไม่พอ ในท้ายที่สุดกระทรวงศึกษาฯ ภายใต้หัวเรืออย่างณัฏฐพล ยังมีหน้ามาพูดว่าตัวเองจัดการบริหารได้ดีในการทำให้มีเรียนการสอนออนไลน์ทั่วประเทศ ด้วยการไปตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนออนไลน์ที่โรงเรียนสตรีวิทยา หนึ่งในโรงเรียนอันดับท๊อปของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ไปดูที่โรงเรียนยากจนเหล่านั้นที่กล่าวไปข้างต้นเลย ว่าพวกเขาทำได้จริงหรือไม่
และเมื่อทำอะไรทุกอย่างผิดพลาดไปหมด เกิดรู้ตัวขึ้นมาว่าจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์โควิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก นายณัฐพลก็เลยแก้เกี้ยวด้วยการประกาศให้นักเรียนเลื่อนชั้นอัตโนมัติโดยไม่ต้องสอบไปเลยละกัน (ง่ายดี)
นี่คือความไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการประเมินผล จะให้เด็กเลื่อนชั้นโดยไม่ต้องสอบ ปล่อยให้เวลาของเด็กสูญเปล่าไปโดยสิ้นเชิง แทนที่จะจัดให้มีการสอนเสริมในเนื้อหาสำคัญก่อนให้นักเรียนเลื่อนชั้นก็ยังดี แต่นี่ปล่อยให้เลื่อนชั้นโดยไม่ทำอะไรเลย
“การปิดโรงเรียน มาตรการการศึกษาที่ผิดพลาดในสถานการณ์โควิด การมีรัฐมนตรีศึกษาธิการที่ไม่ได้เรื่อง เป็นความเสียหายไปหลายรุ่น หลาย Generations นี่หรือคือคนที่อ้างว่าไปดูงานมาแล้วทั่วโลก ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะมีคุณสมบัติ ผมคิดไม่ออกจริงๆว่าถ้าท่านไม่มีนกหวีด และ 250 สว.โหวตให้เป็นรัฐบาลเนี่ย คนที่ไร้คุณสมบัติอย่างคุณจะมาเป็นรัฐมนตรีได้ยังไง?”
เรือจ้างแบบเหมาช่วง:
เมื่อชีวิตครูอัตราจ้างถูกนำไปแขวนบนเส้นด้าย
คนในแวดวงการศึกษาย่อมรู้ดี ว่าปัญหาของลูกจ้างชั่วคราวสังกัด สพฐ.มีมาอย่างช้านานแล้ว แต่ทว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่ชีวิตของพวกเขาจะย่ำแย่ขนาดนี้
กรณีที่สะเทือนใจที่สุด คือเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ได้มีหนังสือส่งไปถึงผู้อำนายการโรงเรียนทุกโรงเรียนในสังกัด ระบุว่าสัญญาจ้างของลูกจ้างชั่วคราวทุกคนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กกันยายน 2562
ข่าวนี้ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนและลูกจ้างชั่วคราวทุกคนตื่นตระหนก เสียกำลังใจ ไม่มีใจจะสอน จะบริการวิชาการ จะทำอะไรแล้ว พร้อมกับคำถามสำคัญที่เกิดขึ้น คือรัฐบาลหมดงบประมาณจ้างครูและบุคลากรในโรงเรียนแล้วหรือ?
ทั้งๆที่ทุกวันนี้ บุคลากรทางการศึกษาของเรามีไม่เพียงพอ (ยกเว้นระดับผู้บริหารในกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีมากเกินไปเกินความจำเก็นไปเยอะ) โดยเฉพาะในระดับคุณครู เจ้าหน้าที่ธุรการ นักการภารโรงในโรงเรียนต่างๆนั้นขาดแคลนเป็นอย่างมาก การที่มีงบประมาณจ้างลูกจ้างชั่วคราว ถึงจะแก้ปัญหาไม่ได้อย่างยั่งยืนแต่ก็ยังบรรเทาได้บ้าง
แต่ในที่สุด กระทรวงศึกษาฯเองกลับเป็นผู้ซ้ำเติมปัญหานี้ให้หนักขึ้น ด้วยการออกแบบสัญญาจ้างแบบเหมางานมาใช้กับบุคลากรทางการศึกษาที่เดิมเป็นลูกจ้างชั่วคราว
แล้วใครที่ไหนจะทำงานอย่างมีความสุขได้ ในเมื่อยังไม่รู้เลยว่าเดือนหน้าจะได้รับสัญญาต่อไปหรือไม่ ใครที่ไหนจะตั้งใจปรับปรุงงานของตัวเองให้ดีขึ้น ในเมื่อเดือนหน้าก็จะถูกเอาออกได้ทุกเมื่อ
“ถ้าผมเป็นนักการภารโรง งานของผมคือวันต่อวันเท่านั้น ผมจะมีใจอะไรทำให้โรงเรียนสะอาด ปลอดภัย เพราะในเมื่อเดือนหน้าก็ต้องออกแล้ว ผมจะเรียนท่านประธานไปถึงรัฐมนตรี และพีน้องประชาชนทุกท่านทราบว่า การไม่มีภารโรงคนหนึ่งในโรงเรียนเล็กๆนั่น ผลเสียมันมากกว่าที่วิสัยทัศน์แคบๆของท่านมองเห็นมาก ภารโรงคนหนึ่งทำหน้าที่แทบจะทุกอย่าง ซ่อมก๊อกน้ำ เปลี่ยนสายไฟ ซ่อมอุปกรณ์สนาม ดูแล รับผิดชอบแทบจะทุกอย่างที่จะให้นักเรียนปลอดภัย”
เราฟังเรื่องพวกนี้ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศด้อยพัฒนา แต่จริงๆแล้วมันคือความไร้ประสิทธิภาพ ไร้วิสัยทัศน์
Inception แห่งการกระชับอำนาจ สกสค.
“ธนพร สมศรี” คือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค.
หากไปสืบประวัติมาดีๆ จะพบได้ว่าคนๆนี้ไม่มีคุณสมบัติอะไรเลยที่จะมาเป็นเลขาธิการ สกสค. ไม่มีความเหมาะสม เป็นนักธุรกิจอาหาร ทำฟุตบอล ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับวงการการศึกษาเลย
แต่กลับได้เหยียบหัวคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่า ขึ้นไปบริหาร สกสค.ได้ เพียงเพราะเหตุผลเดียว นั่นคือการที่นายณัฏฐพลให้การสนับสนุน
เป็นที่ทราบกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วว่า สกสค. เป็นองค์กรที่มีปัญหามากที่สุดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขัน การปรับตัวขององค์กรที่ช้า และการทุจริตคอรัปชั่น นำเงินกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชพค.) ที่เป็นเงินออมของครูทุกคนในประเทศไปปู้ยี่ปู้ยำ ไปลงทุนในบริษัทที่ขาดทุนหลักพันล้าน ไปปล่อยกู้แบบไม่ชอบมาพากล ปัญหาหนี้สะสมต่อเนื่อง 15 ปี จนทำให้ต้องปลดพนักงานกว่า 961 คน
ที่ไปที่มาของการที่ธนพรได้ขึ้นมาเป็นเลขาธืการ สกสค. เริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เมื่อณัฐพลมีคำสั่งแต่งตั้ง “ดิศกุล เกษมสวัสดิ์” ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.
ภายในระเวลาแค่ 20 วันเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 พฤษจิกายน 2562 นายดิศกุลได้ทำการแก้ไขระเบียบคณะอนุกรรมาการบริหารทรัพยากรบุคคลปี 2560 ซึ่งระบุไว้ว่า ตำแหน่งรองเลขาธิการสกสค.นั้น จะต้อง 1) มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท 2) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำ หรือเคยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำของสกสค.มาก่อน หรือ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือ เป็นข้าราชการในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับ 8
ที่ต้องกำหนดแบบนี้ก็เพราะ สกสค.จะทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ สวัสดิภาพ สวัสดิการของคุณครู และบริหารสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ต้องกำหนดคุณสมบัติไว้เจาะจงแบบนี้ ก็เพราะ สกสค.ต้องการคนที่เหมาะสม เข้าใจและเชี่ยวชาญในบริบทของการศึกษา โดยเฉพาะในสวัสดิการและสวัดิภาพของครู
แต่เลขาธิการ สกสค.ที่ณัฏฐพลแต่งตั้งมานั้น กลับออกระเบียบมายกเลิกมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสายงานเลขาธิการและรองเลขาธิการ ไม่ต้องใช้คุณสมบัติที่จะทำให้ได้คนที่เหมาะสมเข้าไป
ต่อมา วันที่ 14 พฤษจิกายน 2662 ธนพร สมศรีลาออกจากตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
มารับตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค. ลงนามแต่งตั้งวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เอง
ต่อมา ในวันที่ 5-14 สิงหาคม 2563 มีการเปิดรับสมัครตำแหน่งเลขาธิการและรองเลขาธิการ สกสค. นายดิศกุลที่มีประสบการณ์บริหาร สกสค.มาแล้วไม่สมัครตำแหน่งเลขาธิการ แต่ไปสมัครเลขาธิการคุรุสภา หลีกทางให้นายธนพรสมัครในตำแหน่งเลขาธิการ สกสค. ก่อนที่จะได้รับการรับเลือกในที่สุด
เมื่อธนพรเข้ามาปุ๊ป ก็แก้ระเบียบการรับสมัครผู้อำนวยการ สกสค.ในระดับจังหวัด จากหลักเกณฑ์ในปี 2559 ที่กรรมการสรรหา จะต้องได้รับการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด 5 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน กรรมการจากผู้แทนส่วนราชการหรือสังกัดกระทรวง 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน และกรรมการผู้แทนภาคประชาชนและข้าราชการครู 1 คน รวมเป็น 5 คน ทำหน้าที่สรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด
แต่ระเบียบในปี 2563 สำนักงาน สกสค.ส่วนกลางคือผู้ที่ทำการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดโดยตรง
ผลที่ได้ก็คือ ผอ.สก.สค.จังหวัดทั่วประเทศตอนนี้ กลายเป็นคนในเครือข่ายของนายณัฏฐพลทั้งหมด โดนแทรกแซงทั้งบนทั้งล่าง กินหัว กินหาง จนกองทุนเพื่อสวัสดิภาพของครูที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กลายเป็นอยู่ใต้การควบคุมของเครือข่ายรัฐมนตรี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ไปเรียบร้อยแล้ว
“อ้างว่าจะมาปราบโกง มันต้องโกงขนาดนี้เลยหรอครับ นี่คือการใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีบุคคลหลายรายซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง คุณทำลายระบบยุติธรรม ระบบคุณธรรมของวงการศึกษาจนหมด งานที่ควรทำไม่ทำ มาทำแต่เรื่องการเมือง เรื่องการยึดอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่น่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย กับผลประโยชน์ของนักเรียน สู้ให้อาหารกลางวันแค่บาทเดียว พอผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง สู้เอามาแบบไม่อายประชาชน ไม่อายคุณครูทั่วประเทศเลย
เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีบุคคลหลายรายซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต นักเรียนทั่วประเทศเขาฝากผมมาไล่ท่านในสภาแห่งนี้ คุณครูทั่วประเทศที่อยู่ในความอยุติธรรม แต่งชุดสีดำแล้วสีดำอีก ก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ใช้เอกสิทธิ์ของท่านไม่ไว้วางใจคุณณัฏฐพลพร้อมกันในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือนักเรียนทั่วประเทศจากความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือคุณครูที่ถูกอำนาจเข้าแทรกแซงจนหมดความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โหวตเอารัฐมนตรีคนที่เป็นความอับอายของวงการการศึกษาไทยออกไปด้วยกันครับ”