free geoip

อัฐยายซื้อขนมยายแบบนี้ อย่าหาทำ! กองทัพเล็งเอาที่หลวงมาปล่อยเช่าทำโซลาร์ฟาร์ม แล้วเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ประเทศไม่ได้ประโยชน์-ประชาชนอาจต้องใช้ไฟแพงขึ้น


กองทัพเล็งเอาที่หลวงมาปล่อยเช่าทำโซลาร์ฟาร์ม แล้วเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ประเทศไม่ได้ประโยชน์ – ประชาชนอาจต้องใช้ไฟแพงขึ้น


มีประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากองทัพเอาเวลา เอาทรัพยากร ไปทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นหน้าที่ของการเป็น “ทหารอาชีพ” มีความเป็นไปได้ว่า กองทัพไทยอาจเป็นกองทัพอาชีพ กองทัพที่มีความทันสมัย กองทัพที่มีประสิทธิภาพสูง และไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางประเทศแบบทุกวันนี้ก็ได้


เปิดศักราชใหม่ ต้นปี 2564 มาได้ไม่นานก็ได้ข่าวชวนน่าหัวร่อ ขบขันและชวนให้ระเหี่ยใจไปพร้อมกัน เพราะคิดว่าข่าวที่ทราบมาไม่น่าจะเป็นไปได้หรือต้องเป็น ‘ข่าวปลอม’ หรือ ‘Fake news’ แน่ๆ หรือหากจะเป็นข่าวจริง ก็ไม่คิดว่าผู้นำระดับผู้นำเหล่าทัพของประเทศแห่งนี้นั้นจะตื้นเขินถึงเพียงนี้ หรือในเมื่อตนเองไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง จะทำอะไรแบบนั้นได้อย่างไร แต่มาถึงตอนนี้ รู้ซึ้งและเข้าใจว่าพวกเขาเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิด


มีข่าวออกมาว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก มีแนวคิดที่จะนำเอาที่ราชพัสดุของกองทัพซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 4.7 ล้านไร่ มาทำเป็นโซลาร์ฟาร์ม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ


ฟังเผินๆ ดูเป็นแนวคิดที่มีเจตนาดีกับประเทศชาติ ช่างเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลซะเหลือเกิน จะไปหัวร่อ ขบขัน คนที่มีวิสัยทัศน์ทำไมกัน


แต่ช้าก่อน ที่ต้องหัวร่อและระเหี่ยใจเพราะ ข้อเท็จจริงคือ ในประเด็นแรก การผลิตไฟฟ้ามันใช่หน้าที่ของกองทัพบก ยิ่งไปกว่านั้น ที่อ้างเหตุผลว่า ‘เพื่อสนับสนุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ’ ความจริงคือ ปัจจุบัน อัตรากำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นเกินเป็นอย่างมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 60% ในปี 2563 ทั้งที่อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งก็จะเพียงพอแล้ว เพราะเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน จะต้องจ่ายเงิน 2 ก้อน ได้แก่


1.จ่ายตามจำนวนหน่วยที่ซื้อ หรือเรียกว่าค่า EP ซื้อเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ ถ้าซื้อน้อยก็จ่ายน้อย แต่ก้อนที่ 2. เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่าค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP ซึ่งคือรายจ่ายของการไฟฟ้าที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาจะคงที่ทุกปี ไม่ว่าจะซื้อไฟหรือไม่ซื้อไฟก็ตาม คือซื้อหรือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย และสุดท้ายมันก็กลายมาเป็นต้นทุนที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาร่วมกันแบกค่าไฟฟ้าที่มันสูงจนเกินจริง


คงไม่กล่าวเกินเลยไปที่จะบอกว่า วิสัยทัศน์ช่างหาทำของท่านผู้บัญชาการทหารบกกำลังจะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทุกหย่อมหญ้า โดยจะเป็นการดึงเงินจากในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนที่มีอยู่น้อยนิดออกไปอีก ไม่จบไม่สิ้น ทุกเดือน ทุกเดือน


ซ้ำร้าย จากการย้อนดูข้อมูลในอดีตยังพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีแม่ทัพนายกองมีดำริจะนำที่ดินราชพัสดุไปใช้ในการทำโซลาร์ฟาร์ม โดยช่วงปลายปี 2557 ในยุครัฐบาล คสช. ที่รัฐประหารยึดอำนาจมาใหม่ๆ ได้เคยมีความพยายามที่จะทำโครงการทำนองนี้มาก่อนแล้ว มีข่าวลือหนาหูว่า คสช. จะเปิดให้เอกชนเช่าที่ราชพัสดุที่ทหารดูแลอยู่เพื่อทำโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งแม่ทัพนายกองในกองทัพก็วาดฝันกันไว้ว่าจะนำรายได้จากค่าเช่าที่ดินไปใส่ไว้ในกองทุนสวัสดิการของกองทัพโดยไม่จำเป็นต้องออกแรงอะไรเลย!


ต้องกล่าวไว้ตรงนี้ด้วยว่า ที่ดินราชพัสดุของกองทัพที่กระจายอยู่ทั่วประเทศที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 4.7 ล้านไร่ที่ว่านั้น หรือคิดเป็น 7,520 ตารางกิโลเมตร หรือพื้นที่ประมาณ 5 เท่าของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งที่ดินราชพัสดุจำนวนดังกล่าวยังคิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งประเทศอีกด้วย


ซึ่งก็น่าคิดว่าในขณะที่พี่น้องประชาชนจำนวนมากขาดไร้ที่ทำกิน ต้องถูกฟ้องร้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินที่ตัวเองอยู่มานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆ คนก็ไม่ใช่แค่ถูกขับไล่เท่านั้น แต่ยังมีคดีความติดตัว จนต้องติดคุกติดตารางกันอยู่อีกหลายปี และมีอีกจำนวนไม่น้อยก็ถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าตาย เหตุเพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินทำกินเพียงน้อยนิด


แต่กองทัพที่ดันมีที่ดินมหาศาล กลับนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเอง เพื่อสวัสดิการ หรือเพื่อแม่ทัพนายกองไม่กี่คน คำถามที่ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามกันคือ ทำไมประเทศนี้เมืองนี้ จึงมีมาตรฐานที่แตกต่างกันถึงเพียงนี้ แล้วจะไม่ให้ประชาชนรู้สึกเจ็บแค้น น้อยเนื้อต่ำใจได้อย่างไร ในเมื่อมันมีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ขนาดนี้


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่อมาฝันของเหล่าแม่ทัพนายกองที่จะทำโซลาร์ฟาร์ม จะต้องสลายไปแต่ก็ยังไม่ดับสิ้นหายไป เมื่อรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่เป็นพลเรือนในรัฐบาล คสช. ในตอนนั้น ทราบเรื่องนี้ในช่วงกลางปี 2558 จึงได้แจ้งให้กองทัพทราบว่า ถ้าอยากจะเอาที่ราชพัสดุไปปล่อยเช่าทำโซลาร์ฟาร์ม ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุเสียก่อน รวมทั้งจะต้องนำเงินรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายส่งคืนให้กับคลังด้วย จะไม่สามารถเอาไปใส่ให้กองทุนของทหารได้แม้แต่สตางค์แดงเดียว ซึ่งจากคำตอบนั้น ทำให้ไอเดียดังกล่าวเป็นอันพับไป เพราะคงคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำไปทำไมกัน!


มาวันนี้กองทัพก็หยิบไอเดียเรื่องโซลาร์ฟาร์มขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้สภาพการณ์อาจเป็นใจมากขึ้น เพราะตอนนี้มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ว่ากันว่ามีความสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าบางเจ้าอยู่พอดี


ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพก็ได้ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อและเริ่มเป็นจริงเรียบร้อยแล้วเพราะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ก็ร่วมด้วยช่วยกัน มีการไปจับมือกับผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน เซ็น MOU ให้กองทัพบก ‘ศึกษาความเป็นไปได้’ ในการทำโซลาร์ฟาร์ม เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และผู้ว่าการการไฟฟ้าผ่ายผลิตยังได้ออกมาให้ข้อมูลว่า พื้นที่ของกองทัพบกที่มีศักยภาพในการทำโซลาร์ฟาร์มนั้นมีขนาด 3 แสนไร่ ซึ่งเท่ากับการผลิตไฟฟ้า 3 หมื่นเมกะวัตต์เลยทีเดียว


เรื่องนี้เป็นที่น่ากังวลและน่าตกใจมากเพราะจากประวัติศาสตร์ 137 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในปี 2427 มีเพียงปีเดียวเท่านั้นคือปี 2562 ที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้ไฟฟ้ารวมกันทั้งประเทศสูงสุดเกิน 3 หมื่นเมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า ถ้าโซลาร์ฟาร์มขนาดกำลังการผลิต 3 หมื่นเมกะวัตต์นี้เกิดขึ้นจริงก็จะเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศเลยทีเดียว


แต่การจะทำให้อภิมหาโปรเจกต์ครั้งนี้เกิดขึ้นก็ไม่ง่ายนักเพราะติดที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ซึ่งแม้ว่าผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเคยออกมาบอกว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีการสนับสนุนเรื่องของพลังงานทดแทนอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือ แผน PDP ฉบับปัจจุบันที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2563 และแผนนี้ก็ไม่ได้วางแผนให้เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีกำลังการผลิตสูงถึงขนาด 3 หมื่นเมกะวัตต์นั้นแน่ๆ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า หากกองทัพบกจะสร้างโซลาร์ฟาร์ม 3 แสนไร่ 3 หมื่นเมกะวัตต์จริงๆ ก็จะต้องมีการแก้แผน PDP ที่เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่ถึงครึ่งปี คำถามคือ ทำไมถึงต้องแก้? แก้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่?


ถึงแม้ว่าจะแก้หรือไม่แก้แผน PDP ตอนนี้อภินิหารของกองทัพบกก็ได้แผลงฤทธิ์เรียบร้อยแล้วโดยได้เตรียมเดินหน้า ‘ศึกษาความเป็นไปได้’ ของโครงการโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งจะนำร่องให้ เอกชนมาร่วมลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มขนาด 300 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 3,000 ไร่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 6,000 – 7,000 ล้านบาทและถ้าการ ‘ศึกษาความเป็นไปได้’ นี้ ไปได้สวยกองทัพบกก็จะ ‘ระดมทุนจากภาคเอกชน’ ประมาณ 6 แสนล้านบาท มาทำโซลาร์ฟาร์มขนาด 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยจะใช้วิธีเอาผลผลิตทางการเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์สำหรับทำโซลาร์ฟาร์มจากต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอีกทางหนึ่งด้วย ว่าซั่น! เอากับเขาสิ!


แถมตัวแทนจากกองทัพบกก็ยัง ‘คุยโวใหญ่โต’ ต่อไปอีกว่าถ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดยักษ์นี้สำเร็จจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนได้ถึง 1 บาทต่อไฟฟ้า 1 หน่วย ทำเป็นนำผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นเกาะคุ้มกัน แต่แท้จริงแล้วข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยเพราะยังคิดไม่ตกเลยว่าตัวแทนจากกองทัพบกใช้สูตรไหนคำนวณค่าไฟฟ้า ถึงได้สรุปผลออกมาได้แบบนั้น!


อย่างไรก็ตาม สมมติว่าโครงการที่ว่าดีจริง สมมตินะสมมติ! ก็ยังมีคำถามอยู่ดีว่า เพราะเหตุใดกองทัพบกถึงต้องพยายามทำตัวเป็นแม่งานทั้งที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่? และเหตุใดกองทัพบกไม่คืนที่ราชพัสดุขนาด 3 แสนไร่ที่ว่านั้นให้กระทรวงการคลังนำไปจัดสรรให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องพลังงานไฟฟ้าบริหารจัดการต่อไป หรือจัดสรรเพื่อประชาชน?


ยิ่งไปกว่านั้น หากกองทัพบกกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะทำให้ได้โดยใช้อิทธิฤทธิ์อภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือประชาชนทุกคนในประเทศแห่งนี้อยู่แล้ว ก็หวังว่าจะมีมโนธรรมสำนึก นำรายได้จากการดำเนินการทั้งหมดส่งคืนให้กับคลังด้วย อย่าได้คิดซิกแซกแอบเก็บรายได้เข้ากระเป๋าตนเองในรูปแบบของกองทุนสวัสดิการของกองทัพ!!!

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า