free geoip

แถลงการณ์เครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล

แถลงการณ์เครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล
กรณีการดำเนินคดีต่อชาวบ้านบางกลอย


ตามที่ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้สนธิกำลังพร้อมหมายจับของศาลจังหวัดเพชรบูรี เดินทางโดยใช้เฮลิคอบเตอร์ ไปควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอย ทั้งหมด 87 คน มาที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีทั้งคนพิการ ผู้หญิง และเด็กรวมอยู่ด้วย โดยในจำนวนนี้มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีตามหมายจับในข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต” จำนวน 22 คน สำหรับคนที่ไม่มีรายชื่อในหมายจับของศาลนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปรียบเทียบปรับคนละ 500 บาท จำนวน 29 คน ส่วนเด็กจำนวน 36 คน ถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 22 คน โดยไม่มีหลักประกัน นั้น


สืบเนื่องจาก เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ชาวบ้านบางกลอย จำนวน 62 คน ได้ตัดสินใจเดินเท้ากลับไปที่บ้านใจแผ่นดิน ที่ซึ่งเป็นแผ่นดินบรรพบุรุษของเขา เพื่อทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าวเลี้ยงชีพ และได้ช่วยกันแผ้วถางพื้นที่ไร่หมุนเวียนเพื่อเตรียมการเพาะปลูก ประมาณ 150 ไร่ ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและฝ่ายปกครองได้ไปตรวจสอบและเจรจากับชาวบ้านกันหลายครั้ง และมีการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวข้างต้น


เครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล มีความเห็นต่อการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย ดังนี้


1. กรณีนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินในเขตป่าระหว่างเจ้าหน้ารัฐกับราษฎร โดยหลักการแล้วมีลักษณะเป็นข้อโต้แย้งในทางปกครอง ไม่ควรผลักไปเป็นข้อพิพาททางอาญา ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิในที่ดินที่ถูกต้อง รัฐจะต้องไม่ผลักใสให้ราษฎรกลายเป็นอาชญากร แต่จะต้องใช้กระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจากันได้อย่างเป็นธรรม และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความจริงใจ ไม่กระทำการอันเป็นด้อยค่าและสร้างความเกลียดชังแก่ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ให้เกิดขึ้นสังคม ซึ่งการใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือในข้อพิพาทลักษณะนี้ ไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่แก้ไขปัญหา มีแต่จะกดทับปัญหาและเพิ่มความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นเท่านั้น


2. ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกละเมิดสิทธิในที่ดินอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการออกกฎหมายทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านกลายเป็นอาชญากรรม การแย่งยึดที่ดินของชาวบ้านโดยการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ แล้วจับกุมดำเนินคดีอาญาเพื่อใช้อำนาจศาลลงโทษทางอาญาและขับไล่ออกจากที่ดิน เป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งข้อ 5 บัญญัติไว้ รัฐภาคีจะห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ และจะประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1) สิทธิที่ในกระบวนการยุติธรรม 2) สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ทั้งโดยส่วนตัวและโดยร่วมกับบุคคลอื่น 3) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย


3. ปัญหาของบ้านบางกลอย เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งสำหรับปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 2 ล้านคน เนื้อที่ 4,295,501.24 ไร่ ซึ่งที่ดินเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิต แต่ถูกจำกัดสิทธิและโอกาสในการใช้ประโยชน์อย่างมาก โดยที่รัฐไม่ได้ออกกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สำหรับแนวทางตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือ มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่จะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินโดยการจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรโดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นการแย่งยึดที่ดินโดยใช้กฎหมายและนโยบายเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่การรับรองสิทธิในที่ดินให้ราษฎร


เครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. ขอให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยทั้ง 22 คน เนื่องจากกรณีนี้ มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและสามารถชี้ชัดได้ว่าบ้านบางกลอยหรือบ้านใจแผ่นดิน ได้ก่อตั้งและมีชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนที่พื้นที่ดังกล่าวจะถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนครั้งแรก และก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน


2. ขอให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดิน พร้อมจัดทำแผนที่แสดงแนวเขต ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และอนุญาตให้ชาวบ้านที่เป็นคนดั้งเดิมเข้าทำประโยชน์ก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วเสร็จ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้จงใจทิ้งร้างที่ดิน หากแต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานไล่รื้อ เผาทำลาย และบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่โดยไม่สมัครใจ


เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบกฎหมายป่าไม้ของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งในยุคลปัจจุบันทั่วโลกต่างยอมรับหลักการจัดการป่าที่สร้างสมสมดุลระหว่างการรักษาระบบนิเวศน์ การคุ้มครองสิทธิในที่ดินของคนท้องถิ่น และการสร้างเศรษฐกิจของชาติโดยใช้ศักยภาพของฐานทรัพยากร เครือข่ายชาติพันธุ์ฯ ร่วมกับพรรคก้าวไกล จะเดินหน้าใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรทำงานอย่างอย่างจริง เพื่อแก้ไขปัญหาระบบกฎหมายป่าไม้ของไทยที่มีความล้าหลัง มีลักษณะเป็นกฎหมายคุ้มครองป่าแบบปลอดคนและรวมศูนย์อำนาจ ทำให้กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งหน่วยงานรับผิดชอบด้อยประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญคือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่าของประเทศที่เรื้อรังมานาน


ด้วยความเคารพ

เครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล



สามารถโหลดไฟล์แถลงการณ์ได้ที่นี่

Login

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เราขอยุติการรับสมัครสมาชิกพรรคและการรับบริจาค ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ย้ายไปยังพรรคประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุณาติดต่อที่ เว็บไซต์พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า