เลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้กับ ครม. วิบากของการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ที่ ครม. เจอกับตัว กับคำถาม 6 ข้อ ที่รัฐบาลต้องตอบประชาชน โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ในวันนี้(12 มีนาคม 2564) ตามกำหนดการเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา แต่ปรากฏกว่าก่อนพิธีการฉีดวัคซีนจะเริ่มประมาณ 30 นาที ก็มีการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน ด้วยความกังวลในเรื่องความปลอดภัย จากอุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือด จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทีประเทศเดนมาร์ก จนไอซ์แลนด์ และนอรเวย์ ประกาศชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับประชาชนออกไป
และในเวลาต่อมา ออสเตรีย อิตาลี เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย ลักเซมเบิร์ก ก็ได้ชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาออกไป เพื่อรอการสืบค้น และวินิจฉัยของ EMA(European Medicine Agency) เสียก่อน แม้ว่า EMA จะมีคำวินิจฉัยว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญ ของการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ต่อการเกิดลิ่มเลือด
แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้ออกมาชี้แจงว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ต้องสงสัยนี้ เป็น Batch ABB53000 ซึ่งผลิตในยุโรป ซึ่งเป็นคนละล็อตกับที่ประเทศไทยได้รับ ซึ่งผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ แต่อย่างไรก็ตามออสเตรีย และอิตาลี ที่รับวัคซีนคนละล็อต ก็สั่งชะลอการฉีดวัคซีนเช่นกัน ประกอบกับมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมว่า ภาวะการเกิดลิ่มเลือดในลักษณะนี้ คนเชื้อชาติแอฟริกา และยุโรป นั้นพบมากกว่าชาวเอเชียถึง 3 เท่า ซึ่งเมื่อประเมินเบื้องต้น ก็เชื่อได้ว่าในกรณีดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะเป็นกรณีที่ร้ายแรงนักก็ตาม แต่ในเมื่อมีข้อสันนิษฐานที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ได้รับวัคซีน ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ที่ประเทศไทยจะชะลอการฉีดวัคซีนไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน
การเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน นั้นไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาที่สะท้อนจากกรณีดังกล่าวนี้ ก็คือ “การที่รัฐบาลนี้ ยืนกรานที่จะกระจุกการจัดหาวัคซีนไว้ที่แอสตราเซเนกา แทบจะเป็นยี่ห้อเดียว” โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนจากหลายแหล่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเลย จะทำให้กระบวนการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน และฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จะถูกยืดระยะเวลาออกไป และอาจะเกิดเหตุที่ทำให้เกิดการสะดุดหยุดลงเป็นระยะๆ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้สังคมฉุกคิด และเกิดคำถามต่างๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ
- 1) วัคซีนที่ต้องสงสัยนี้ เข้าใจว่าเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานวัคซีนที่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนมาก่อน แล้วกับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และไม่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนในปริมาณมากๆ มาก่อน ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน และถ้าปัญหาต่างๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ภายใต้นโยบายกระจุกความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนไว้ที่บริษัทนั้นเป็นหลัก รัฐบาลจะจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างไร
- 2) รัฐบาลควรเร่งจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นให้มีน้ำหนักมากขึ้น และเร็วขึ้น กว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพื่อให้ในกรณีที่พบข้อกังวลกับวัคซีนยี่ห้อใด ในประเด็นใด กับประชาชนกลุ่มใด ประชาชนจะได้มีทางเลือก จากวัคซีนยี่ห้ออื่น หรือจากแหล่งอื่น เพื่อให้กระบวนการในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และประชาชนไม่ต้องเอาชีวิตของตนเองไปเสี่ยงกับวัคซีนที่ตนเองไม่มีความมั่นใจ และไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อไปฉีดวัคซีนทางเลือกอื่นที่สถานพยาบาลของเอกชน
- 3) รัฐบาลควรระงับการสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ในงวดหลังที่สั่งซื้อไป 35 ล้านโดส ออกไปก่อนหรือไม่ และควรต้องทบทวนหรือไม่ว่า 35 ล้านโดส นั้นควรจะเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือควรจะเป็นวัคซีนยี่ห้ออื่น เพื่อกระจายความเสี่ยง
- 4) หากมีการยกเลิกการสั่งซื้อวัคซีน 35 ล้านโดส ที่สั่งซื้อไปแล้ว นั้นทำได้หรือไม่ รัฐบาลมีข้อผูกมัด เงื่อนไข หรือมีความรับผิดใดๆ ที่ต้องชดเชยให้กับแอสตราเซเนกา หรือสยามไบโอไซเอนซ์ หรือไม่ กรณีนี้รัฐบาลควรเปิดเผยสัญญาที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้กับแอสตราเซเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์ ให้กับประชาชนได้ร่วมรับทราบ เพื่อความโปร่งใส และเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่รัฐและงบประมาณของประชาชนในอนาคต
- 5) หากรัฐบาลยังคงยืนกรานนโยบาย “การกระจุกวัคซีน” อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ รัฐบาลมีแผนสอง หรือแผนการในการรับมืออย่างไร หากมีอุปัทวเหตุ หรืออุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการผลิต หรือการส่งมอบที่ล่าช้า ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนบางกลุ่ม รวมทั้งปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งรัฐบาลควรประกาศแผนสอง หรือแผนการในการรับมือดังกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบด้วย
- 6) รัฐบาลควรแถลงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ รวมทั้งเปิดเผยแผนการส่งมอบวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ต้องส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งมอบวัคซีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขของสยามไบโอไซเอนซ์ นั้นจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า แผนการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน ของกระทรวงสาธารณสุข
จนถึงทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อย ก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดที่รัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะจัดหาวัคซีนแบบกระจุกความเสี่ยง และนำพาเศรษฐกิจปากท้อง และชีวิตของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ไปฝากความหวังไว้ที่บริษัทเอกชนที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 และไม่เคยมีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนในปริมาณมากๆ มาก่อน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่บริษัทเอกชนผู้ผลิตวัคซีนรายนั้นเลย เพราะการผลิตสินค้าใหม่ที่เพิ่งผ่านการวิจัยและพัฒนามา ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม การประสบพบเจอกับปัญหาที่ไม่คาดฝัน ระหว่างการผลิต นั้นเป็นเรื่องปกติ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีมาตรการในการป้องกัน และมีการเตรียมความพร้อมมากเพียงไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ตัดสินใจนำพาเอาชีวิตของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ไปผูกไว้กับบริษัทเอกชนรายนั้นได้อย่างไร
ผมยืนยันว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาแล้วผมมาด่ารัฐบาลซ้ำ แต่ในประเด็นในเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ผมได้แนะนำ เน้นย้ำ และติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่ไม่คาดฝัน แต่เป็นปัญหาที่รัฐบาลสามารถคาดการณ์เอาไว้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็มิได้นำพา ไม่ได้ใส่ใจกับการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเลย และจากการเลื่อนการฉีดวัคซีนให้กับ ครม. อย่างปัจจุบันทันด่วน ก็บ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มีแผนสอง หรือแผนการรับมือในกรณีฉุกเฉินเอาไว้เลย แล้วจะไม่ให้ประชาชนตั้งคำถาม และทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลได้อย่างไร