18 มีนาคม 2564 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมวิสามัญ ในการพิจารณาเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย ในวาระ 3 มีมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาเเละสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรฝั่งรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่โหวตรับร่างดังกล่าว
ชัยธวัชกล่าวว่า การคว่ำวาระที่ 3 ของร่างเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเเสดงให้เห็นชัดเจนว่า อุปสรรคที่สำคัญในการขัดขวางการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ ( คสช.) มาสู่ระบอบประชาธิปไตย คือ สมาชิกวุฒิสภา ( สว.) เเละสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎฝั่งรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเจตนาที่ไม่ต้องการให้ที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ขึ้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ประเด็นที่อ้างว่าจะต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
“พฤติการณ์ที่ผ่านมามันชัดเจนมาโดยตลอดว่า ผู้มีอำนาจร่วมมือกับสว.เเละ ส.ส.จำนวนหนึ่ง พยายามเตะถ่วงมาโดยตลอดให้นานที่สุด ให้ประเทศไทยอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับคสช. ( 2560 ) ให้ยาวนานที่สุด เเละไม่มีความต้องการที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ดังนั้นประเด็นเรื่องจะทำประชามติ หรือไม่ทำประชามติ หรือต้องทำประชามติตอนไหน เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เมื่อวานคือ บทสรุปของกระบวนการที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เเละการที่พรรคร่วมรัฐบาล (พรรคภูมิใจไทย) จำนวนหนึ่งออกจากห้องประชุมสภาผู้เเทนราษฎรโดยไม่ร่วมลงมติในวาระ 3 และให้เหตุผลว่าควรจะมีการเลื่อนวาระที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อให้มีความชัดเจนนั้น อันนี้ก็เป็นเพียงข้ออ้างเช่นกัน เเละยิ่งเป็นการทำให้หลงทิศหลงทาง เพราะจะทำให้เป็นการเตะถ่วงยืดเยื้อไปอีกนานไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไปหลอกคว่ำ หลอกประชาชนในท้ายที่สุด ยิ่งเป็นการสร้างความเสียหาย เสียโอกาสสำหรับสังคมไทยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปอีก อย่างกรณี ที่อ้างว่าควรจะเลื่อนไปก่อน เเล้วไปถามศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความอีกครั้ง ก็จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเสนอร่างเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะคล้ายกันก็จะไม่สามารถกระทำได้ในสมัยประชุมหน้า คือจะยืดไปอีก เพื่อไปเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ยิ่งเป็นการหลอกต้มประชาชนนานเกินไป”
ชัยธวัช กล่าว
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญไม่ใช่ควรจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ หรืออ้างว่าไม่ต้องการที่จะร่วมสังฆกรรมเพื่อล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมือตนเอง เเต่ควรจะไปถามเเกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า จะรับผิดชอบอย่างไรกับการหักหลังประชาชนเช่นนี้ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคหากมีความจริงใจจริงๆ ต้องการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ ต้องถามความรับผิดชอบจากเเกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการคว่ำร่างเเก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อวานนี้เเล้ว (17 มี.ค. 64) โดยอ้างว่าต้องไปถามประชาชนก่อนผ่านการทำประชามติ ดังนั้น ก็ถือว่าเป็นความผิดชอบของรัฐบาล หลังจากที่พระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ. … ที่จะพิจารณาในวันนี้ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเเละมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบที่จะต้องจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสินใจ ลงมติทั้งประเทศเห็นชอบหรือไม่ ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เเล้วให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นอกจากนั้น อาจมีความจำเป็นต้องถามในประเด็นที่สำคัญ เป็นคำถามพ่วงไปด้วย เช่น ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีสมาชิกวุฒิสภา ( สว.) อยู่ต่อไป หรือเห็นชอบหรือไม่ที่จะต้องมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระอื่นๆ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่เสียงของประชาชนมีความชอบธรรมที่สุดที่จะลงมติ โดยในเช้าวันนี้ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมหารืออีกครั้ง
“ต้องยอมรับว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี ส.ว อีกเเล้ว การมี ส.ว.กลับเป็นตัวถ่วงในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ นอกจากจะถามว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คำถามประเภทนี้อาจจำเป็นที่จะต้องถามคำถามพ่วงไปด้วย”
ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย