free geoip

‘วิโรจน์’ อัด รัฐบาล ออกแนวทาง ‘ซอฟท์โลน’ ใหม่ อาจไม่ถึง SMEs หวั่นเปิดช่องทุนใหญ่ฮุบกิจการเล็ก แนะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ


มองอย่างเซ็ง ‘วิโรจน์’ อัด รัฐบาล ออกแนวทาง ‘ซอฟท์โลน’ ใหม่
อาจลงไม่ถึง SMEs จริง หวั่นเปิดช่องทุนใหญ่ฮุบกิจการเล็ก
แนะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องวางให้เชื่อมแผนการฉีดวัคซีน


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการออก พ.ร.ก.ซอฟท์โลนฉบับใหม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจว่า สิ่งที่ต้องยอมรับอย่างแรกคือ “ความล้มเหลวของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ฉบับเดิม” ที่มียอดการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดย ณ วันที่ 15 มี.ค. 2564 ปล่อยกู้ไปได้เพียง 76,713 ราย ด้วยวงเงินแค่ 132,835 ล้านบาทเท่านั้น


วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริง ณ ขณะนี้ ก็คือ การที่รัฐบาลไม่ได้ผนวกเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้เข้ากับเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน ตราบใดก็ตามที่รัฐบาลไม่สามารถให้คำมั่นได้อย่างชัดเจน ถึงแผนการจัดหาวัคซีน และแผนการฉีดวัคซีน ที่ครอบคลุมในระดับที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ รวมทั้งยังไม่มียุทธศาสตร์ในการจัดลำดับความสำคัญ ในการฉีดวัคซีนให้กับจังหวัดที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อน ก็จะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจอื่นๆได้เช่นกัน หากมองในมุมของผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ก็คือ อุปสงค์ หรือความต้องการการบริโภคนั้นหดตัวลงไป ผู้ประกอบการหลายรายที่พยายามดิ้นรนประกอบกิจการต่อกลับยิ่งแย่ เพราะยอดขายที่เข้ามาไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ จะทำต่อก็เสี่ยงที่จะยิ่งเจ๊ง ครั้นจะพักกิจการไว้ก่อน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะยังต้องหาเงินมาชำระหนี้ให้กับธนาคารทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย


วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เราก็ต้องเข้าใจทางฝั่งธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน เพราะในสภาวะที่รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์ในการผนวกแผนการฉีดวัคซีน ให้เข้ากับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และไม่สามารถคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนได้ ธนาคารเองก็กังวลว่าถ้าปล่อยกู้ไปแล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งธนาคารก็ไม่อยากจะไปยึดทรัพย์สินจากผู้กู้ เพราะกว่าจะยึดได้ ต้องใช้เวลาหลายปี และทรัพย์สินที่ยึดมาได้ก็อาจจะกลายเป็นทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า เช่น โรงแรมร้าง อาคารร้าง ที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการฟื้นฟู ซึ่งก็จะเป็นภาระของธนาคารอีก


“สิ่งที่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็คือ มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” โดยพักชำระหนี้ ให้กับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ประกอบการที่เป็นหนี้กับธนาคารโอนทรัพย์สินหลักประกันให้แก่ธนาคาร โดยมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นกลับคืนในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป โดยระหว่างที่โอนทรัพยสินไป ผู้ประกอบการ ก็ยังสามารถสามารถเช่าทรัพย์สินนั้น มาประกอบกิจการต่อไปได้ แต่สิ่งที่กังวลก็คือ การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้จริงขนาดไหน เพราะต่อให้ผู้ประกอบการต้องการที่จะพักทรัพย์พักหนี้ แต่ดุลยพินิจที่จะพิจารณาว่าทรัพย์สินหลักประกันนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีศักยภาพหรือไม่ยังอยู่ที่การตัดสินใจของธนาคาร หากธนาคารไม่ยอมให้ผู้ประกอบการพักทรัพย์พักหนี้ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวจะยังคงถูกลอยแพอย่างเคว้งคว้าง ต้องรอถูกยึดทรัพย์ ถูกสถานการณ์บีบให้ขายทรัพย์สิน โรงแรมที่มีอยู่ให้กับนายทุนใหญ่ ในราคาถูกอยู่ดี ดังนั้นรัฐบาลควรจะทุ่มสรรพกำลังในการกำกับการขับเคลื่อนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพราะจะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการอย่างมาก” วิโรจน์ กล่าว


สำหรับ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนใหม่ ที่เปิดกว้างให้ลูกหนี้ใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และขยายวงเงินการขอสินเชื่อของลูกหนี้เดิม จากเดิมที่ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง มาเป็นไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก  และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในระยะเวลา 5 ปี และมีกลไก บสย. ค้ำประกันหนี้ โดยมีภาระการชดเชยหนี้ไม่เกิน 40% มีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี


“พ.ร.ก.ซอฟท์โลนใหม่นี้ จะได้ผลก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ และการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวได้เมื่อใด ตราบใดที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวนี้ จะมีผู้ประกอบการรายใดกล้าที่จะกู้เงินไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง และจะมีธนาคารรายใดกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่คลุมเครือ ซบเซาซึมยาว โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีแผนการใดๆ ที่ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเศรษฐกิจจะผงกหัวขึ้นได้เมื่อไหร่” วิโรจน์ กล่าว


ทั้งนี้ วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนก็คือ การผนวกแผนการฉีดวัคซีน ให้เข้ากับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ทุกอย่างสอดรับกันอย่างมียุทธศาสตร์ โดยสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน ณ วันนี้ ก็คือ ประเด็นเเรก ในการเปิดเผยแผนการส่งมอบวัคซีน และแผนการฉีดวัคซีน ในปี พ.ศ. 2564 


ประเด็นที่สองยุทธศาสตร์ และการฉีดวัคซีนที่มีการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก่อน


ในส่วนของประเด็นที่สามคือการเยียวยาให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากปัญหาการะบาดของโควิด-19 อย่างเช่นกรณีของแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อประคับประคองการบริโภค ตลอดจนออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ยังมีกำลังจ้างงาน มีแรงจูงใจในการจ้างแรงงานที่ว่างงานเหล่านี้ และมีการฝึกทักษะใหม่ หรือมีมาตรการอื่นใด ที่สนับสนุนให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง มีโอกาสในการพัฒนาทักษะอื่นๆ ให้กับตนเอง และเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพใหม่ ควบคู่ไปกับมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ


นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไปด้วย ก็คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ที่มุ่งไปที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านต่างๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการบริหารจัดการน้ำ ระบบการระบายน้ำในเมือง ระบบการจัดการขยะ ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษาและระบบในการพัฒนาทักษะของประชากร การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การกระจายการลงทุนภาครัฐไปสู่ส่วนท้องถิ่น และภูมิภาค การส่งเสิรมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ อย่างกรณีสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพิ่งประกาศแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้


“ตราบใดก็ตาม ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเชื่อมการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้สอดรับกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ ไม่มีสามัญสำนึกในความเร่งด่วน ไม่มีแผนการที่ชัดเจน ไม่สามารถให้คำมั่นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ แถมยังปล่อยให้ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ไม่ยืดหยุ่นกับการแก้ไขสถานการณ์วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ให้เกาะกินประเทศต่อไปอยู่แบบนี้ ก็น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ล่าช้ามาก และหลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปตามยถากรรมที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ไร้แรงดึงดูดในการลงทุน จนอาจจะนึกไม่ออกว่า จะฟื้นฟูประเทศกันยังไง”

วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า