โรจน์ – เล็ก บุกเมืองจัน!! ลุยถกปัญหาเกษตรกร
กังวล ‘คอนเทนเนอร์’ ขาดแคลน กระทบส่งออกทุกวงการ
แนะภาครัฐหาทางเพิ่มให้ได้เพราะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้การท่องเที่ยว
วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน หรือ ‘ส.ส.เล็ก’ เขต 3 จังหวัดจันทบุรี ชวน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ไปพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาจากเกษตรกรอำเภอเขาสอยดาว เเละอำเภอโป่งน้ำร้อน พบหลากหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขระยะยาวและยังต้องการการแก้ปัญหาโดยด่วนจากภาครัฐ
“เกษตรสวนลำไย อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว ต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างเป็นปัจจัยต่อเนื่องมาตลอด ประเด็นสำคัญคือปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสนอของเกษตรกรในพื้นที่คือ ต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. รวมถึงสหกรณ์ประจำหมู่บ้าน ช่วยออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอกและเพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร เพื่อที่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากได้ เพราะนอกจากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องแล้ว ปีก่อนยังซ้ำด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 โดยช่วงที่เกษตรกรเก็บลำไยกำลังจะได้ขายก็ตรงกับช่วงที่สาธาณรัฐประชาชนจีนประสบกับวิกฤติโควิด จึงส่งผลกระทบอย่างมหาศาลเพราะลำไยไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ราคาลดลง ส่วนอีกปัญหาที่สำคัญและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆคือปัญหาระหว่างล้งกับเกษตรกร ได้รับปัญหาร้องเรียนเรื่องนี้มาทุกปีว่าเกษตรกรโดนเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาไม่เป็นธรรม ตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือเเละแก้ไข”
อีกปัญหาหนึ่งจากการสะท้อนของ ส.ส.เล็ก คือ การขาดเเคลนน้ำในภาคการเกษตร เนื่องจากอำเภอโป่งน้ำร้อนเเละสอยดาว เป็นพื้นที่ค่อนข้างเเห้งเเล้ง ปีไหนหากน้ำไม่เพียงพอ เกษตรกรก็จะไม่สามารถปลูกลำไยได้จึงส่งผลกระทบต่อรายได้มาก ในส่วนของทุเรียนนั้นแม้ว่าจะราคาดี แต่ยังคงต้องเน้นหนักในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ เข้มงวดในเรื่องของการตัดทุเรียนอ่อน ซึ่งภายในจังหวัดจัทบุรีได้เตรียมการฝึกอบรมเเละให้ความรู้กับเกษตรกร รวมไปถึงได้บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพทุเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะหากตัดทุเรียนอ่อนเข้าไปในตลาดมากก็จะส่งผลให้ทุเรียนราคาตก ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับเเรงงานข้ามชาติ ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติโควิดทำให้ด่านปิด ส่งผลให้เเรงงานไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ จึงส่งผลกระทบทำให้ขาดเเคลนเเรงงานในการเก็บลำไย สิ่งต้องการผลักดันคือ ในช่วงที่ด่านปิดส่งจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรอบ หากได้วัคซีนเร็วก็จะทำให้าเปิดประเทศได้อีกครั้ง จะเป็นผลดีต่อปัญหาชายแดน ปัญหาเเรงงาน และเศรษฐกิจการเกษตรของภาคตะวันออก
“ขอให้คำมั่นกับประชาชนชาวจันทบุรีว่าจะติดตามมาตรการช่วยเหลือต่างๆอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของสภาที่พวกเรามี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี การสอบถามไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกกรรมาธิการเพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจังและลดผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่มีต่อพี่น้องประชาชนชาวจันทบุรีให้เหลือน้อยที่สุด”
ส.ส.เล็ก ระบุ
ขณะที่ ส.ส. โรจน์ มีมุมมองซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลว่า ทั้งกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงคมนาคมในฐานะที่กำกับดูแลกรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ควรลงมาเป็นเจ้าภาพร่วมในปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออก เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรเมืองจันทบุรีและการส่งออกในหลายวงการ โดยควรต้องเร่งหารือกันเพื่อหาแนวทางที่ทำให้เจ้าของเรือไทยมีแรงจูงใจในการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น เอเชียใต้ เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ต้องพยายามที่จะกำหนดมาตรการจูงใจที่ทำให้เรือขนาดใหญ่ที่มียาว 400 เมตรบรรทุกตู้สินค้าได้ 14,000 TEU เข้ามาเทียบท่า เพื่อเพิ่มปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ให้ได้ จึงจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าในระยะยาวได้
“นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออกถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมากของประเทศไทย สถานการณ์ในปี พ.ศ. 2563 หดตัวลงถึง 6.01% พอเข้าสู่ปี 64 ที่เดือน ม.ค. ทำท่าจะฟื้นตัว เนื่องจากโตเล็กน้อยที่ 0.35% แต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมากลับหดตัวลงที่ 2.59% จึงสะท้อนได้ว่า รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการสนับสนุน และกระตุ้นการส่งออกให้มากกว่านี้ จะปล่อยให้การฟื้นตัวเป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้”
สำหรับปัญหาภัยเเล้งเนื่องจากการขาดเเคลนน้ำภาคการเกษตร จากกรณีที่ได้ลงพื้น ลำคลองตาเลาะซึ่งพบว่าแห้งขอดไปแล้วนั้น ก็เป็นข้อสังเกตเล็กว่า ก่อนหน้านี้มีงบประมาณให้ทหารมาขุดลอกคูคลอง เเต่สงสัยว่าอาจไม่ได้ดำเนินการจริงจึงมีร่องรอยหลักฐานให้ปรากฏ จากที่คุยกับ ส.ส.เล็ก จะไปประสานกับทางเทศบาลที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีความคืบหน้าก็จะนำตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป หรืออาจนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้ไปหารือกับทางพรรคเพื่อจัดคาราวานก้าวไกลสัญจรลงพื้นที่เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากบุคลากรของพรรคมีหลายภาคส่วนที่จะสามารถช่วยขบคิดในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการได้