free geoip

ตัวถ่วงประเทศ ‘ก้าวไกล’ ซัดแหลก ส.ว.- รบ. ต้นเหตุทำสภาล่ม หวังยื้อประชามติ เหน็บเหลือสภาเดี่ยวสมศักดิ์ศรีกว่า


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรมรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมเเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…. เรียกนับองค์ประชุม เเละปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ต้องปิดประชุมเพื่อไปรอพิจารณาอีกครั้งในการเปิดสมัยประชุมสภาสามัญในเดือนพฤษภาคม


ณัฐชา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่คิดไม่ฝันว่าการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งเราเปิดการประชุมวิสามัญเช่นนี้ถึงสองครั้ง ไม่ต้องพูดถึงงบประมาณในการจัดประชุม ครั้งที่เเล้วมีการถ่วงเวลาในการโหวตในมาตรา 9 ส่วนในครั้งนี้เหลืออีกเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้นการพิจารณาก็จะเสร็จสิ้น เพราะได้พิจารณาไปถึงหมวดที่ 8 มาตราที่ 54 จากทั้งหมด 9 หมวด 67 มาตรา แต่กลับมีเหตุองค์ประชุมไม่ครบในช่วงท้ายจนทำให้สภาต้องล่ม ซึ่งเวลาเดียวกันก็ยังเห็นอยู่ว่า ส.ส.รัฐบาล เเละ สว.หลายท่านนั่งรับประทานอาหารอยู่ในห้องอาหาร ด้านหน้าห้องประชุม รวมไปถึงที่นั่งอยู่ด้านในห้องประชุมแต่ไม่ได้กดเเสดงตน


“พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่ามีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญถึงสองครั้ง และต้องลากยาวไปครั้งต่อไปในสมัยสามัญ หรืออาจจะวิสามัญอีกครั้งก็เเล้วเเต่ แต่ต้องถามว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำไมมันเข็นยากขนาดนี้ มีกลุ่มบุคคลใดที่ไม่ได้ดั่งใจ แล้วไม่อยากให้ผ่านหรือไม่ วันนี้สภาผู้แทนราษฎรในส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้เสนอมาจากฝ่ายรัฐบาลเอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติ หากกฎหมายฝ่ายรัฐบาลไม่ผ่านหรือมีอันต้องตกไป อาจจะต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้น แต่วันนี้เพื่อนสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคให้ความร่วมมือเต็มที่ เราอยู่กันเเน่นสภา เรามีการลงมติแสดงตนให้ เเต่ก็มีการตีรวนจากเพื่อนสมาชิกทั้งฝั่งวุฒิสภาเเละรัฐบาล ทั้งที่วันนี้เรากำลังพิจารณาให้ผ่านกฎหมายสำคัญของประเทศ”


ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า เวลานี้ทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างไปในทางไม่สู้ดีนัก การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเเละรัฐบาลผ่านมาเดินเกินครึ่งทางเเล้ว แนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เริ่มชัดเจนเเล้วรอเพียงเรื่องเกี่ยวกับการทำประชามติ แต่ความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจที่จะทำให้ พ.ร.บ.ประชามติ เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญไม่มีเลย แบบนี้จะดำเนินการต่อไปเพื่อตอบสนองความหวังของประชาชนได้อย่างไร


ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…. กล่าวว่า ขอกล่าวเป็น 4 ประเด็นหลัก ประเด็นเเรก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นกฎหมายว่าด้วยการประชามติ เนื่องจากเราเห็นว่ากฎหมายเก่าที่รองรับรัฐธรรมนูญ 60 ได้สิ้นผลไปเเล้ว ไม่สามารถนำมารองรับในการทำประชามติในครั้งนี้ได้ แน่นอนว่าตนไม่ได้เห็นด้วยในที่มาของรัฐธรรมนูญปี 60 แต่อย่างน้อยรัฐธรรมนูญ 60 ในหมวดหมู่ว่าด้วยการทำประชามติ มี 2 ประการ คือ ทำประชามติเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 และในการทำประชามติในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร ดังนั้นเราไม่มีอำนาจในการทำประชามติในทุกระดับ เหตุดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่รัฐบาลต้องเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเพราะพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาส


“พรรคก้าวไกลเเละพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง มีการยกร่างพระราชบัญญัติประชามติ เเต่เราไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาได้เพราะคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตีความว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป และต้องมีการพิจารณาร่วมของรัฐสภา ซึ่งกฎหมายนี้มีการพิจารณาถึงสามครั้ง กรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลจึงต้องมีคำตอบกับประชาชนว่าไม่ต้องการให้มีการทำประชามติใช่หรือไม่”


ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวอาจจะไม่เห็นด้วยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4 /2564 เเต่ในคำวินิจฉัยฉบับนั้น มีเรื่องสำคัญยิ่ง คือ ระบุว่าอำนาจในสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเป็นของประชาชน ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนในการทำประชามติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดในวันนี้ ในประเด็นต่อมา เราได้ผ่านสาระที่สำคัญในมาตรา 9 รูปแบบออกเสียงประชามติ เเละมาตรา 10 การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องดำเนินอย่างไรมาเเล้ว และสิ่งที่สำคัญคือในมาตรา 11 วรรค 2 คือการเข้าชื่อของประชาชนจัดให้มีการทำประชามติ ซึ่งเราเสนอให้ใช้ 10,000 รายชื่อ เเต่เราเเพ้ฝ่ายรัฐบาลเเละ ส.ว.ที่เสนอให้ใช้ 50,000 รายชื่อ อย่างไรก็ตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ต้องมีการพิจารณาแยกเเต่ละสภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


“ผมเคารพเพื่อนพรรคการเมืองที่ติดโควิด เเต่พรรครัฐบาลที่เหลือ องค์ประชุมที่เหลือกลับมีเพียง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ถ้าเป็นแบบนี้ที่จริงมีแค่เพียงสภาเดียวก็เพียงพอ และต้องขอถามพรรคพลังประชารัฐว่าจะเอาอย่างไรต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้เสนอ”


ประเด็นที่สาม สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้ามาร่วมประชุมเนื่องจากหลังจากนี้จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดทั้ง 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญถอดผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ ไปให้กระทรวงสาธารณสุข ดูเเลในศูนย์พักฟื้น เพื่อให้สังคมยอมรับว่าเขาเป็นผู้ป่วย เเต่กรณีที่เกิดขึ้นกลับทำให้ไม่ได้พิจารณาต่อ จึงเป็นการเสียโอกาสไป


ณัฐวุฒิ กล่าวในประเด็นสุดท้ายว่า จะเห็นว่า บทบาทของพรรคฝ่ายค้านเเสดงความเป็นเอกภาพในการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เเต่เรากลับไม่เห็นการกระทำเช่นนี้ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา เเละพรรคร่วมรัฐบาล พรรคก้าวไกล ยืนยันที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มาจากอำนาจสถาปนาของประชาชนโดยเเท้จริง

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า