จากระลอกแรกถึงระลอกใหม่ ‘ณัฐวุฒิ บัวประทุม’ รำลึกครบรอบปี ‘ปลายฝน’ หญิงสาววัย 19 ปี ผู้จบชีวิตตนเองด้วยผลกระทบจากโควิดที่ไร้รัฐเหลียวแล เตือนอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ต้องเร่งช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุด้วย
“อีกสามวันจะครบรอบ 1 ปีการฆ่าตัวตายของคุณปลายฝน อ่ำสาริกา หญิงสาวอายุเพียง 19 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตลงภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกแรก และไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล พรรคก้าวไกลเองไม่เคยลืมกรณีดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4 เจ้าของพื้นที่ ติดตามสภาพครอบครัว โดยเฉพาะบุตรของคุณปลายฝนเป็นระยะ เพราะเห็นว่ากรณีนี้เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนความผิดพลาดของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้ร้บผลกระทบจากโควิดระลอกแรก เหมือนที่เกิดขึ้นอีกหลายกรณีจนมีการฆ่าตัวตายมากเป็นประวัติการณ์”
ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกแรกจนถึงระลอกใหม่ว่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ การเข้าถึงวัคซีน การตกงาน การเข้าไม่ถึงการเยียวยาต่างๆ ที่พรรคได้นำเสนอไปแล้ว
อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบทางสังคม ทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย ตลอดจนผลกระทบต่อเด็กที่ต้องอยู่บ้านเนื่องจากโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กต้องปิดตัวลง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งประสานงานท้องถิ่น อสม. และ อพม. ปรับระบบคัดกรองและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเชิงรุกโดยเร่งด่วนเป็นรูปธรรม ก่อนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนปีที่ผ่านมา
สำหรับการติดตามการทำงานของรัฐบาลและแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยพรรคก้าวไกลนั้น ณัฐวุฒิ ระบุว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคได้มอบหมายการดำเนินการต่างๆโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ดูแลผลกระทบและการแก้ปัญหาเชิงมหภาค โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ติดตามการทำงานของรัฐบาลด้านสุขภาพ วัคซีน การดูแลผู้ป่วยและผู้มีภาวะเสี่ยงต่างๆ สุเทพ อู่อ้น, ทวีศักดิ์ ทักษิณ และ วรรณวิภา ไม้สน ติดตามการแก้ปัญหาการตกงานและการเยียวยาของรัฐบาลต่อผู้ใช้แรงงาน
สำหรับณัฐวุฒิ, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.เขตบางขุนเทียน, สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 เป็นต้น ได้รับมอบหมายให้ติดตามการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนทำงานกลางคืน พนักงานบริการ ศิลปิน นักดนตรี และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่อาจตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือ โดยพรรคก้าวไกลจะใช้ ส.ส. และองคาพยพของพรรคทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดประสานการทำงานอย่างเป็นระบบ
“การทำงานของพรรคก้าวไกลมิใช่เป็นไปเพื่อจับผิดการทำงานของ รบ. และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกันอย่างหนัก แต่ต้องการเสนอแนะการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งปัญหาระยะสั้น เช่น การจัดหาและฉีดวัคซีน การหาเตียงให้กับผู้ป่วย ตลอดจนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำเป็นของรัฐบาล อีกทั้งต้องการเสนอการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติในระยะยาว โดยเฉพาะการใช้งบประมาณปี 2565 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในปลายเดือน พ.ค.นี้”
สำหรับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสังคมที่ได้รับมอบหมาย ทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย ตลอดจนผลกระทบต่อเด็กที่ต้องอยู่บ้านเนื่องจากโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กต้องปิดตัวลงนั้น ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ในการระบาดระลอกแรกจะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างไม่เป็นระบบ มีหลายกรณีที่ได้รับการประสานงานหรือร้องเรียนมา ต้องใช้วิธีประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพ้ฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบางครั้งเป็น ส.ส.ในพื้นที่เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบปีที่ผ่านมา ก็จะเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์ เช่น ผู้ป่วยติดเตียงที่ขาดอาหาร ยา หรือบางครอบครัวที่ตกงานจนนำไปสู่การที่พ่อหรือแม่หรือลูกหรือคนในครอบครัวต้องฆ่าตัวตาย เชื่อว่าทุกคนก็คงเจ็บปวดและไม่อยากให้เกิดขึ้นแบบกรณีของ “ปลายฝน” อีก โดยตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่เริ่มมีเรื่องร้องเรียนแบบนี้เข้ามาเป็นระยะ ดังเช่นเมื่อวานนี้ก็มีผู้ร้องเรียนกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้ประสานงานกับผู้ใหญ่ของกระทรวง พม.ให้เร่งเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ
“ด้วยสถานการณ์แบบนี้ จะรอตั้งรับจนกว่าจะมีผู้มาแจ้งหรือร้องเรียนก่อนไม่ได้ แต่ต้องทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) ปรับระบบการคัดกรองและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการทำงานเชิงรุกต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ โดยเร่งด่วนเป็นรูปธรรม ให้สมกับที่เคยประกาศว่า ‘จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ก่อนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนปีที่ผ่านมา”