“พรรคพลังประชารัฐ โดยคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ ได้ออกมาโต้ตอบว่า ที่พรรคก้าวไกลประกาศไม่รับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของตนนั้น เป็นเพราะพรรคก้าวไกลได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว จึงไม่ต้องการให้เปลี่ยนกลับไปเป็น ‘ระบบบัตรสองใบ’
“ขอชี้แจงว่าพวกเราพรรคก้าวไกลเล็งเห็นและตระหนักเป็นอย่างดีถึงปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบปัจจุบัน ในประการหนึ่งก็คือการคิดคำนวณที่เปิดให้บางพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่จะพึงมี ส.ส. กลับได้ส่งคนของตัวเองเข้ามาในสภา ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ ‘พรรคประชาชนปฏิรูป’ ของคุณไพบูลย์ ที่พอได้เข้าสภามาแล้วก็ยุบพรรคตัวเองแล้วเข้าไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐอย่างแนบเนียน แต่เหตุที่เราไม่อาจยอมรับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐได้ นั่นก็เพราะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงการ ‘เปลี่ยนวิธีการเพื่อชนะ’ ของพวกเขาเองเท่านั้น”
รังสิมันต์ โรม ตอกย้ำสารสำคัญจากแถลงการณ์ 28 เมษายน 2564 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นอกจากมีการเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุติบทบาทของตัวเองแล้ว ในส่วนของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ยังได้ขยายความเน้นย้ำไปถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. และเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้ ‘รัฐบาลที่ไร้ศักยภาพ’ ที่สุดมาบริหารสถานการณ์ที่วิกฤตที่สุดในเวลานี้ โดยสิ่งที่คณะผู้สืบทอดอำนาจรัฐประหารกำลังทำต่อไปก็คือ การฉวยโอกาสจากวาระที่ประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการหยิบมาเพียงบางมาตราเพื่อแก้ไขโดยใช้จุดร่วมบางอย่างมาแทรกเป็นวาระทางสังคมในการคงการสืบทอดอำนาจ คสช. ต่อไป ภายใต้ความได้เปรียบที่พรรคพลังประชารัฐมีอยู่ในมือ
“ตอนที่ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวเปิดเผยออกมาในร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ คสช. อวดอ้างเสียดิบดีว่าเป็นระบบที่ให้ทุกเสียงของประชาชนมีความหมาย ทุกคะแนนที่กาไปถูกนับ ซึ่งสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และระบบเลือกตั้งแบบนี้ก็กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้พรรคของ คสช. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ในวันนี้ เมื่อพรรค คสช. ดูดนักการเมืองในแต่ละพื้นที่มาได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นพรรคที่มีเครือข่ายอิทธิพลไปทั่วประเทศ ก็หันหลังกลับ 180 องศา ทิ้งระบบที่เคยยกย่องหนักหนาไปเป็นระบบอื่นที่ตัวเองได้เปรียบกว่า ในขณะที่ประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ของรัฐธรรมนูญนี้ ที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ยังคงอยู่ครบถ้วน”
รังสิมันต์ โรม ยังชี้ให้เห็นต่อไปว่า ไม่ว่าระบบเลือกตั้งแบบไหนสรุปแล้วล้วนแต่ไม่เคยมีคุณค่าที่แท้จริงในสายตาของคนพวกนี้ หลักการใดๆ ที่แสดงความยึดโยงกับประชาชนที่เคยอ้างไม่ได้สำคัญเท่ากับการ ‘เป็นเครื่องมือ’ เพื่อให้ได้ ส.ส. เข้าสภาให้มากที่สุดตามแต่ละสถานการณ์ หากในวันข้างหน้าสถานการณ์เปลี่ยน สภาพของพรรคตัวเองเปลี่ยน ก็คงจะหาทางเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ พฤติกรรมกลับกลอกเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
สำหรับรายละเอียดการแถลงของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ได้เรียกร้องถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อความล้มเหลวในการบริหารประเทศด้วยการลาออกและยุติบทบาท รวมถึงเรียกร้องให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต่อไปด้วยการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้มีผลบังคับใช้ เพื่อจัดทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จำเป็นต้องเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการเดินหน้ายกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นต้นตอในการได้มาและมีอยู่ของรัฐบาลที่ไร้ความสามารถและการเพิกเฉยต่อความไม่พอใจของประชาชนชุดนี้
โดยพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า เราจะไม่ขอรับข้อเสนอใดๆที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาโดยตลอด มีอำนาจเต็มมือแต่ไม่สามารถบริหารจัดการได้
“และขอเรียกร้องให้พรรคร่วมฝ่ายค้านให้ร่วมมือกันตัดตอนวงจรการสืบทอดอำนาจนี้ เพื่อคืนอำนาจสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์