free geoip

‘สภาไทย’ เอาไงดี เมื่อการประชุมออนไลน์ยังไม่เกิดขึ้นจริง


“เสียงของ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการใช้ช่องทางออนไลน์สำหรับการประชุมระดับสภาผู้แทนราษฎร แถมการประชุมกรรมาธิการออนไลน์ ยังไม่อนุญาตให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ร่างกฎหมายต่างๆได้อีก!!

“ขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติที่ค้างการพิจารณา ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญมากมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ. อ้อยน้ำตาล, ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม, ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจ เป็นต้น ที่หยุดการประชุมมานานร่วมเดือนแล้ว อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด

“นี่คือความสูญเสียโอกาส ในการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว นี่คือความล้าหลัง เมื่อเทียบกับนานาอารยประเทศ”


พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะวิปพรรคก้าวไกล แสดงความกังวลต่องานด้านนิติบัญญัติซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้ว่าเมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) ประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ระบุว่าได้เตรียมการเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในปลายเดือนนี้พร้อมวางมาตรการอย่างเข้มงวด แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่มีทีท่าว่าจะไม่ดีขึ้นในเร็ววัน ก็อาจทำให้การประชุมสภาสามารถชะงักลงไปได้ในทุกขณะ


ประเด็นสำคัญก็คือเวลานี้ สภาไทยยังไม่มีข้อบังคับสำหรับ ‘การประชุมออนไลน์’ ในระดับสภาผู้แทนราษฎรออกมารองรับสถานการณ์ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเลย แตกต่างจากในหลายประเทศที่มีการแก้ไขให้เกิดข้อบังคับขึ้น จึงทำให้สามารถดำเนินงานด้านนิติบัญญัติต่อไปได้แม้จะมีสถานการณ์ระบาดโควิดสูงก็ตาม https://www.facebook.com/PhicharnFWP/posts/1648760005294757


ในเรื่องนี้ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล เคยกระทุ้งไปยัง นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 มกราคม หรือต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ยังคงไม่มีสัญญาณคืบหน้าสวนทางกับสถานการณ์ที่เข้มงวดขึ้นทุกที เพราะอย่าลืมว่าการประชุมสภาในแต่ละครั้งยังหมายถึงคณะทำงานของรวมถึงเจ้าหน้าที่สภาอีกจำนวนมากที่ต้องมารวมกัน และวัคซีนยังไม่ได้ถูกจัดลงไปให้ถึงระดับพวกเขาทั้งหมด


การเปิดประชุมสภาในสถานการณ์การของโรคระบาดรวมไปถึงสถานการณ์ใดก็ตามที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ เราจะต้องทำให้มีการเปิดประชุมออนไลน์อย่างมีศักยภาพ ซึ่งเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลได้พยายามเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาให้สามารถประชุมออนไลน์ได้ตั้งแต่ปีก่อน แต่จากหนังสือด่วนที่สุดเลขที่ ‘สผ 0014/4812’ ลงวันที่ 1 มิ.ย. 63 ตอบกลับจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ รับแจ้งว่า คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้อำนาจของประธานสภาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการวินิจฉัยว่า ญัตติที่พวกเราได้เสนอให้เป็น ‘เรื่องด่วน’ โดย ขอให้สภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขข้อบังคับฯ เพื่อการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น กลายเป็น ‘เรื่องไม่ด่วน’ ผลก็คือการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ยังทำไม่ได้ในเวลานี้


“แต่เราจะละเลยการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนในยามที่ประชาชนต้องการที่พึ่งเช่นนี้ไม่ได้ และคงต้องถามต่อว่าใครกันที่ทำให้เรื่องนี้ยังทำไม่ได้ หรือใครกันแน่ที่ยังพยายามไม่พอ อย่าอ้างว่าคาดไม่ถึงว่าจะมีโรคระบาดอีกระลอก เพราะเรื่องนี้ผู้เชียวชาญทางการแพทย์ก็เตือนมาตลอด ตราบใดที่ทั่วโลกยังไม่หยุดการระบาดประเทศไทยคงเลี่ยงระลอกสองไม่ได้ ในขณะที่อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการยังคงทำงานได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเราในฐานะตัวแทนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพยายามหาข้ออ้างต่างๆนานาเพื่อหยุดการทำงานของตัวเอง เราเป็นตัวแทนของประชาชนต้องพยายามหาทางทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้เสียเวลาไปด้วยการนั่งมองปัญหาอยู่ที่บ้าน” ณัฐชา ระบุ


ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลพยายามผลักดันให้การเปิดสภาสามารถเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างปลอดภัยที่สุดในหลายทาง ด้านหนึ่งคือการสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ ส.ส. และบุคลากรในสภา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดการส่งเสริมสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด กระทั่ง ประธานรัฐสภาเองก็ปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนประหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเพิ่งจะมาเริ่มขยับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงทำให้ฉุกละหุกต่อการวางแผนต่างๆมากยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่การเปิดสภาได้ยาก


สาเหตุที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับวัคซีน เพราะ ‘รัฐสภา’ คือสถานที่ทำงานด้านนิติบัญญัติของ ส.ส. 500 คน จาก 350 เขต แม้ว่ามีจะหยุดการประชุมสภาในช่วงปิดสมัย แต่ในฐานะตัวแทนประชาชนไม่สามารถหยุดเข้าไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนได้ ในหนึ่งวัน ส.ส. อาจต้องเจอคนเป็นร้อย หากประเมินจากจำนวน ส.ส. และทีมงาน ตลอดเวลาที่ผ่านมาอาจต้องพบปะคนนับแสน หรือเรียกว่าอาจเกิดเป็น ‘คลัสเตอร์’ ขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อไหร่ได้ทันทีที่มีการพบปะกันในสภา เนื่องจากสภาเป็นพื้นที่กลางของตัวแทนคนจากทั้งประเทศมาพบเจอและปฏิสัมพันธ์ ทั้งในระดับกรรมาธิการและการประชุมใหญ่ การที่สภาไม่เร่งหรือให้ความสำคัญเรื่องวัคซีนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยบอกว่าให้แพทย์ฉีดก่อนจึงเป็นเรื่องที่สร้างความเสี่ยงต่อสถานการณ์ทางสาธารณสุขได้ ‘การฉีดวัคซีน’ จึงควรเป็นความรับผิดชอบของ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภา หน่วยงานราชการต่างๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ไม่สามารถหยุดการทำงานได้ และยิ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าสถานการณ์โควิดวิกฤติขึ้นจะต้องหยุดงานไปก่อน ทางที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนให้ครบแต่แรก แต่ขณะนี้เมื่อไม่สามารถทำการฉีดได้ทัน การ ‘ประชุมออนไลน์’ เป็นอีกทางออกที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว


ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเคยเสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ให้สามารถทำการประชุมแบบออนไลน์ได้ ตั้งแต่หลังการระบาดระลอกแรก


จากการสำรวจของ IPU ตั้งแต่ ก.ค. ปีที่แล้ว รัฐสภาหลายประเทศปรับตัวเพื่อเดินหน้าทำงานในช่วงโควิดอย่างท้าทาย IPU รายงานว่า 17% ของรัฐสภาในกลุ่มประเทศสมาชิกทั่วโลก ประชุมสภาฯออนไลน์, 36% ใช้วิธีการลดจำนวนสมาชิกในการเข้าประชุมสภาฯ, 47% ประชุมกรรมาธิการออนไลน์


ในเรื่องนี้ พิจารณ์ ชี้ว่า หากเชื้อโควิด19 ที่กลายพันธุ์ นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ จนวัคซีน Gen1 ที่มีอยู่ในปัจจุบันเอาไม่อยู่ แล้วสภาผู้แทนราษฏรจะทำงานกันอย่างไร ดังนั้น เขาจึงได้เสนออีกครั้งว่า


“ทางรับมือคือ ในการเปิดประชุมสภาที่กำลังจะเริ่มในปลายเดือนนี้ สภาควรเร่งแก้ไขข้อบังคับประชุมสภา อย่าปล่อยให้งานนิติบัญญัติหยุดชะงัก เพียงเพราะเราไม่ยอมปรับตัวตามสถานการณ์ และทลายข้อจำกัด เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ”


ส่วนคำตอบ… คงต้องรอฟังชัดๆ จาก ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาอีกครั้งว่า ถึงตอนนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลกังวลจะถือเป็นเรื่องด่วนในสายตาของท่านแล้วหรือยัง !?

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า