“จากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 16,000 กว่าล้านบาท ในปีนี้อาจ เหลือประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท คือหายไปเกือบครึ่ง ถ้ายังบริหารทรัพยากรแบบนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะตามมาไม่เเพ้กับปัญหาสาธารณสุข”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวขึ้นระหว่างนำ ‘ทีมสิ่งแวดล้อมก้าวไกล’ ล่องเรือสำรวจแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ตลอดสองริมฝั่งน้ำ มีโรงงานอยู่มากพอสมควร เฉพาะในเขต 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี ส.ส. ทองแดง เบญจะปักษ์ จากพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนมีโรงงานกว่า 3,000 แห่งจำนวนนี้มีมากกว่า 200 แห่ง ที่มีรายงานพบการปล่อยน้ำเสียลงเเม่น้ำโดยไม่ได้มีการบำบัด
“สมัยที่งบประมาณยังมากกว่านี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พี่น้องประชาชนชาวสมุทรสาครยังคงได้รับผลกระทบ ดังนั้น หากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมปีนี้ลดลงไปอีกเกือบครึ่งจะมีผลต่อมาตรฐานและคุณภาพสิ่งแวดล้อมขนาดไหน
“พรรคก้าวไกล เมื่อพูดเรื่องสิ่งเเวดล้อม มันมีความหมายครอบคลุมหลายอย่าง ในอีกมุมก็คือ เรื่องเศรษฐกิจ หลายประเทศกำลังฟื้นฟูหลังโควิดเขาเอาสิ่งเเวดล้อมเป็นตัวนำ เพราะถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง และปัญหาสิ่งเเวดล้อม ก็เป็นปัญหาเดียวกับสาธารณสุข การแก้ไขปัญหาแบบเดิมไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางใหม่ที่มีความมั่นคงทางสาธารณสุขและความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมเป็นด้านหลัก การจัดลำดับความสำคัญทางงบประมาณจะไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารอย่างในอดีต ดังนั้นรัฐบาลเเละรัฐสภาเองจะต้องมีความพร้อมด้านนี้เป็นพิเศษ ซึ่งการจะเตรียมความพร้อมได้ก็ต้องลงมาสัมผัสให้เห็นจริงด้วยตัวเอง”
ด้าน ทองเเดง กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาคร แม้จะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก เเต่สามารถสร้างรายได้ทางด้าน GDP เป็นอันดับ 8 ของประเทศ สิ่งสำคัญที่พบในวันนี้คือการบริหารงานอันล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งด้านสาธารณสุข เเละสิ่งเเวดล้อม ในวันนี้พรรคก้าวไกลได้มาลงพื้นที่พร้อมนำปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปขับเคลื่อนต่อในคณะกรรมาธิการและในการอภิปรายงบประมาณที่กำลังจะมีขึ้นต่อไป
ในฐานะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งเเวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณปากอ่าวเเละบริเวณแม่น้ำท่าจีน ตลอดเส้นทางพบเห็นปัญหาสิ่งเเวดล้อมในหลายประเด็น อาทิ เรื่องของน้ำเสีย ทั้งในภาคครัวเรือนเองเเละภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีการบำบัด จะเห็นเเนวทางเป็นน้ำสีดำตลอดลำน้ำ อีกเรื่องที่สำคัญที่จะต้องกล่าวถึงคือปัญหาดินตะกอนที่ทับถมกันจำนวนมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันก็มี เเต่มันไม่ตอบโจทย์ นั่นคือการใช้วิธีเอาเรือตักตะกอนเสร็จเเล้ว ใส่เรือบรรทุกไปทิ้ง
“การนำตะกอนใส่เรือไปเเล้ววิ่งไปบริเวณปากอ่าวและเทตะกอนเหล่านั้นลงไป หรือแค่ตักตะกอนอีกที่หนึ่ง เเล้วนำไปเทอีกที่หนึ่ง เมื่อทิ้งลงไปตะกอนก็ตีกลับมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องมีความชัดเจนว่าตะกอนที่ตักขึ้นมานั้นมีปริมาณเท่าไร และหากตักขึ้นมาเเล้วไม่ทิ้งในแม่น้ำสามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้หรือไม่ ในกรณีนี้จะนำไปศึกษาต่อในคณะกรรมาธิการที่ดิน ฯ และอภิปรายในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม”
“ฝากเป็นคำถามล่วงหน้าว่า รัฐบาลรู้ปัญหาและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งเเวดล้อมจริงหรือไม่ จากงบประมาณกว่า 3.1 ล้านล้านบาท งบประมาณสิ่งเเวดล้อม ปีนี้เหลือประมาณ 8,500 ล้านบาท หรือประมาณ 3.9 % ของงบประมาณทั้งหมด นั่นคือสำหรับปัญหาสิ่งเเวดล้อมทั้งประเทศ แต่เอาแค่จังหวัดสมุทรสาครเพียงจังหวัดเดียว งบประมาณจำนวน 8,500 ล้านบาท จะแก้ไขปัญหาสิ่งเเวดล้อมทั้งระบบเพียงพอหรือไม่ อยากให้มองว่าสิ่งเเวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่รอประชาชนเจ็บป่วยก่อน เเล้วจึงมาให้ความสำคัญ การเป็นรัฐบาลต้องจริงจังกับปัญหาสิ่งเเวดล้อมจริงด้วย”
เรื่องการตรวจสอบการทุจริตในการใช้งบประมาณเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญและฉุดรั้งไม่ให้การแก้ปัญห่สิ่งแวดล้อมถูกทะลวงไปได้
ในเรื่องนี้ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตเเละประพฤติมิชอบ สภาผู้เเทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการบริหารงบประมาณด้านสิ่งเเวดล้อมของรัฐบาลภายหลังการลงพื้นที่สำรวจบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนว่า ตลอดเส้นทางได้พบเห็นเกี่ยวปัญหาการใช้งบประมาณในการขุดลอกเเม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะเป็นร่องน้ำที่เรือจะต้องเเล่นเข้าไป งบประมาณที่ใช้บริเวณดังกล่าว ประมาณ 135 ล้านบาท แต่กระบวนการใช้มีข้อสงสัยในหลายประเด็น อาทิ การใช้เรือตักตะกอนในเเม่น้ำ เเล้วนำใส่เรือขนาดใหญ่นำไปทิ้งห่างจากบริเวณดังกล่าว 15 กิโลเมตร บริเวณปากอ่าว กรณีดังกล่าวเป็นการแก้ไขการใช้งบประมาณจำนวน 100 กว่าล้านอย่างมีประสิทธิภาพเเละเป็นที่สงสัยหรือไม่
“การขุดลอกคลองตรวจสอบไม่ได้เลยว่าขุดในปริมาตรเท่าไร ในพื้นที่เท่าไร เพราะมันอยู่ใต้น้ำทั้งหมด การเอาไปทิ้งในส่วนของ 15 กิโลเมตรตรงบริเวณปากอ่าวขึ้นมา พอคลื่นซัดมันก็จะกลับมาทับถมบริเวณเดิม การใช้งบประมาณดังกล่าว เข้าใจว่าเป็นการตรวจสอบที่ยาก ซึ่งส่อการทุจริตเเละประพฤติมิชอบได้อย่างสูง แต่วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ก็เหมือนการสูญเปล่าโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
ธีรัจชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังเห็นเรือประมงขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เเละขนาดเล็กจอดขนาบสองฝั่งแม่น้ำจำนวนมาก โดยได้สอบถามบุคคลในพื้นที่ระบุว่า เรือประมงเหล่านี้ถูกยึดจากกรณีที่รัฐบาลทำข้อตกลงเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ( IUU ) และนำจอดทิ้งไว้
“สิ่งที่เห็นก็คือ เรือประมงที่สามารถจะทำเศรษฐกิจ คือ หาปลาดำเนินการจ้างงาน นำวัสดุมาขายแปรรูปต่างๆ เป็นผลผลิตเป็นลูกโซ่ แต่ได้ถูกจอดเเช่เเข็งเท่าที่เห็นด้วยตามีจำนวนหลายลำซึ่งถูกจอดยึดไว้ไม่น้อยกว่า 5ปี เรือประมงจำนวนไม่น้อยได้จมลงต่อหน้าต่อตาเจ้าของตรงนั้น นั่นคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายระหว่างประเทศทำได้ แต่คำถามคือเหตุใดต้องทำลายเศรษฐกิจด้านประมง เหตุใดไม่สามารถหาวิธีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบในส่วนนี้เพื่อไม่ให้สูญเปล่า มูลค่าเรือประมงจำนวนหลายร้อยล้านบาท ถูกนำมาขายเพียง 500,000 บาท มันเป็นความสูญเสียอย่างเยียวยาไม่ได้”
ธีรัจชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเรื่องของสิ่งเเวดล้อมจะพบว่า ฝั่งตรงข้ามที่จอดเรือประมงเนินตะกอนตื้นเขิน เนื่องจากการไหลของน้ำจะซัดไปอีกฝั่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าจะทำให้น้ำในแม่น้ำท่าจีนตื้นเขิน ทำให้เกิดการเสียสมดุลของธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมในแม่น้ำท่าจีน ทำให้แม่น้ำท่าจีนจะต้องถูกขุดลอกโดยไม่มีที่สิ้นสุด นะ่นเป็นเพราะวิธีการแก้ไขของรัฐบาล คือ เน้นการจับกุม เน้นการเอามาทิ้งไว้ เเต่ไม่ได้แก้ไขหาการจัดการที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นจึงเป็นเหตผลว่า ทำไมถึงรัฐบาลจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการประมงของไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมได้ นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงที่จะต้องตรวจสอบเเละนำไปดำเนินการในคณะกรรมาธิการต่อไป