free geoip

100 ปีของลูกหนี้ที่ถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม




ดอกบาน ต้นไม่ลด 100 ปี ของ ‘ลูกหนี้’ ที่ถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ‘ก้าวไกล’ ชี้ เป็นหน้าที่ของรัฐในการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความเป็นธรรมกับลูกหนี้ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ



ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประเดิมอภิปรายเปิดสมัยประชุมสภาเป็นคนแรกของพรรคก้าวไกล ด้วยการอภิปราย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ พ.ศ. 2564

โดยระบุว่า การแก้ไขกฎหมายนี้จะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นไม่ว่าการคำนวนดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือการคำนวนดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ให้ลดลงและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากหรือเงินกู้ก็ถูกปรับลดลงมาจากเดิมมากแล้ว

“แต่ต้องบอกว่าเป็นความเป็นธรรมที่ล่าช้า ประชาชนต้องรอเกือบ 100 ปี เพราะกว่า 95 ปีที่ได้มีการออกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยดอกเบี้ยในกรณีที่ไม่ได้บรรจุไว้ในสัญญาที่ 7.5 % ออกมาตั้งแต่ปี 2468 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดนั้น แค่ผิดนัดงวดเดียวก็ถูกคิดจากเงินต้นที่เหลือทั้งหมด เป็นการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้อย่างมากและกรณีความเสียหายก่อนหน้านี้ต้องถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

ศิริกัญญา ยังได้ยกกรณีเป็นตัวอย่างว่า สมมติกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ต้องผ่อน 20 ปี เป็นจำนวน 240 งวด แล้วไปผิดนัดงวดที่ 25 ขณะนั้นเงินต้นที่เหลือคือ 4.77 ล้านบาท เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยจากยอดนี้ได้ แต่ความเป็นจริงควรจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินต้นที่ผิดนัดในงวดนั้นๆ ซึ่งกรณีนี้เงินต้นในงวดนั้นแค่ 10,000 บาท ดังนั้นภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินต้นต่างกันมาก จากเดิมต้องเสียหลักหมื่นจะเหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น

“ที่ผ่านมามีลูกหนี้จำนวนมากต้องแบกภาระไม่เป็นธรรมนี้ ลูกหนี้ที่ผิดพลาดเพียงหนึ่งครั้งหรือไม่กี่ครั้งกลับต้องรับภาระหนี้พอกพูน มีลูกหนี้กี่รายกลายเป็นหนี้เสีย ทั้งที่เขาไม่ต้องการขาดส่งแม้แต่งวดเดียว แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปและคิดอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือทั้งก้อนแทนที่จะคิดเฉพาะงวดที่ขาดส่ง สุดท้ายเขาก็ผ่อนต่อไม่ไหวเพราะดอกเบี้ยจากการผิดนัดที่คิดคำนวณแบบนี้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ลูกหนี้ส่งค่างวดในวงรอบที่ค้างหนี้ที่ผ่านมา ในแต่ละครั้งที่จ่ายเงินจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยก่อนซึ่งมันบานจากงวดก่อนๆหน้า ส่งไปเท่าไหร่ก็ตัดแต่ดอกไม่ถึงเงินต้นเสียที สุดท้ายลูกหนี้บางรายถอดใจ ท้อที่จะส่งจนกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด”

ศิริกัญญา ยังฝากในอีกประเด็นว่า ลูกหนี้ต้องพิจารณาเช่นกันว่าตนเองมีหนี้กับเจ้าหนี้กลุ่มใด เพราะยังอีกหลายกรณีที่ไม่ได้อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไขครั้งนี้ เช่นกรณีที่มีการทำสัญญากันไว้แล้ว , กรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้โดยเฉพาะ เช่นมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.กยศ. ที่คิดดอกเบี้ยผิดนัดไว้ไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ,ดอกเบี้ยสถาบันการเงิน และที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกบังคับใช้ก็มีเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์หรือกลุ่มไฟแนนซ์ เนื่องจากที่ผ่านมาลูกหนี้บริษัทเหล่านี้จะถูกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระตามอำเภอใจโดยไม่มีมาตรฐานกลางที่พบว่าอาจสูงไปถึง ร้อยละ 36 ก็มี นอกจากนี้ยังบวกมาด้วยค่าทวงถามหนี้และบริการอื่นๆทำให้ไม่มีความเป็นธรรมและไม่มีมาตรฐานกลางให้กับลูกหนี้ได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้มีหลายกรณี เช่นเดียวกับกรณีดอกเบี้ยของ กยศ. ก็อยากฝากไปช่วยแก้ไขประเด็นนี้ด้วย

“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าดอกเบี้ยจัดเก็บจากการผิดนัดชำระสูงมาก การที่แก้ไข พ.ร.ก.ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ลูกหนี้มีจุดอ้างอิงในการเซ็นสัญญาใหม่กับเจ้าหนี้รายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่น่าจะเอามาเป็นแบบอย่างได้ก็คือ การตัดชำระหนี้แบบใหม่โดยตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเก่าที่สุดก่อน แล้วค่อยตัดเงินต้น เพราะเดิมทีการส่งค่างวดจะถูกไปตัดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดก่อนทำให้ส่งเท่าไหร่ต้นก็ไม่ลด กรณีนี้ได้รับข้อร้องเรียนจากลูกหนี้โดยเฉพาะ หนี้ กยศ.เยอะมาก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศใหม่มาจะทำให้มีความเป็นธรรม ลูกหนี้มีกำลังใจ ลดหนี้เสีย และคดีในศาลซึ่งแต่ละปีมีคดีผู้บริโภคมากกว่าสามล้านรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้สินเชื่อ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐไม่ว่ากำกับเจ้าหนี้รายใดขอให้อำนวยความเป็นธรรมกับลูกหนี้ด้วย” ศิริกัญญา ระบุ






ด้าน ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้อภิปรายใน พ.ร.ก. ดังกล่าวว่า สิ่งที่ดีในกฎหมายฉบับนี้ คือเห็นด้วยในกรณีแก้ไขตาม มาตรา 7 หรือการลดดอกเบี้ยต้องเสียจากหนี้ที่ไม่ได้กำหนดในอัตราเงินกู้ต่างๆ ซึ่งในช่วง 95 ปีที่ผ่านมาเราใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 โดยลดเหลือร้อยละ 3 ถือว่าเป็นคุณต่อลูกหนี้ แต่ความจริงแล้วกลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น เกิดขึ้นน้อยมากจากร้อยละ 99 แต่ส่วนที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ที่ วรรค 2 กรณีที่ระบุว่าอาจให้มีการปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยตรง โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเเละให้กระทรวงการคลังพิจารณาทุก 3 ปี ใกล้เคียงเฉลี่ยกับอัตราของดอกเบี้ยเงินฝากเเละกู้ยืมธนาคารพานิชย์

“กรณีนี้เป็นที่สงสัย เพราะเอาหลักการของกฎหมายเฉพาะ คือกรณีของสถาบันการเงินมาวางเป็นหลักทั่วไปของกฎหมาย โดยการคำนึงถึงกำไร ขาดทุน เเละให้เปลี่ยนเป็นกรณีดอกเบี้ยลอยตัว สำหรับดอกเบี้ยประเภทนี้ กรณีเช่นนี้จึงน่าจะคลาดเคลื่อนต่อการคำนึงถึงประชาชนทั่วไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ให้ค่าเฉลี่ยระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ เเละธนาคารพาณิชย์ ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ธนาคารกรุงเทพ ออกดอกเบี้ยเงินฝาก .25 เงินฝากประจำ .5 อัตราสินเชื่อเงินกู้ ธนาคารกรุงเทพ 5.8 MOR 5.2 ดอกเบี้ยสูงสุด 18% ธนาคารทิสโก้ 6.45 mrr 6.7250 สูงสุด 36 % โดยในพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่มีระบุว่า อัตราเงินฝากของเเบบไหน อัตราเงินกู้ของเเบบไหน ดังนั้นกระทรวงการคลังสามารถคำนวนได้ตามอำเภอใจใช่หรือไม่ อัตราเงินฝาก ดอกเบี้ยออมทรัพย์.25 สูงสุด 36 % เฉลี่ยเท่าไร มันก็เกิน 7.5 ได้ในอนาคต ทุก 3 ปีมีการทบทวน ที่สำคัญในส่วนของการออกกฎหมาย ระบุว่าให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่มีภาคตัวเเทนของประชาชนตรวจสอบ

“เชื่อว่ารัฐมนตรีคงไม่เคยลงพื้นที่อย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าข้าราชการกระทรวงการคลังระดับสูงที่คิดเรื่องนี้ไม่เคยลงพื้นที่ไปในชุมชนเพื่อไปดูเกษตรกรต่างๆ แต่พวกท่านน่าจะคลุกคลีกับนายธนาคารมากกว่า จึงเอาวิธีคิดเเบบธุรกิจมาใส่ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ จึงทำให้มีการคิดดอกเบี้ยเเบบลอยตัว สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่หมกเม็ด ดูเหมือนดีกับไม่ดี เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนเหยื่อที่เกี่ยวเบ็ดเเล้วล่อเหยื่อให้ตายใจ พ.ร.ก.ฉบับนี้ มาโดยฝ่ายบริหาร สภาไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า กฎหมายที่กำจัดสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิอื่นๆ ต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเกินกว่าเหตุ เเละจึงนี่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปออกอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่”

ธีรัจชัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ เป็นการออกกฎหมายเพื่อปิดปากและไม่ให้เเก้ไขได้สภาผู้แทนราษฎร ไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของประชาชนได้อภิปรายแก้ไข โดยออกมาเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้ไม่สามารถแก้เนื้อในได้ มีแต่ออกเสียงว่าผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น ก่อนหน้าก็มีการออกกฎหมายลักษณะนี้เกี่ยวกับเรื่องการยอมความในชั้นศาล ก่อนที่มีการฟ้องคดีซึ่งเอื้อต่อกลุ่มทุนให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและเอื้อให้ผู้พิพาษาเร็วขึ้น แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการใช้ช่องทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเอาเข้าเพื่อโหวตให้ชนะ กฎหมายนี้ก็เป็นลักษณะเช่นนั้น อ้างการเเพร่ระบาดของโควิด 19 แต่หมกเม็ด เป็น พ.ร.ก.เอื้อนายทุนเเละเพิ่มภาระให้ประชาชน จึงอยากเสนอสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 หรือไม่


ย้อนรับชมเพลย์ลิสต์เต็มได้ที่นี่ https://www.youtube.com/playlist?list=PL1lgv8WXJu4YfMwCN4DUx53OSgM7ncNVi

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า