วันที่ 7 มิ.ย. 64 ในที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมี 4 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าชี้แจง
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบาง เพราะในปี 63 และ 64 รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้า ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดาน และต้องเอาเงินคงคลังออกมาใช้
“ในปี 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้าถึง 4.3 แสนล้านบาท ทำให้จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บรายได้ 2.73 ล้านล้านบาท จัดเก็บได้จริงแค่ 2.3 ล้านล้านบาท ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลเต็มเพดาน 7 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่พอ ทำให้ต้องนำเงินคงคลังออกมาใช้อีก 1.3 แสนล้านบาท”
“ในปี 2564 ปีนี้ ทำท่าจะซ้ำรอยเดิม จากการคาดการณ์ของ PBO (สำนักงบประมาณของรัฐสภา) ประเมินว่ารายได้ในปี 2564 จะพลาดเป้า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งยังถือว่ามากไปด้วยซ้ำ ทำให้ปีนี้แม้เราจะกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล 7.4 แสนล้านบาท มากกว่าที่ประมาณการไว้เกือบ 3 แสนล้านบาทก็ยังทำท่าว่ากู้แล้วจะไม่พอ เราต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีกราวแสนล้านบาท”
ศิริกัญญาชี้ว่าในปี 64 และ 65 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเก็บรายได้พลาดเป้าจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ
“การตั้งงบประมาณในปี 65 ที่ตั้งกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดานตั้งแต่ต้นทำให้ถ้ามีความเสี่ยงจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแม้แต่ % เดียวก็จะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไม่พอใช้”
นอกจากนี้ ศิริกัญญายัง ระบุว่าการประมาณการรายได้สุทธิอาจพลาดเป้าจาก 1) ผลของการหดตัวของรายได้นิติบุคคล 2) เงินนำส่งรัฐวิสาหกิจที่พลาดเป้า 3) การแพร่ระบาดของโควิดและเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง 4) รายได้และเงินออมของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว และ 5) แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
“ถึงท่านจะจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนแบบนี้ การประมาณการรายได้ก็อาจพลาดเป้าได้ โจทย์คือเราจะมีวิธีออกแบบงบประมาณอย่างไรให้สอดรับกับสถานการณ์”
สุดท้าย ศิริกัญญาแสดงความกังวลถึงสภาพคล่องในระยะสั้นจากดุลงบประมาณและเงินคงคลังที่มีระดับลดลงต่อเนื่อง
“ตัวชี้วัดสภาพคล่องไม่ว่าจะเป็นดุลงบประมาณ และดุลงบประมาณต่อ GDP ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นได้ชัดว่าลดลงมาจนต่ำกว่าเกณฑ์หลายไตรมาสติดต่อกัน ระดับเงินคงคลังเฉลี่ย 4 ไตรมาสต่องบประมาณทั้งหมดก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าลดลงมาในระดับต่ำกว่าปี 2562 โดยจากจุดที่เงินคงคลังสูงที่สุดในปี 2563 มาถึงไตรมาส 1/2564 เงินคงคลังลดลงแล้วจาก 572,104 ล้านบาท เหลืออยู่ 351,379 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ ถ้าการจัดเก็บรายได้พลาดเป้า”
กระทรวงการคลังชี้แจงสั้นๆ เงินคงคลังจะมีเหลือพอที่จะบริหารสภาพคล่องได้ และคาดการณ์เงินคงคลังปลายงวดงบปี 64 ที่ 4 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิม 1.7 ล้านล้านบาท
สุดท้าย ศิริกัญญายังชี้ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคที่หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจใช้ยังมีปัญหา ทั้งความล่าช้า เก็บในความถี่ค่อนข้างห่าง และไม่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่จริง ๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤต ทำให้คำนวณเงินเยียวยาต่ำเกินจริง ประเทศอื่นมีวิธีการสร้างตัวชี้วัดที่ทำได้รวดเร็ว หรือ Rapid Indicator เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีน้ำมัน, จำนวนการเดินทาง หรือ google mobility index ที่จะช่วยสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และนำมาสู่การวางแผนออกมาตรการของรัฐอย่างตรงจุด