ลักลอบนำเข้า – หละหลวมกฎหมาย – ควบคุมไร้ประสิทธิภาพ ‘ก้าวไกล’ อภิปรายเจาะลึกปัญหา ‘ลัมปี สกิน’ ระบาดวัวควาย
ในการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาสภาผู้แทนราษฎรขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโรค ‘ลัมปี สกิน’ ระบาดหนักในโคกระบือ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมการอภิปรายในวาระดังกล่าว (สามารถรับชมการอภิปรายของพวกเรา + สกู๊ปการลงพื้นที่ได้ที่ลิงก์นี้ https://youtu.be/ICtWX__JhFo )
โดยมีผู้อภิปรายและประเด็นสำคัญ ดังนี้
อีสานระบาดหนักสวนทางเยียวยาล่าช้า : คำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะนี้พื้นที่ระบาดหนักหรือพื้นที่สีแดงกระจายเต็มภาคอีสานแล้ว ส่วนกลาง เหนือ และใต้ ปรากฏว่าเริ่มพบการระบาดเช่นกัน แต่ที่น่าวิตกอีกอย่างหนึ่งจังหวัด สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน เป็นพื้นที่เลี้ยงโคนมจำนวนมากและเป็นเส้นทางขนย้ายสัตว์จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ด่านกักสัตว์ต้องเข้มงวด เพราะถ้ากระจายเข้าพื้นที่ซึ่งมีฟาร์มโคนมจำนวนมากจะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงต้องเข้มงวดเรื่องนี้ที่สุด
ประการต่อมา วัวควายตั้งแต่แรกเกิดถึงหกเดือนในอีสานล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ขนไปทิ้งไปฝังกันไม่หวาดไม่ไหว เกษตรกรได้แต่ยืนมองการฝังกลบความหวังจากการเลี้ยงวัวไปในชั่วอึดใจ พี่น้องอีสานเรียกโรคนี้ว่าโรคห่าหนังเปื่อย แม้กรมปศุวัตว์จะบอกคุมได้ใน 4-5 เดือนและบอกว่าเตรียมวัคซีนไว้แล้ว ให้รอการผลิตในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขารอไม่ได้ เพราะมันคือเรื่องของต้นทุน หนี้ ดอกเบี้ย กว่าจะได้ขายเป็นกำไรต้องใช้เวลา พอวัวตายทุนหาย กำไรหด แต่หนี้และดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อ รัฐบาลควรต้องรีบออกมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันแก้ไข วัคซีนต้องมาด่วน ทราบมาว่าขณะนี้กรมปศุสัตว์กำลังเปิดให้เอกชนนำเข้า ถ้าใช้แนวทางนี้ก็ต้องคุมราคาอย่าให้แพงเกินไป รวมถึงค่ารักษา ค่าเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันต่างๆอย่างตาข่ายมุ้ง อย่าให้เกิดการฉวยโอกาสได้ นอกจากนี้ ต้องให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย เพราะเมื่อคุมสถานการณ์ได้ เขาจะได้มีโอกาสฟื้นฟูขึ้นมา การเยียวยา ต้องมีอัตราราคาที่เหมาะสม ถ้าใช้อัตราราชการที่ไม่รู้ต้นทุนจริง เกษตรกรจะขาดทุนย่อยยับ
เปิด 5 ปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบจัดการ : ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
จากการที่พรรคก้าวไกลได้ลงพื้นที่ปัญหาจริง จังหวัดมหาสารคาม ประชาชนได้สะท้อนด้วยน้ำตาว่าพวกเขาถูกปล่อยตามยะถากรรม ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเข้าไปช่วยเหลือดูแลพวกเขาเลย ดังนั้น วันนี้เสียงของเขาจากอำเภอบรบือมาถึงกรุงเทพมหานครแห่งนี้แล้ว โดยประเด็นที่จะอภิปรายมี 5 ข้อ
หนึ่ง ที่มาของโรค แม้มีข้อมูลที่บอกว่าอาจเกิดครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ มี.ค.64 แต่ก็มีรายงานบางชิ้นที่ยืนยันว่า โรคลัมปี สกิน เข้ามาตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 ต้องหาให้ชัดเจนว่า ลัมปี สกินเกิดขึ้นครั้งแรกตอนไหน เพราะจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ ซึ่งหากเป็นไปข้อมูลที่บอกว่าการระบาดครั้งแรกในเดือน ธ.ค.63 ก็หมายความว่าน่าจะเกิดจากการนำเข้าสัตว์โดยไม่ผ่านกระบวนการกักกันสัตว์
สอง การกระจายตัวของ ลัมปี สกิน เป็นโรคที่ควรควบคุมได้ เพราะเกิดจากแมลงดูดเลือดที่บินไม่ไกลกว่า 30 กิโลเมตรหรือการที่สัตว์สัมผัสสัตว์โดยตรงเท่านั้น ถ้าไม่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เจ็บป่วยก็ไม่น่าไปไกล ซึ่งหน่วยงานบอกว่าควบคุมได้ มีเอกสารสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์แล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องถามว่าการระบาดที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร รัฐบาลได้สรุปหรือยังว่าการกระจายตัวเกิดขึ้นจากความบกพร่องตรงไหน เพราะขณะที่บอกว่ามีมาตรการในการควบคุมโรคที่ชัดเจนและพาหะของโรคนี้ไปไกลไม่เกิน 30 กิโลเมตร ทำไมการกระจายตัวจึงยังเกิดขึ้น
สาม วัคซีน ต้องยอมรับว่านำเข้ามาช้าไม่ต่างจากโควิด 19 ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ปัญหากันเองโดยสินค้าก็แพงขึ้น เช่นยาซองละ 15 บาทก็ขยับเป็น 30 บาท นอกจากวัคซีนที่ไม่พอยังอาจมีวัคซีนเถื่อนเข้ามาด้วย การกระจายวัคซีนก็ต้องพิสูจน์ว่า ทำไมประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างอ่างทองได้แค่ 754 โดส สิงห์บุรี มีวัวกว่า 2,700 ตัว ได้ไปแค่ 166 โดส ภาคเหนือตอนบนและล่างได้ราว 60,000 โดส แม้จะดูเยอะ แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนว่าแต่ละจังหวัดมีความต้องการตามความจำเป็นเท่าไหร่
สี่ การเยียวยา ใช้หลักเกณฑ์ช่วยเหลืออ้างอิงตั้งแต่ ปี 56 โดยต่อให้มีความเสียหายแค่ไหนทั้งหมดก็จะให้ชดเชยไม่เกิน 2 ตัว ตรงนี้ไม่สะท้อนความจริง ขอให้ประเมินตามความเป็นจริง
ห้า การควบคุมการระบาดต้องกักสัตว์และคุมเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด ต้องเร่งนำเขาวัคซีนสำหรับโคกระบือกว่า 7,000,000 ตัวทั่วประเทศ อยากถามว่าถึงตอนนี้ รัฐมนตรีกล้าที่จะประกาศหรือไม่ว่า อีก 120 วัน ลัมปี สกิน จะหมดไปจากประเทศไทยเหมือนที่นายกรัฐมนตรีประกาศกับโควิด 19 และในเรื่องการนำเข้าวัคซีน รัฐจะต้องลดขั้นตอนเอกสารหรือระเบียบต่างเพื่อให้สามารถนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่อยากให้ลัมปีสกินเป็นเหมือนสถานการณ์โควิดในวันนี้
หละหลวมบังคับใช้กฎหมายทำให้ไทยต้องเผชิญโรคติดต่อุบัติใหม่ไม่รู้จบ : ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก
ขอลงไปที่หัวใจของการระบาด ในสมัยเคยเรียนเป็นสัตวแพทย์ ไม่ว่า ลัมปี สกิน หรือ กาฬโรคม้า ต้องบอกว่าไม่เคยเจอโรคนี้ในไทยมาก่อน นี่เป็นโรคในตำราเท่านั้น หมายความว่า โรคไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่เกิดจากความหละหลวมหรือกระบวนการทำผิดกฎหมายตามกระบวนการนำเข้าสัตว์ ก่อนนี้มีกรณีกาฬโรคม้า ทำให้ม้าในประเทศไทยตายมากว่าร้อยละ 90 เพราะม้าในประเทศไทยไม่มีภูมิคุ้มกันเลยและเราไม่มีวัคซีน มีข่าวลือจำนวนมากว่าประเทศเป็นฮับของการนำเข้าสัตว์จากอาฟริกาแล้วส่งต่อไปยังประเทศอื่น เรื่องนี้เป็นคำถามเมื่อปีก่อนแต่ยังไม่ข้อเท็จจริงเกิดขึ้น
ลัมปี สกิน เป็นโรคในอาฟริกา แต่โรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยแล้วลามไปทั่วประเทศ แสดงว่าต้องมีการนำเข้าสัตว์ที่ไม่ผ่านการกักกันและการตรวจสอบโรค เรื่องนี้เกษตรกรไม่ผิดแต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐและหน่วยงานราชการ
นอกจากนี้ ยังมีอาฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ที่กำลังระบาดในหมูตามแนวชายแดน แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ยอมรับว่าใช่ โดยบอกว่าเป็น พีอาร์อาร์เอส การปิดบังและไม่ทำข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสัตว์อย่างผิดกฎหมาย จะทำให้ประเทศไทยต้องเจอโรคติดต่ออุบัติใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก นี่ไม่ได้เป็นการเอาการเมืองมาพูดเรื่องโรคระบาด แต่ต้องพูดกันตรงๆว่าการเมืองที่ทำให้เกิดการบริหารไม่ดีเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น เราเรียนรู้จากโควิดแล้วว่า สถานการณ์เดียวกัน บริหารต่างกัน ผลออกมาก็ต่างกัน โรคระบาดในสัตว์ก็เช่นเดียวกัน ในเรื่องการกระจาย เรามีความรู้เรื่องพาหะชัดเจนว่ามาจากแมลงที่บินได้ไม่ไกลมาก แต่ปัญหาคือเราไม่มีประสิทธิภาพในการกักกันโรคสัตว์เลย และที่เป็นห่วงคือหากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ล็อตใหญ่ลงสู้ภาคใต้ในช่วงเดือนกุรบานในสถานการณ์ที่ปล่อยให้มีการนำเข้าสัตว์ผิดกฎหมายนี้ ลัมปี สกินจะกระจายไปทั่วประเทศอย่างรุนแรง รวดเร็ว และทำความเสียหายกว่าที่เราคิดไว้ประเด็นต่อมาคือวัคซีน เรื่องนี้จะโกลาหลเหมือนโควิดเพราะโจทย์เดียวกันคือวัคซีนน้อย แต่ปริมาณสัตว์เยอะ พิษณุโลกได้วัคซีนไปหลักพันแต่วัวมีหลักแสน วัคซีนระลอกแรกมาไม่พอ ต่อมามีคำชี้แจงจากกรมปศุสัตว์ว่าจะผลิตวัคซีนเองพร้อมใช้ในเดือนสิงหาคม แต่เมื่อยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่า จะผลิตได้เท่าไหร่ กระจายไปไหนบ้างก็เกรงว่าจะเกิดสภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา นักการเมืองผู้มีอิทธิพลจะต่อรองลงพื้นที่ของตัวเองเพราะมีนักการเมืองจำนวนมากที่มีวัวมหาศาล เรื่องนี้ทำให้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยกังวลมากว่าจะมีความเป็นธรรมในการกระจายวัคซีนหรือไม่ พวกเขาจึงต้องการความชัดเจนในวันนี้เลย
ประเด็นสุดท้าย จะปล่อยให้กรมปศุสัตว์รับมือลำพังไม่ได้แล้ว เพราะขาดแคลนทั้งเวชภัณฑ์และกำลังเสริม ส่วน อปท.ที่ปล่อยให้พวกเขารับภาระกันเองไปเรื่อยๆ อย่างวัคซีนโควิดก็ต้องไปซื้อมาเองสิบล้านบ้าง ห้าสิบล้านบ้าง แล้วต้องมาแบกภาระซื้อวัคซีน ลัมปี สกิน อีก ถ้าท้องถิ่นต้องทำเองหมดแบบนี้ก็ต้องถามว่าแล้วรัฐบาลมีไว้ทำไม และยิ่งถ้าแผนผลิตและแผนการฉีดยังไม่ชัด เกรงว่าไปจนปลายปีนี้สถานการณ์ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้