free geoip

30 ปี อุ้มหาย ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ ชวนสังคมไทยให้ความสำคัญ ‘บังคับสูญหาย’ ให้มันจบที่รุ่นเรา



30 ปี อุ้มหาย ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ ชวนสังคมไทยให้ความสำคัญ ‘บังคับสูญหาย’ ให้มันจบที่รุ่นเรา

“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ได้ทำการรัฐประหาร หลังจากนั้นเพียง 3 วัน รสช. ได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบ รวมถึง ทนง โพธิ์อ่าน ต่อมาจึงได้ประกาศใช้คำสั่งฉบับ 54 ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาของแรงงาน ทนง คัดค้านการประกาศดังกล่าวและได้ต่อต้านอำนาจของเผด็จการอย่างหนักแน่น ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ทนงหายตัวไป จนบัดนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมและไม่มีใครสามารถติดต่อได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า เขาถูกทำให้หายไปจากความเคลื่อนไหวต่างๆในการคัดค้าน รสช. ในช่วงที่ผ่านมา”



เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 คณะกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์เพื่อถอดบทเรียนสังคมไทย ในหัวข้อ ‘30 ปี การบังคับให้สูญหาย ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ และการพัฒนากฎหมายสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย’



ชมสารคดีชีวประวัติของ ทนง โพธิ์อ่าน ได้ที่นี่ https://fb.watch/6dFEHEBhuT/

19 มิถุนายน 2534: ทนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มหาย โดย The Momentum https://www.facebook.com/themomentumco/photos/a.1636533129971718/2722256064732747



“คุณทนง คือ บุคคลหนึ่งที่ผมอยากสะท้อนให้ผู้ใช้แรงงานไม่ว่ารุ่นปัจจุบันหรือรุ่นต่อไป ได้เห็นว่าการต่อสู้เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตและความสูญเสียของผู้นำ เป็นประเด็นที่หลายคนควรต้องศึกษา”

สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนแรงงาน



การเสวนาครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความระลึกถึง ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU) ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหายไป 30 ปี ไม่ใช่แค่เพียงเวลาของครอบครัวที่พังทลายลงไป แต่ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานก็พังทลายไปด้วย

ในฐานประธานกรรมาธิการแรงงานจะพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะ และในนามพรรคก้าวไกล เราพยายามผลักดันให้เกิดการคุ้มครองนักต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงานหรืออีกหลายขบวนการที่ถูกบังคับให้เขาสูญหายไป ปัจจุบันกฎมายที่คุ้มครองแรงงานกับรัฐวิสาหกิจจากที่เคยอยู่ร่วมกันได้ถูกแยกออกจากกันทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอมาก การเติบโตของสหภาพแรงงานมีแค่ประมาณ ร้อยละ 1.6 เท่านั้น หากต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงาน กฎหมายในปัจจุบันไม่เอื้อให้มีสหภาพแรงงาน การรวมตัวกันของแรงงานจึงทำได้ยาก ดังนั้น การผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญา ILO 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งและเราพยายามผลักดันมาตลอด แต่ต้องเรียนว่าขณะนี้พรรคก้าวไกลหรือพรรคอนาคตใหม่เดิมยังไม่มีโอกาสเข้าไปนั่งในฝ่ายบริหาร ถ้ามีโอกาสเรื่องนี้คงเป็นเรื่องแรกที่เราจะพูดคุยและผลักดัน เพราะสิทธิการรวมตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พี่น้องแรงงานดูแลตนเองและเจรจาต่อรองได้

“เราจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลถูกกดดันจากนานาอารยประเทศก็จะทำให้เหมือนมีความคืบหน้า กระทั่งยุค สนช. ที่วันรุ่งขึ้นกฎหมายจะเข้าสภาอยู่แล้วก็ถูกดึงออกในวันนั้น แม้ในยุคที่สภาสั่งได้ก็มีพฤติกรรมแบบนี้ สะท้อนว่าเขาไม่ได้ตั้งใจมีเจตจำนงจริงในการแก้ปัญหา แต่ทำเพื่อให้มีอะไรไปตอบสหประชาติเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทยที่ถูกถามเรื่องนี้ในแต่ละครั้งเท่านั้น”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล



60 ปีแห่งการบังคับสูญหาย


ในหนังสือที่ อดิศร โพธิ์อ่าน ทายาทของคุณทนง เขียนไว้ในหนังสือครบรอบการหายตัวไป 25 ปี ประโยคสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้เขียนว่า

“จะมีใครที่อยากทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อทำแล้วได้สิ่งตอบแทน ไม่ตายก็หายสาบสูญจากการกระทำของรัฐทหาร”

ข้อความนี้เป็นประเด็นสำคัญมากและสะท้อนว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ในทำนองเดียวกัน เราทราบดีว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ที่สมควรได้รับโดยไม่สนว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาก็ตาม การต้านรัฐประหารในปี 2534 หรือกรณีของทนงเป็นเช่นนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายกรณีการบังคับสูญหายที่มีมาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

กรณี ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’ อาจเป็นกรณีเดียวที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายในระดับครอบครัวมีการขอโทษอย่างเป็นทางการต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต เขาได้รับการให้อภัยในระดับครอบครัว แต่ทายาทยืนยันว่าเขาไม่ให้อภัยกับอำนาจรัฐในการกระทำที่เกิดขึ้น

กรณี ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ถึงขณะยังไม่มีคำตอบใด

กรณี ‘บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ‘ และ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ คือการหายตัวที่พบหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงเส้นทางการดำเนินการต่างๆ หรือกระทั่งรู้ตัวคนที่คิดว่าใช่จากเส้นทางการเดินทางไปยังประเทศหนึ่งแล้วกลับมาที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

กรณี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ การเสียชีวิตของเขามีการยอมรับว่าเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การให้เหตุผลถึงการเสียชีวิตอยู่ในระดับเดียวกับการฉีดวัคซีนโควิด คือการบอกว่ามาจากการเป็นโรคประจำตัวใดสักอย่าง หรือการที่รัฐพูดถึงการเยียวยา แต่สำหรับญาติ เขาบอกว่าไม่อยากได้เงิน เขาไม่อยากให้ญาติเขาตายมากกว่า

กรณี ‘สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์’, ‘ชัยชาญ บุปผาวัลย์’ และ ‘ไกรเดช ลือเลิศ’ อาจเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงได้ยากแม้กระทั่งในสภาผู้แทนราษฎร เราได้รับการอนุญาตให้พูดแต่ถูกร้องขอให้ไม่แสดงภาพในการอภิปรายในเรื่องนี้



คืนศักดิ์ศรีให้ครอบครัวที่สูญหาย?


สำหรับการบังคับสูญหายตัวเลขอย่างน้อยที่สุดในเวลานี้อยู่ที่ 70 กว่าคน แต่ไม่ควรมีสักคนเดียวที่ต้องถูกกระทำแบบนี้ ตัวเลขนี้ยังไม่ได้พูดถึงการซ้อมทรมานและบังคับจำยอมต่างๆ สำหรับการแก้ปัญหา แม้ประเทศไทยดูเหมือนจะหน้าบางในระดับนานาชาติ โดยมีการลงนามในปฏิญญา อนุสัญญา กติการะหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงกติกาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการคุ้มครองการถูกบังคับให้สูญหาย และเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานร่วมกับ ILO แต่มีหลายเรื่องที่รัฐบาลไทยไม่ยอมให้สัตยาบรรณ หรือในเรื่องที่ให้สัตยาบรรณไปแล้วก็มักมีข้อสงวนว่าไม่ใช้ตามนั้นได้หรือไม่

เราพบว่า คำว่า ‘คืนศักดิ์ศรีให้ครอบครัวที่สูญหาย’ หรืออย่างน้อยที่สุดอย่างประกาศการยอมรับว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง หรือ ‘การขอโทษสาธารณะ’ ซึ่งสำคัญมากต่อในกรณีชาติพันธุ์อันแตกต่างหลากหลายในประเทศไทย เพราะการยอมรับและขอโทษทางสาธารณะจะสามารถสร้างความไม่วางใจระหว่างกันได้ ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐไทยจะไม่ยินยอมหรือยอมรับโดยเด็ดขาด

ในด้านกฎหมายอาจไม่ใช่ทุกคำตอบ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ ที่ผ่านมาเราอาจกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานอยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ลำบากมาก หลายกรณีแม้แต่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น กรมคุ้มครองพยานก็ยังถูกคุกคามระหว่างการทำงาน นี่คือประสบการณ์ที่พบจริงกับตัวเองเมื่อครั้งที่ทำงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปัจจุบัน มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทั้งหมด 4 ร่าง รอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร คือ ฉบับของรัฐบาล, ฉบับของคณะกรรมาธิการกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและการยุติธรรม, ฉบับของพรรคประชาชาติที่ว่าด้วยกรณีชายแดนใต้ และฉบับของพรรคประชาธิปัตย์

ในด้านเนื้อหาไม่ต่างกันมาก โดยบทนิยามคำว่า ‘บุคคลสูญหาย’ หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆก็ตามที่เป็นการริดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาตของรัฐ รวมถึงการสนับสนุนหรือยอมรับโดยปริยายซึ่งรัฐหรือหน่วยที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการกระทำดังกล่าว หรืออาจรวมถึงเรื่องการปกปิดชะตากรรม เช่น ที่อยู่ของผู้ถูกทำให้สูญหาย เพราะญาติผู้สูญหายหลายคนเชื่อว่าอาจไม่ได้ตัวเขากลับมาแล้วก็จริง แต่เขาต้องการเห็นแค่ศพ กระดูก หรือภาพถ่ายสุดท้ายก็ยังดี เรื่องแบบนี้เรารับฟังได้แต่เราไม่อาจที่จะเรียนรู้ความเจ็บปวดได้เท่ากับเจ้าตัวผู้ถูกกระทำ สำหรับฉบับของ กมธ.กฎหมายฯ ยังได้เสนอให้ต้องมีคณะกรรมการที่มาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่าสัดส่วนของภาครัฐ นอกจากนั้นเป็น หมวดว่าด้วยเรื่องการดำเนินคดีและบทกำหนดโทษ

“สถานะตอนนี้ ก่อนปิดสมัยที่แล้วมีการบรรจุร่างกฎหมายเหล่านี้ในวาระพิจารณา แต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงคือ ถึงปัจจุบันสภาแห่งนี้ยังไม่เคยมีการพิจารณากฎหมายใดที่เสนอมาโดย ส.ส. แม้แต่ฉบับเดียว นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องต่อไป เราไม่คาดหวังการปรับเปลี่ยนของรัฐหรือรัฐบาล แต่เรามั่นใจว่าอนุสติจากการเสียชีวิตหรือการสูญหายที่ผ่านมา รวมถึงกรณีของคุณทนงจะทำให้เรื่องราวเหล่านี้จบที่รุ่นเราได้ เช่นเดียวกับเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงาน ในนามของพรรคก้าวไกล เราจะพยายามใช้ทุกองคาพยพที่เราทำได้เพื่อเร่งทำงานให้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าเราสมัยหน้าจะยังมีพื้นที่ของพรรคก้าวไกลในสภาหรือไม่ แน่นอนเราเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนที่ยังเลือกพวกเราอยู่ แต่เราอยากเร่งทำงานเพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าซึ่งประเด็นของพี่น้องแรงงานถือเป็นหัวใจหลักของพรรคก้าวไกล”

“ขณะนี้มีร่างกฎหมายหลายฉบับที่ค้างอยู่ในสภาเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันทันทีเพื่อสร้างหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และสุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากฝากคือการที่ให้ทุกคนเห็นความสำคัญว่า การบังคับสูญหายคืออาชญากรรมร้ายแรงและคืออาญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่เราไม่อาจให้มีขึ้นอีกบนผืนแผ่นดินนี้”

“30 ปี ที่คุณทนงหายไปอาจเท่ากับหนึ่งช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน ผมเติบโตมาเป็นประชากรของประเทศนี้และเป็นตัวแทนประชาชนในอายุ 31 ปี คนรุ่นผมเติบโตมาท่ามกลางความสูญเสียของพี่น้องของเพื่อนๆ มากมายเหลือเกิน จนเรียกได้ว่าหากทำอนุสาวรีย์ให้รำลึกคงเต็มไปหมด ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ จากนี้ไปเราจะยุติไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือน 70 ชีวิตที่สูญหายไปแล้วได้อย่างไร”

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพ เขตบางขุนเทียน และประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน



วันนี้…ถ้าเราไม่ยุติปัญหาเหล่านี้ ในอนาคตเราอาจจะต้องมีการรำลึกแบบนี้ครบทั้ง 365 วันก็ได้ ขณะนี้เราเห็นเยาวชน คนหนุ่มสาว ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงด้วยความหวังว่าอยากให้ประเทศดีขึ้น แต่เราไม่รู้เลยว่าในอีกกี่ปีนับจากนี้ เราจะต้องรำลึกถึงเขาในฐานะผู้สูญหายหรือถูกกระทำด้วยหรือไม่

“เราต้องคิดไปถึงอนาคตด้วยกันว่า การเสวนารำลึกการหายไปของใครสักคน เราได้ตอบเจตนารมณ์ของเขาแล้วหรือไม่ วิญญาณของคุณทนงและครอบครัวโพธิ์อ่าน สามารถรับรู้แล้วหรือไม่ว่าสิ่งที่เขาต้องการเห็นการกินดีอยู่ดีของพี่น้องแรงงานหรือสิทธิต่างที่เขาต่อสู้มาได้รับการตอบสนองแล้วหรือไม่ หรือว่าวันนี้ในปีถัดไปเราสามารถตอบได้หรือไม่ว่าต่อยอดอะไรไปแล้วบ้าง การสูญเสียของครอบครัวโพธิ์อ่านคือการเสียเสาหลักของครอบครัวไป สิ่งที่เขาต้องเจอมีอะไรบ้างและเราจะต้องคุยกันหาทางออกได้อย่างไร”

ต้องยอมรับว่าในหลายประเด็นที่ได้รับฟังในวันนี้ ผมอายุ 31 ปี เพิ่งรู้ว่าการต่อสู้เมื่อ 30 ปีก่อนสร้างความเสียหายให้กับครอบครัวของเขาแค่ไหน ผมเคยเป็นคนทำงานที่ได้รับประกันสังคมซึ่งเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ สังคมควรต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ว่า สิทธิที่เราได้รับหลายอย่างในเวลานี้ไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่มาด้วยการต่อสู้และเรียกร้องถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณีในประเทศนี้ และเราจำเป็นจะต้องยุติมันให้ได้เสียที”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า