free geoip

ไหนว่าจะมาปราบโกง



สรุปจบในบทความเดียว! ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ เปิดช่องให้ ส.ส. – ส.ว. แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ และการจัดสรรงบประมาณอย่างไร?


(ยาวหน่อย แต่สำคัญกับการปกป้องงบประมาณประเทศ)

วิวาทะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังร้อนแรงกันอยู่ในเวลานี้ มีหนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนจะถูกพูดถึงน้อย คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ 185 ของพรรคพลังประชารัฐ

ในบทความนี้ พรรคก้าวไกลจะชวนทุกท่านไปดูกัน ว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ มาตรา 185 ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงงบประมาณได้ง่ายขึ้นอย่างไร





มาตรา 144 ยังคงห้าม ส.ส. และ ส.ว. แปรญัตติเพิ่มงบประมาณ แต่ตัดกลไกตรวจสอบ และบทลงโทษทิ้ง


ต้องเท้าความกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 มีทั้งหมด 6 วรรค :

วรรคแรก ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี, ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (หรือที่เรียกว่า “งบกลางปี”), และ ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณ X “ห้าม” ส.ส. แปรญัตติเพิ่มงบ และ / อนุญาตให้ตัดงบได้เท่านั้น



วรรคที่สอง ย้ำเพิ่มเติมจากวรรคแรกว่าห้าม ส.ส. – ส.ว. และ กมธ. งบประมาณ “แปรญัตติ” หรือ “กระทำการด้วยประการใดๆ” ให้มีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

!! วรรคนี้แหละ ที่เป็นปัญหาทำให้ ส.ส. ทำงานยาก ว่าตกลงอะไรคือ “กระทำการด้วยประการใดๆ ให้มีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม” การอภิปรายเพิ่มงบสวัสดิการประชาชนผิดไหม? เห็นว่างบประมาณกระทรวงศึกษาน้อยไปอยากให้เพิ่มได้ไหม? หรือ แม้แต่เห็นถนนในเขตขาดการดูแล อภิปรายขอให้หน่วยงานเอาโครงการมาแก้ปัญหาทำได้ไหม??? !!

ซึ่งการที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนนี้เอง ที่ให้อำนาจดุลยพินิจอย่างล้นฟ้า ไม่ชอบหน้าใครก็มาดักคอเขาว่าอย่าตัดงบนะ ระวังผิดกฎหมาย




และวรรคที่สาม คือวรรคที่ให้อำนาจล้นฟ้ากับองค์กรที่ใหญ่คับประเทศอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพราะให้อำนาจ ส.ส. – ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา สามารถเข้าชื่อกันร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้

ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มโทษของคนที่กระทำความผิดเอาไว้ว่า ถ้า ส.ส. – ส.ว. คนไหนทำผิดให้พ้นสมาชิกภาพและตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี กันเลยทีเดียว ส่วนถ้าคณะรัฐมนตรีทำผิด ให้หลุดจากตำแหน่งยกคณะ (ก็น่าคิดว่าที่ขึ้นป้ายขอบคุณท่านรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ที่ผลักดันโครงการต่างๆ ในหลายจังหวัดนี่ศาลรัฐธรรมนูญหายไปไหน ไม่เห็นทำงานเร็วเหมือนเวลายุบพรรคบ้าง)



ที่เหลือจะว่าด้วยการตรวจสอบ…

วรรคที่สี่ ให้ข้าราชการที่รู้เห็นต้องบันทึกข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร

วรรคที่ห้า ว่าด้วยการเรียกเงินคืน

วรรคที่หก ว่าด้วยการที่ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งแล้วต้องสืบสวนในทางลับแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ


แล้วร่างไพบูลย์แก้อะไรในมาตรานี้?

สิ่งที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐทำ คือการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้ ซึ่งสาระสำคัญก็คือ…

> ยกเลิกบทกำหนดโทษนักการเมือง ที่ให้พ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี

> ยกเลิกวรรค 4-6 ที่ว่าด้วยการตรวจสอบทั้งหมด

> เพิ่มข้อความขึ้นมาอีก 1 วรรค ให้รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, องค์กรอิสระ สามารถขอแปรงบเพิ่มได้ (ความจริงมาตรานี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มีเขียนไว้แล้วใน ม.141 แต่ตอนยื่นร่าง คุณไพบูลย์ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญหรืออย่างไรไม่ทราบ)




ยังๆๆ ไม่จบ

นอกจากจะแก้มาตรา 144 แล้ว อีกมาตราที่สำคัญไม่แพ้กัน และต้องดูกันเป็นแพ็คเกจ คือมาตรา 185







แก้มาตรา 185 : ต่อไปนี้ ไม่ห้าม ส.ส. – ส.ว. แทรกแซงข้าราชการ งบประมาณ และโครงการของรัฐแล้วนะ


รัฐธรรมนูญ มาตรา 185 อยู่ในหมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนเอาไว้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของตน ผู้อื่น พรรคการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องต่อไปนี้

  1. แทรกแซงการปฏิบัติราชการ หรือทำงานในหน้าที่ของข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. ทำให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือเห็นชอบโครงการของหน่วยงานรัฐ ยกเว้นรัฐสภา
  3. แทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน ให้ออกจากราชการของข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, พนักงาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


สิ่งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐจะแก้ ก็คือ การตัดข้อห้ามใน (1) และ (2) ที่ห้ามแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ และทำให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณ คงไว้เฉพาะ (3) เรื่องห้ามแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย


อันนี้สอดคล้องกับที่แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ที่ยกเลิกบทกำหนดโทษของ ส.ส. และ ส.ว. ที่เข้าไปยุ่งกับงบประมาณประเทศ







สรุป


การแก้รัฐธรรมนูญใน 2 มาตราเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยการกำหนดโทษของการเข้าไปแทรกแซงงบประมาณจึงแสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นการแก้เพื่อตนเองและพรรคพวก ไม่ใช่แก้เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชน


ย้ำอีกครั้ง! อย่าหลงประเด็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อให้ ส.ส. สามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณได้ หรือให้ ส.ส. ผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ได้


ความจริงแล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ยังคงบทบัญญัติห้าม ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปมีส่วนในการใช้งบประมาณ

ส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐแก้ คือ การยกเลิกส่วนของกลไกการตรวจสอบและบทกำหนดโทษ


แน่นอนว่าบทบาทของ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ควรต่อสู้เชิงประเด็นและผลักดันกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ หรือควรมีบทบาทในการต่อรองทรัพยากรเข้าสู่พื้นที่ ยังเป็นข้อถกเถียง

สิ่งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐทำ ไม่ใช่การทำให้บทบาทในการต่อรองทรัพยากรเข้าสู่พื้นที่ทำได้อย่างเป็นระบบ เปิดเผย โปร่งใส แต่เป็นการทำลายกลไกการตรวจสอบ และทำให้การการส่งอิทธิพลต่อโครงการและงบประมาณของ ส.ส. ยังคงไม่ถูกกฎหมาย อยู่ในพื้นที่สีเทา แต่ไม่มีการตรวจสอบ และเอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่น


และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ย่อมต้องเป็น ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายรัฐบาลที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ!!!


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และมีการมองกันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้ เป็นไปเพื่อ “หาเงินเลือกตั้ง” สำหรับ ส.ส. บางกลุ่ม


เราคงต้องจับตากันว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่บอกกับประชาชนว่าต่อต้านระบอบ คสช. อย่างเต็มที่ และ ส.ว. ที่ชอบอ้างนักอ้างหนาว่าเข้ามาเพื่อปราบโกง พอเจอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการ “โกง” อย่างเปิดหน้าขนาดนี้ สุดท้ายจะลงมติว่าอย่างไร



อย่าลืม! ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 และ 20% ของ ส.ส. ฝ่ายค้านด้วย…


พุธและพฤหัสบดีนี้
พบกัน


Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า