หลังจากการลงมติวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ของรัฐสภาต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้รายมาตรา) ได้ผ่านไป ผลที่ออกมาคือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งสองฉบับถูกคว่ำร่างทั้งหมด เพราะขาดเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แม้ว่าทั้งสองร่างนี้จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุด
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อผลการลงมติ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ว่า “ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด”
สิ่งที่น่าผิดหวังก็เพราะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ยกเลิก ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งสองร่างที่ถูกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากถึง 441 เสียง และ 440 เสียง ตามลำดับ คะแนนเสียงนี้ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา สมควรจะผ่านการพิจารณาขั้นรับหลักการ แต่ว่าก็ต้องถูกคว่ำร่างไป เพราะขาดเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมี ส.ว. เห็นด้วยมากกว่า 1 ใน 3
แต่ก็นับว่าไม่ผิดคาด เพราะนี่เป็นเรื่องที่อาจคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แม้จะมี ส.ว. บางท่านลงมติเห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว. แต่เราก็เห็นแล้วว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ยังคงไม่ยอมละทิ้ง “อำนาจ” ที่ตนเองไม่ควรได้มาแต่ต้น และจะกอดอำนาจเอาไว้กับตัวเอง โดยไม่สนใจใยดีว่าความหวงแหนอำนาจของตนเองจะนำสังคมไทยไปสู่วิกฤตทางการเมืองและวิกฤตรัฐธรรมนูญ
ผลการลงมติเมื่อวานนี้ทำให้เราได้เห็นชัดเจนแล้วว่า ใครคือผู้ขัดขวางการแก้ไขวิกฤตรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้าปิดสวิตช์ ส.ว. ต่อไปในสมัยประชุมหน้าช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะหากเราไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ ต่อให้ใช้ระบบเลือกตั้งไหนก็คงไม่อาจสู้ 250 เสียงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ สุดท้าย ส.ว. ก็จะเข้ามามีอำนาจชี้ขาดในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีอีกอยู่ดี
นอกจากนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องเน้นย้ำและเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ การผลักดันให้เกิดการทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 และเปิดทางให้มี สสร. ที่มาจากประชาชน เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติได้ผ่านการพิจารณาวาระที่ 3 ของรัฐสภาไปแล้ว อยู่ระหว่างรอให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ภายใน 90 วัน นั่นหมายความว่าอย่างช้าที่สุด พ.ร.บ.ประชามติจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนปีนี้
และเมื่อ พ.ร.บ.ประชามติ มีผลบังคับใช้ พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณาลงมติให้มีการจัดทำประชามติโดยทันที ถึงตอนนั้นพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. จะไม่มีเหตุผลปฏิเสธการทำประชามติอีกต่อไป เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ข้ออ้างเรื่องการทำประชามติถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการตั้ง สสร. ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.บ.ประชามติแล้ว ก็ควรเร่งทำประชามติถามประชาชน ซึ่งใน พ.ร.บ.ประชามตินี้ ประชาชนก็สามารถเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติได้เช่นกัน ซึ่งเราเห็นว่านี่จะเป็นแนวทางคู่ขนานระหว่างรัฐสภา กับประชาชนในการเดินร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตรัฐธรรมนูญให้ได้อย่างแท้จริง