free geoip

คำแนะนำแก่รัฐบาลไร้ความสามารถ



‘วิโรจน์’ ชี้ ประชาชนกลัว ‘ล็อกดาวน์’ เพราะรัฐบาลไม่เคยเหลียวแล


– จี้ เร่งหา Pfizer ให้หมอ กังขา 20 ล้านโดสโดนเท ทั้งที่จองก่อน ปินส์- อินโด
– ท้า ‘ประยุทธ์’ เปิดวันที่ลงนาม กระตุกความรับผิดชอบ ตาม AZ อีก 1.7 ล้านโดสให้ทัน มิ.ย.
– แนะทางออก ตรวจเชิงรุก-Home Isolation
– เผยสุดห่วง วิธีคิด ‘อนุพงษ์’ ไร้สติปัญญา หวั่นคนกลับต่างจังหวัดกระจายเชื้อทั่วประเทศ

“ความห่วงใยของพรรคก้าวไกลมากขึ้นเมื่อทราบแนวคิดและวิธีคิดของรัฐบาลจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “การล็อก กทม. สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดโควิดได้แน่นอน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอ เพราะเมื่อประชาชนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด และติดโควิด ก็จะมีเตียงและการรักษาพยาบาลรองรับเพียงพอในแต่ละพื้นที่”

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่าวิธีคิดดังกล่าวขาดสติปัญญาอย่างมาก และวิธีการดังกล่าวไม่ใช่การล็อกดาวน์แต่เป็นการกระจายโรคให้ระบาดไปยังทั่วประเทศ ขอให้รัฐบาลเร่งปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญและยุติวิธีคิดที่โง่เขลาเช่นนี้โดยพลัน”



มาร่วมกันติดตามทัศนะและข้อเสนอจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แถลงความเห็นและข้อเสนอต่อสถานการณ์การ ‘ล็อกดาวน์’ หรือ ‘มาตรการเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

(รับชมไลฟ์สดได้ที่นี่ https://youtu.be/MI8Zi79qcHo)



สถานการณ์ด้านสาธารณสุข

  • หมอ 1 คน ดูแลผู้ป่วยอย่างน้อย 30 คน ทำงานวันละอย่างน้อย 16 ชั่วโมง ต่อเนื่องมาแล้ว 3 เดือน
  • เพดานของผู้ติดเชื้อเดิมประมาณ 3,000 คนต่อวัน ขยับเป็นประมาณ 4,000 คนต่อวัน
  • แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าผู้รักษาหายกลับบ้าน
  • จำนวนผู้เสียชีวิตเทียบสัดส่วนกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงขึ้น เดิมติดเชื้อรายใหม่ 3,000 คน เสียชีวิตประมาณ 30 คนต่อวัน ล่าสุดติดเชื้อรายใหม่ใหม่ 4,000 คน เสียชีวิต 50 คนต่อวัน แทนที่จะเป็นวันละ 40 ในสัดส่วนเดียวกัน
  • ระบบ co – link ที่ใช้ในการกระจายผู้ป่วยและจัดหาเตียงเริ่มทำงานไม่ได้
  • โรงพยาบาลหลายแห่งงดตรวจโควิด สะท้อนการหาเตียงยิ่งลำบาก ถ้าปล่อยให้งดตรวจไปเรื่อยๆ กว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าติดก็อาการหนักมากแล้ว สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งให้สาธารณะสุขของกรุงเทพหนักขึ้นและอัตราเสียชีวิตมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
  • แพทย์ พยาบาล ฯลฯ หรือบุคลากรด่านหน้าพบการติดโควิดเป็นระยะๆ ทั้งที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบสองเข็มและอยู่ในเวลาที่ภูมิควรขึ้นเต็มที่แล้ว ทำให้ขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ เพราะบุคลากรต้องทยอยพักรักษาตัวเนื่องจากติดโควิด ขวัญและกำลังใจย่ำแย่ เพราะรู้สึกว่า “ต้องเข้าสนามรบประหนึ่งรัฐบาลมอบมีดปอกผลไม้ให้ไปรบในพื้นที่ที่เต็มด้วยห่ากระสุนปืน”
  • งบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลเบิกจ่ายไปเพียง 9,556 ล้านบาท หรือแค่ 21% โครงการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล มีการกันงบเอาไว้ถึง 10,132 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 178 ล้านบาท คืบหน้าไปแค่ 1.8% โครงการเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด กันงบไว้ 1,497 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 127 ล้านบาท คืบหน้าไปแค่ 8.5% เท่านั้น



ทั้งหมดนี้สะท้อนได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐบาลดูเบาต่อสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป และละเลยไม่ตั้งใจในการทำหน้าที่ของตน ขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณชน จนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องเดือดร้อนแสนสาหัส กระทบกับปากท้อง การดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า






สถานการณ์ด้านวัคซีน

  • การฉีดวัคซีนยังล่าช้า วัคซีนไม่มาตามนัด ประชาชนถูกลอยแพเป็นจำนวนมาก
  • ระบบการจัดการฐานข้อมูลไม่เชื่อมต่อกันระหว่างระบบการจองคิวลงทะเบียนกับฐานข้อมูล MOPH IC กระทรวงสาธารณสุข
  • การส่งมอบวัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส ถูกเลื่อนไปส่งมอบไตรมาส 4 ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่ามีการเจรจาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. การส่งมอบล่าช้ายังสวนทางกับประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่สั่งซื้อไป 50 ล้านโดสและ 40 ล้านโดส ต่อมาทั้งสองประเทศแถลงว่าจะทยอยรับมอบได้ตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป
  • AstraZeneca จะต้องส่งมอบ 6.3 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน ยังเหลือที่ต้องส่งมอบอีก 1,793,000 โดส



ข้อเรียกร้อง

  • เปิดเผยจำนวนตรวจจริงของผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่า มีการวัคซีนหนึ่งเข็มกี่ราย สองเข็มกี่ราย โดยแยกยี่ห้อวัคซีน และในจำนวนนี้มีบุคลากรการแพทย์กี่ราย เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะรัฐบาลมักพูดเสมอว่าฉีดวัคซีนเพื่อเน้นกันตายไม่กันติด ดังนั้น ต้องดูข้อมูลเพื่อเป็นข้อเท็จจริงว่าเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วยังมีการติดมากน้อยขนาดไหน
  • มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในประเด็นประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac และวัคซีนชนิดเชื้อตายอื่นๆ ว่าอาจมีความสามารถในการป้องกันการแพร่ระบาดจำกัด สร้างภูมิไม่สูงเพียงพอ และอาจจะไม่สามารถรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นเชื้อหลักที่ระบาดในกรุงเทพช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนการสั่งซื้อ Sinovac ไม่ใช้สั่งเพิ่มอีก 28 ล้านโดส
  • วัคซีนชนิด mRNA เช่น Pfizer มีราคาถูกกว่าและคุ้มค่ากว่าในด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ การรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้า การเร่งซื้อวัคซีนชนิด mRNA ควรเป็นทางออกที่รัฐบาลควรเร่งพิจารณาและตัดสินใจซึ่งจะเป็นการใช้สติปัญญาอย่างไตร่ตรองและมีจริยธรรมกว่า
  • รัฐบาลควรเปิดเผยว่าวันที่รัฐบาลลงนามสั่งจองกับ Pfizer ว่าเป็นวันที่เท่าไหร่ และเหตุใดจึงถูกเลื่อนเพราะถ้าลงนามในสัญญาจองก่อนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็ไม่มีเหตุผลเลยที่ประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนช้ากว่า ซึ่งวันที่ลงนามในการสั่งซื้อไม่ใช่เรื่องความลับใดๆ ที่ประชาชนไม่อาจรู้ได้
  • นายกรัฐมนตรีควรเข้าพบทูตของสหรัฐเพื่อหารือถึงการเร่งจัดหาวัคซีน mRNA เพื่อลดการระบาดและความเสี่ยงของบุคลากรด่านหน้าในขณะนี้
  • ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ประธานศูนย์อำนวยการจัดการวัคซีนแบบ Single Command ,ผู้อำนวยการ ศบค.กรุงเทพและปริมณฑล ,ผู้อำนวยการ ศบค. และนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งได้รวบอำนาจใน พ.ร.บ. ทั้ง 31 ฉบับไว้กับตนเองตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ขอเรียกร้องให้เร่งติดตามวัคซีน AstraZeneca อีก 1,793,000 โดส มาให้ทันในวันที่ 30 มิ.ย. เพราะนี่คือความหวังในการสกัดโควิดกรุงเทพในเวลานี้
  • เร่งจัดการฐานข้อมูลวัคซีนให้เร็วที่สุด






สถานการณ์ ‘ล็อกดาวน์’

  • สถาการณ์สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้ารัฐบาลใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทเพื่อเตรียมตัวด้านสาธารณสุขให้ดีกว่านี้
  • ไม่แปลกใจที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ และมีแนวโน้มคัดค้านหรือไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์มาโดยตลอด แต่ใช้คำว่ามาตรการเข้มงวด ซึ่งก็คือ ‘มาตรการกึ่งล็อกดาวน์’ เพื่อหลีกเลี่ยงการเยียวยาประชาชน การเยียวยาที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเยียวยาทางตรง ไม่ใช่การจ่ายเงินสดให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลไม่เคยเหลียวแลผู้ประกอบการ คนหาเช้ากินค่ำและหาค่ำกินเช้า ปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญการดำเนินชีวิตกับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามยถากรรม
  • การล็อกดาวน์ถ้าจำเป็น เลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาอย่างเร็วที่สุดและสมเหตุสมผมที่สุดเพื่อให้ประชาชนร่วมมือการคุมการระบาด



ข้อเรียกร้อง

  • หากเลี่ยงล็อกดาวน์ไม่ได้ควรชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้เห็นถึงความจำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือมาตรการล็อกดาวน์ต้องมาควบคู่กับมาตรการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ควรได้รับการเยียวยาค่าเช่าตามจำนวนวันที่มีการล็อกดาว
  • รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอะไรให้สำเร็จในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพื่อให้มีส่วนร่วมและรู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไร หากไม่ชัดเจนจะเป็นความสูญเปล่าและสูญเสียต่อประชาชนอย่างไม่ควรจะเกิด
  • รัฐบาลต้องเร่งหาวัคซีนชนิด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้า เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อให้มีขวัญกำลังใจทำงานเพราะพวกเขาคือขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดตอนนี้
  • ต้องเร่งตรวจเชิงรุก โดยรัฐบาลต้องปรับทัศนคติตัวเองเสียใหม่ การพบผู้ป่วยเป็นข่าวดีไม่ใช่ข่าวร้าย เพราะหมายถึงได้นำเอาผู้มีอาการเบามารักษา ลดการเสียชีวิตลง รักษาชีวิตประชาชนไว้ได้เพิ่ม ขณะเดียวกันยังเป็นการควบคุมการระบาดไม่ให้ไปยังสังคมและคนที่พวกเขารัก
  • ให้ประชาชนมีอาการไม่มากนักหรือไม่มีอาการสามารถกักตัวรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ โดยมีระบบรายงานความคืบหน้าให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบ มีระบบฉุกเฉินมารับเมื่อมีอาการหนักขึ้น มีระบบรักษาทางไกลที่สามารถจ่ายยาเพื่อดูแลรักษาเมื่อยังไม่หนัก และมีระบบจัดส่งอาหารเพื่อให้เขากักตัวที่บ้านได้อย่างมั่นใจมีอาหารรับประทาน

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า