ร่างกฎหมายควบคุมและตรวจสอบสารเคมีของพรรคก้าวไกลที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตกแล้วอย่างเป็นทางการ! (อีกแล้ว)
หลายปีที่ผ่านมานี้ เราอาจได้ยินข่าวผ่านหูผ่านตาอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล โรงงานปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำชุมชน น้ำมันรั่ว ท่อก๊าซระเบิด ฯลฯ ทุกกรณีส่งผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมหาศาล แต่นอกจากนั้นแล้ว หลายครั้งยังมีทั้งผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการอีกด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยเราจะมีกฎหมายที่ก้าวหน้า คุ้มครองชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม ให้บรรดาผู้ประกอบการและรัฐ มีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่านี้?
เมื่อต้นปีที่แล้ว พรรคก้าวไกลได้ยื่น “ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” กฎหมายที่หลายประเทศทั่วโลกใช้และเรียกย่อๆ ว่ากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และล่าสุด ส.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ได้เปิดเผยว่าสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และแจ้งผลการพิจารณาจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้วว่า “มีบัญชาการไม่รับรอง” ร่างกฎหมายดังกล่าว
ว่าแต่ ร่างกฎหมายชื่อยาวๆ ฟังยากๆ นี้ดีอย่างไร?
- ถ้ามีกฎหมาย PRTR แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
- ถ้ามีกฎหมาย PRTR กรมควบคุมมลพิษจะต้องเปิดเผยรายงานให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและร่วมตรวจสอบได้
- ถ้ามีกฎหมาย PRTR ประชาชนก็จะตรวจสอบได้ว่า โรงงาน เหมืองแร่ หรือแม้แต่ชุมชนของตนเองมีสารมลพิษอยู่รอบๆ ตัวบ้าง มีการปล่อยมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน น้ำเสีย หรือขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรม เมื่อตรวจสอบได้ชุมชนก็สบายใจ อุตสาหกรรมที่ทำถูกต้องในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้ง หรือใส่ร้ายอีกต่อไป
- ถ้ามีกฎหมาย PRTR เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นเหตุระเบิด ไฟไหม้ ฯลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างกรณีที่เกิดเพลิงไหม้และระเบิดของโรงงานสารเคมีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็จะทราบปริมาณสารมลพิษที่มีอยู่ทั้งหมดในโรงงานในทันที หน่วยงานที่จะต้องแก้ปัญหาสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพสารเคมี และยับยั้งเหตุ หรืออย่างน้อยก็ออกคำเตือนต่อประชาชนบริเวณโดยรอบได้ทันท่วงที
- ถ้ามีกฎหมาย PRTR ประชาชนก็จะเลือกที่อยู่อาศัยโดยรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัว ระแวดระวังภัย และเกิดการซักซ้อมความรู้ความเข้าใจหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็มีความรู้และประสบการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงแบบที่คนในชุมชนบริเวณกิ่งแก้วต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้
อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่ https://www.moveforwardparty.org/wp-content/uploads/2021/07/PRTR-Draft.pdf
หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยเราจะมีกฎหมายที่ก้าวหน้าเท่าทันโลก และมีมาตรฐานการบังคับใช้ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนอันประเมินค่ามิได้
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. หรือที่เรียกง่ายๆว่า PRTR ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญต่อการจัดการและตรวจสอบสารเคมีให้มีความโปร่งใส และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในการอยู่อาศัยใกล้กับแหล่งเก็บสารเคมี เพื่อรับทราบและประเมินความปลอดภัยของตนเองได้ แต่ทันทีที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เร่งผ่านกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพราะเห็นถึงปัญหาอย่างแจ่มชัดแล้ว กลับถูก พล.อ.ประยุทธ์ ตีตกโดยให้เหตุผลว่าเป็นกฎหมายการเงิน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เทคนิคทางกฎหมาย ไม่ยินยอมให้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเข้าสู่สภาได้เลย โดยเฉพาะร่างกฎหมายจากพรรคก้าวไกลหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น
X พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
X พ.ร.บ.แรงงาน
X พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ
X พ.ร.บ.การศึกษา
และล่าสุด X พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมฉบับนี้
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่าแท้จริงแล้วมลพิษที่เป็นอันตรายต่อประเทศมากที่สุดคือ มลพิษที่ชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเผาไหม้ เผาผลาญ และทำลายล้างคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทุกมิติในขณะนี้
ทางด้าน ส.ส. วรภพ วิริยะโรจน์ ผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ออกมาเปิดเผยว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศได้พยายามผลักดันมาหลายวาระ ซึ่งผมและพรรคก้าวไกลเห็นด้วยอย่างมาก เลยได้นำมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อนายกฯ ปัดตกไป พรรคก้าวไกลและภาคประชาสังคมกำลังหารือกันถึงความเป็นไปได้เตรียมรณรงค์ล่ารายชื่อภาคประชาชนเพื่อเสนอใหม่อีกครั้งต่อไป”
นอกจากนี้ ศิริกัญญายังเปิดเผยว่าพรรคจะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฉบับปัจจุบัน เพื่อแก้มาตราที่เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าไม่ต้องขอใบอนุญาต และการตั้งโรงงานทำได้ง่ายเกินไป