free geoip

แก้รัฐธรรมนูญแบบ เกี้ยเซียะ-สอดไส้-ไร้สันหลัง



ก้าวไกลซัดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ “เกี้ยเซียะ-สอดไส้-ไม่มีกระดูกสันหลัง”


วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 รังสิมันต์ โรม และ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวออนไลน์เพื่อแสดงความเห็นต่อทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุด ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การเสนอแปรญัตติของสมาชิกในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) มีความพยายามแปรญัตติเกินจากหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับในวาระที่ 1

ธีรัจชัย ในฐานะรองประธาน กมธ. วิสามัญแก้รัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่าขณะนี้สภาได้รับหลักการร่างของพรรคประชาธิปัตย์เพียงฉบับเดียว ซึ่งเป็นการแก้ไขใน 2 มาตราเท่านั้น คือเรื่องสัดส่วนจำนวนสมาชิก ส.ส. แบบแบ่งเขตกับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และวิธีคำนวณ แต่ไม่ได้เป็นการเสนอแก้ไขเพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งทั้งระบบ นี่คือหลักการที่ผ่านวาระที่ 1 ของรัฐสภา

ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระรับหลักการมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่สำคัญมี 3 ฉบับ เสนอมาจาก 3 พรรคการเมือง คือ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาคล้ายกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และจะต้องแก้ไขจำนวน 8 มาตรา แต่ทั้ง 2 ฉบับสภาไม่ได้รับหลักการไว้ มีเพียงฉบับของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ผ่านวาระรับหลักการ ล่าสุดคือขณะนี้อยู่ในช่วงของการแปรญัตติและแปรเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการแปรญัตติครั้งนี้ มีสมาชิกที่แปรญัตติเข้ามาด้วยการนำ 2 ร่างจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยที่ตกไปแล้วทั้งหลักการและเหตุผลเข้ามา เรื่องนี้จึงต้องพิจารณาถึงหลักการความมั่นคงทางนิติบัญญัติด้วย คือต้องมีความชัดเจนแน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การนำร่างตกไปแล้วเข้ามา พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าไม่ควรทำ เพราะเป็นการไม่คำนึงถึงกระบวนการนิติบัญญัตติที่ต้องเคารพร่างที่ผ่านรัฐสภา หากต้องการทำเช่นนั้นควรต้องไปยื่นและเสนอต่อสภาใหม่ ไม่ใช่นำมายัดเยียดเข้ามาทั้งที่หลักการต่างกัน

“การประชุม กมธ. ถูกเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 27 และ 30 กรกฎาคม คงต้องพิจารณาเรื่องนี้กันว่า เรื่องที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค พยายามแปรญัตตินำหลักการที่ตกไปแล้วเข้ามาแบบนี้ได้หรือไม่ แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกลมองว่าไม่ชอบธรรม และการไปอ้าง ข้อบังคับ 124 ที่บอกว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ ก็ต้องไม่แก้มากขนาดนี้ จะต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็นและควรแก่เหตุตามหลักกฎหมายมหาชนด้วย การเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มมาตราอื่นต้องเป็นการเพิ่มจำนวนน้อยและเหมาะสม ไม่ใช่แก้มากกว่าหลักการที่ผ่านของมาเพียง 2 มาตรา เป็น 8 มาตรา ไปตามร่างที่ตกไปแล้ว หากทำแบบนี้ไปอีกหน่อยหลักความมั่นคงทางนิติบัญญัติของประเทศนี้จะเสียไป จะรับหลักการมาตราใดแค่มีเสียงข้างมากก็ดันทุรังแก้ไป ทำตามอำเภอใจเพื่อแก้กฎหมายไปได้เรื่อยๆ การแก้รัฐธรรมนูญควรใช้เหตุผลทั้งด้านกฎหมาย วิชาการ ประวัติศาสตร์มาโต้แย้ง ไม่ใช่แก้แบบเอากฎหมายที่ตกไปแล้วมายัดเยียดแบบนี้”



ด้านรังสิมันต์กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด มีวิกฤตที่เรื้อรังคือวิกฤตรัฐธรรมนูญและถือเป็นวิกฤติของบ้านเมือง ทำให้เมื่อประเทศเจอภัยต่างๆ เข้ามา การมีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงไม่สามารถบริหารจัดการได้ พูดง่ายๆ ก็คือได้ถูกกำหนดมาแล้วว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญนี้ก็ต้องมีชายที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ ดังนั้น ที่พรรคก้าวไกลต้องการแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ออกจากวิกฤตในปัจจุบันได้ แต่เสียดายที่ผ่านมาที่มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขวิกฤต การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ฉบับที่เป็นใจกลางของปัญหา เช่น การยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีกลับไม่ผ่าน กลายเป็นว่าที่ผ่านมีฉบับเดียวที่ว่าด้วยการระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นฉบับที่พิกลพิการที่สุด เพราะเจตนาของร่างนี้ไม่ใช่เพื่อแก้ไขวิกฤตชาติหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้วิกฤตเลย ซึ่งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะต้องไปแก้ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ที่มาจากประชาชน ใครอยากได้ระบบเลือกตั้งแบบไหนก็ไปหาเสียงกับประชาชนตรงนั้น แบบนี้จึงจะได้ระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่ายจริงๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อรัฐบาลกำลังไปไม่ได้ ก็พยายามเกี้ยะเซี๊ยะบ้าง ดัดแปลงพันธุกรรมบ้าง ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญกลายพันธุ์บ้าง เพื่อให้สถาปนาอำนาจตนเองขึ้นมาแล้วอยู่ในภายใต้โครงสร้างการเมืองต่อไปในอนาคตโดยไม่ต้องแตะต้องโครงสร้างอื่นแล้วก็พยายามอธิบายว่า ได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว

“ผมสรุปได้เป็นคำสองคำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ หนึ่ง สอดไส้ สองไม่มีกระดูกสันหลัง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่เสนอเข้ามา มี 3 ฉบับ คือของ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ไม่พูดถึงรายละเอียดจึงแย่ที่สุด บางคนอาจบอกว่าเพื่อเปิดกว้างในการแก้ไข แต่บางคนก็ว่าอาจจะเป็นเพราะเร่งรีบเสนอร่างเกินไป จนสุดท้ายไม่ได้ดูว่าที่เขียนไปนั้นไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ก็เสียชื่อความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ทว่าฉบับนี้ฉบับเดียวที่ผ่านการรับหลักการเข้ามา แต่พอมาในการแปรญัตติก็มีความพยายามแก้ให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นร่างของ พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐ คำถามคือถ้าเป็นแบบนี้จะพิจารณาวาระที่ 1 ไปทำไม ถ้าสุดท้ายก็เอาสองร่างที่ตกไปกลับมายัดในร่างนี้ แบบนี้ไม่ต้องทำหน้าที่วาระที่ 1 เลยก็ได้ อยากแก้อะไรก็แก้ไป ถ้าทำแบบนี้ สภา วัฒนธรรม สิ่งที่เคยทำกันมา ก็เสียหายกันไปหมด สุดท้ายการแก้กฎหมายไม่มีกติกา จึงอยากเรียกร้องความมีกระดูกสันหลังของนักการเมืองโดยเฉพาะที่เป็น ส.ส. มาแล้วหลายสมัย เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่เพียงทำลายรัฐธรรมนูญและซ้ำเติมวิกฤตเท่านั้น แต่กำลังทำลายระบบรัฐสภาด้วย นี่จึงเป็นสิ่งที่ที่น่าผิดหวัง”



รังสิมันต์กล่าวว่า อยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาความพยายามสอดไส้การแก้รัฐธรรมนูญแบบที่ตัวเองปรารถนาที่ยังคงอยู่ เชื่อว่าการจับตาจะเป็นพลังหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ได้สติ เพราะเรามีบทเรียนกับความพยายามสอดไส้ กับความพยายามแก้ไกฎหมายโดยไม่สนหลักการมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งผลสุดท้ายก็คือวิกฤติ อย่าหวังว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วในระยะยาวคนที่เสียที่สุด คนแพ้ที่สุดก็คือประเทศนี้ อย่าแก้รัฐธรรมนูญโดยเพิกเฉยวิกฤตและความเป็นความตายของประเทศนี้ เราต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ และรัฐธรรมนูญที่บันดาลการตั้งรัฐบาลที่เป็นของประชาชน ฟังเสียงประชาชน และพร้อมแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลขับเคลื่อนด้วยการด่า การแก้รัฐธรรมนูญมีความจำเป็น แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ไม่นำไปสู่การวิกฤตแน่ จึงขอเรียกร้อง ทุกพรรคการเมือง และนักการเมืองที่อยู่ใน กมธ. ให้มีกระดูกสันหลัง อย่าสอดไส้อีกเลย เพราะเราเจ็บปวดกันมามากพอแล้ว

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า