
เก็บตก กมธ. งบ 65 #3: กระทรวงสาธารณสุข
3.1 การกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตาม
ลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์
ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เราคาดหวังให้กระทรวงสาธารณสุขระดมสรรพกำลัง ทั้งแผนงาน งบประมาณ และกำลังคนในการแก้ปัญหาวิกฤต
แต่ในการชี้แจงในกรรมาธิการงบประมาณ ดูเหมือนกระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด-19 เท่าใดนัก เมื่อเทียบกับแผนงานด้านอื่น เช่น กัญชาเพื่อการแพทย์ โครงการนวดไทยสร้างอาชีพส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตบางประการที่ ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการงบประมาณจากพรรคก้าวไกลถามแล้ว ดูเหมือนจะยังไม่ได้คำตอบเท่าใดนัก
เรื่องแรกที่เราต้องตั้งข้อสังเกตกันก็คือ “การกระจายวัคซีนที่บิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์”
จากรายงานของ TDRI ระบุว่า “ผลที่เกิดขึ้นก็คือการกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่า บางจังหวัดเช่นบุรีรัมย์มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็มหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักและไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วนในการได้รับวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม”
ในขณะที่บางพื้นที่ได้รับวัคซีนมากเกินจำเป็น ยังมีที่ผู้ที่ต้องการวัคซีนจริงๆ อีกจำนวนมากที่ยังได้รับวัคซีนเลย
เมื่อดูสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนแบ่งตามกลุ่มต่างๆ จะเห็นว่า
- ค่าเฉลี่ยประชาชนทั่วไปอยู่ที่ 5.2% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 28,538,000 คน
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรคได้รับวัคซีนเพียง 3.5% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 835,915 คน
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีน เพียงแค่ 0.9% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 12,500,000 คน
การจัดสรรวัคซีนที่บิดเบี้ยวเป็นปัญหาที่วนเป็นงูกินหาง หลายคนยังไม่ได้วัคซีน โดนยกเลิกแล้ว ยกเลิกอีก แต่กลับมีคนบางกลุ่มได้รับวัคซีนก่อน รวมทั้งมีการลัดคิวฉีดวัคซีนจำนวนมาก โดยใช้เส้นสายของผู้บริหารโรงพยาบาลและนักการเมือง ทำให้ผู้ที่ต้องการวัคซีนจริงๆ ได้รับการฉีดวัคซีนน้อย และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับวัคซีน
อ่านข้อมูลเต็มๆ ของ TDRI ได้ที่ https://tdri.or.th/2021/07/report-2years-prayut-cabinet2/