เก็บตก กมธ. งบ 65 #3: กระทรวงสาธารณสุข
3.2 ทำไม Rapid Antigen Test ของประเทศไทยมีราคาสูง
ยอดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทำ New High ทุกวัน สิ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ก็คือ Rapid Antigen Test เพื่อทำการตรวจเบื้องต้น คัดแยกคนที่ป่วยออกจากคนที่ไม่ป่วยโดยเร็วเพื่อลดโอกาสติดเชื้อให้มากที่สุด
การใช้ Rapid Antigen Test เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ และ ส.ส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นำมาใช้คลัสเตอร์บางแค ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้ลดจำนวนการแพร่กระจายเชื้อได้เป็นจำนวนมาก และพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้เสนอให้มีการขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม
ไม่ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขเพิ่งนึกออกหรืออย่างไรไม่ทราบ ว่าการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไม่สามารถใช้วิธี RT-PCR ที่ใช้เวลานานได้เพียงอย่างเดียว ถึงเพิ่งจะเริ่มปลดล็อก Rapid Antigen Test กันเมื่อต้นเดือนนี้
แต่สังคมก็มีการตื่นตัวกันมาก มีการประกาศขายชุดตรวจ Rapid Antigen Test กันอย่างแพร่หลาย ในราคา 300-400 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ถูกเลยสำหรับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้
เมื่อลองเปรียบเทียบราคาขายกับต่างประเทศ พบว่ามีราคาที่แตกต่างหลากหลาย และมีบางประเทศที่แจกฟรี แต่ประเทศไทยราคาที่แทบจะแพงที่สุด
สหราชอาณาจักร
แจกฟรี สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แจกผ่าน Home Delivery, สถานที่ทำงาน, จุดตรวจชุมชน เป็นต้น
สวิตเซอร์แลนด์
แจกฟรี เดือนละ 5 ชุด แจกฟรีที่ร้านขายยา
แคนาดา
แจกฟรี ในสถานที่ทำงาน
เยอรมนี
ราคาชุดละ 170-193 บาท (คิดเป็น 7-11% ของค่าแรงขั้นต่ำ ) บางแห่งลดราคาเหลือ 30 บาท และมีจุดตรวจฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ
เกาหลีใต้
ราคาชุดละ 280-300 บาท (คิดเป็น 15% ของค่าแรงขั้นต่ำ)
สิงคโปร์
ราคาชุดละ 241-313 บาท (คิดเป็น 20-30% ของค่าจ้างมาตรฐาน; Basic Wage Threshold)
ในขณะที่ประเทศไทย…
มีราคาขายตามท้องตลาด ถึงชุดละ 300-400 บาท (คิดเป็น 80-110% ของค่าแรงขั้นต่ำ !?!)
อย่าลืมว่าเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้ว ค่าครองชีพของประเทศเหล่านี้สูงกว่าเรามาก
“โอกาสที่จะได้รับการตรวจของคนไทย ต้องแลกมาด้วยการเดินทางไปแต่เช้า เอารองเท้าไปต่อคิว เอาขวดน้ำไปต่อคิว พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาควบคุมราคาและอุดหนุนราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งกับการควบคุมโรคระบาดและชีวิตประชาชน”