free geoip

อุดหนุนค่าเทอม เพิ่มงบพัฒนาการสอนออนไลน์ – ถ้าไม่ทำ การเรียนรู้เด็กไทยถดถอย


อย่าทำเหมือนไม่มีวิกฤต! “ศิริกัญญา” เสนอ กระทรวงศึกษาอุดหนุนเงินค่าเทอม ลดภาระผู้ปกครอง ชี้ “เรียนออนไลน์” ทำให้การเรียนรู้ถดถอย ถ้าไม่มีแผนและงบประมาณมาพัฒนา

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงแนวทางลดภาระผู้ปกครองที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19

ศิริกัญญากล่าวว่า ประเด็นเรื่องการลดค่าเทอม เป็นเรื่องที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ รวมทั้งมีข่าวออกมาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็มีการสั่งการเรื่องนี้ แต่ตนมองไม่เห็นทางออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าหากไม่มีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางไปให้ จะให้โรงเรียนแต่ละแห่งปรับลดค่าเทอมเองคงโดยสมัครใจ แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละแห่งก็มีต้นทุนคงที่ที่ยังต้องจ่าย และมีเงินสะสมไม่เท่ากัน

และยิ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แม้บางโรงเรียนจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว แต่เงินส่วนนั้นยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือเงินเดือนครูเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากเฉพาะเงินอุดหนุนรายหัวครอบคลุมแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น การบีบให้ลดค่าเทอมอีกจึงแทบเป็นไปไม่ได้

“ดิฉันก็เห็นด้วยว่า ถ้าจะนำเงินกู้ส่วนหนึ่งมาช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองในยามวิกฤตนี้ด้วยการอุดหนุนค่าเทอมบางส่วนให้กับแต่ละโรงเรียน จึงคิดว่าอาจจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้”



ศิริกัญญา ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เราเห็นบทเรียนแล้ว หากปล่อยให้สถานศึกษาลดค่าเทอมโดยสมัครใจ อย่างในกรณีของค่าเทอมระดับมหาวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่ลดลงแค่ 10% ทั้งๆ ที่ หลายมหาวิทยาลัยมีกำไรสะสมค่อนข้างมาก เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มีกำไรสะสม 6.6 หมื่นล้านบาท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำไรสะสม 6 หมื่นล้านบาท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกำไรสะสม 1.8 หมื่นล้านบาท สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเงินสะสมยิ่งไม่สามารถคาดหวังได้มากกว่านี้ ทางออกคือต้องให้รัฐบาลอุดหนุนเงินลงมาตามสัดส่วน ไม่ใช่ให้แต่ละมหาวิทยาลัยตัดสินใจเอง ซึ่งน่าจะใช้เม็ดเงินไม่มาก แต่สามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครอง และนักศึกษาในช่วงวิกฤตของประเทศครั้งนี้ได้

ในประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์ ศิริกัญญาได้กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเทอมที่ 3 แล้ว ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์กัน จึงได้สอบถามถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานว่าได้มีการเตรียมอุปกรณ์ความพร้อมให้กับครู และผู้เรียนอย่างไรบ้าง เพราะจากที่ดูจากงบประมาณที่ตั้งมายังไม่ค่อยเห็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียน มีก็แต่รายการที่ใช้สำหรับอบรมวิธีการสอนออนไลน์

หลายแห่งมีการศึกษาปัญหาของการเรียนออนไลน์ เช่น รายงานของของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่กล่าวว่า “ครอบครัวที่ยากจนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวก ด้วยความที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แม้กระทั่งกรณีที่ไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก แต่หากต้องเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์ แล้วถ้าในครอบครัวนั้นมีลูก 2 คนขึ้นไป ก็ทำไม่ได้แล้ว ถ้าที่บ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว และยิ่งไปกว่านั้นการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ทรมาน เมื่อต้องนั่งจ้องจอมือถือที่มีจอขนาดเล็กไปนานๆ”

“ดิฉันจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจเด็กๆ มาก รวมไปถึงครูเองด้วย ที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น โดยครูบางท่านต้องแก้ปัญหาโดยการแบ่งจำนวนนักเรียนในห้องออกเป็น 2 ห้อง เพราะไม่สามารถสอนนักเรียนพร้อมกันได้ทั้ง 50-60 คน โดยที่ต้องดูนักเรียนที่อยู่ในออนไลน์พร้อมกันได้ กลายเป็นว่าต้องสอน 2 รอบ ต้องวิ่งส่งใบงานให้ตามบ้านนักเรียนบ้าง ต้องทำงานเพิ่มขึ้น คำถามคือมีการเพิ่มอัตรากำลังบ้างหรือไม่ หรือมีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้กับครูที่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่”



นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่างบริษัท McKinsey พบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กถดถอย ดังนั้น ภายหลังจากที่มีการกลับมาเรียนปกติแล้ว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูการเรียนรู้กลับคืนมา แต่หน่วยงานกลับยังไม่มีการเตรียมการงบประมาณในส่วนนี้ รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาจำนวนวันที่ทำการเรียนการสอน ที่น้อยลงไปแล้วกว่า 10% จากเดิมที่หนึ่งปีจะเรียนประมาณ 200 วัน จะเหลือเพียงปีละประมาณ 180 วัน ไม่นับว่าการเรียนออนไลน์อาจทำให้เรียนไม่ทันตามบทเรียน

“ปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ถูกลดงบประมาณไปประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มูลค่า 3,000 ล้านบาทเป็นการลดลงของงบประมาณด้านบุคลากร เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการในแต่ละปีค่อนข้างมาก แม้จะรับครูเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังไม่เท่ากับจำนวนครูที่เกษียณออกไป ดังนั้น ดิฉันจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนแผนและงบประมาณเพื่อรองรับโจทย์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น”



อีกเรื่องที่อยากฝาก คือกระทรวงศึกษาธิการพูดถึงโครงการปฏิรูปกระบวนการสอนเรื่องเพศวิถี และเพศศึกษา แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า เนื้อหาการอบรมศึกษานิเทศก์มีการเหยียดเพศและมีการพูดถึงว่า “เด็กที่ความหลากหลายทางเพศเป็นเพราะเด็กเห็นเพื่อนเป็นกันเยอะแล้วสนุกดี ก็เลยมีแนวโน้มที่จะเป็นคนข้ามเพศ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าผิดหวัง และคงไม่เรียกว่าเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปการสอนเรื่องเพศได้ เพราะแค่การอบรมครู วิทยากรก็มีปัญหาด้านทัศนคติตรงนี้แล้ว

ในส่วนการชี้แจงจากกระทรวงศึกษาธิการดูเหมือนยังไม่ตอบคำถามของศิริกัญญาเท่าใดนัก โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าเรื่องการคืนค่าเทอม ได้มีการส่งหนังสือแจ้ง “ขอความร่วมมือ” ให้โรงเรียนเอกชนช่วยลดค่าเทอม โดยไม่มีการอุดหนุนหรือชดเชยใดๆ ให้กับโรงเรียนเอกชน รวมทั้งงบประมาณสำหรับสนับสนุนการเรียนออนไลน์ เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง ก็ให้เบิกจากงบเงินอุดหนุนรายหัวของรักเรียนตามปกติ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า