
มาตรฐานการพิจารณางบประมาณอยู่ที่ไหน! ‘ส่วนราชการในพระองค์’ งบ 8,761 ล้านบาท มีเอกสารแค่ 7 หน้า ผ่านฉลุยใน 10 นาที
วันนี้ผมในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้เสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณให้มีการพิจารณางบประมาณส่วนราชการในพระองค์โดยละเอียดเพราะเอกสารชี้แจงงบประมาณมีเพียงแค่ 7 หน้าเท่านั้น โดยถ้าไม่มีรายละเอียด ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานดังกล่าวมาชี้แจง ก็ต้องเสนอให้มีการแขวนหรือเลื่อนการพิจารณางบประมาณหน่วยงานนี้ไปก่อน
สืบเนื่องจากที่ วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานร่วมในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้เสนอให้ผ่านการพิจารณาอนุมัติงบประมาณหน่วยงานราชการในพระองค์ปีนี้ไปเลย โดยอ้างว่า การพิจารณางบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านไปแล้วเมื่อวานนี้และคนที่ต้องเป็นผู้ชี้แจงงบประมาณหน่วยงานราชการในพระองค์คือเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดังนั้นก็ให้หน่วยงานราชการในพระองค์ผ่านไปด้วยเลย แล้วปีหน้าค่อยให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง
เมื่อได้รับคำอธิบายเช่นนั้น ผมจึงได้ยกมือขึ้นเพื่อใช้สิทธิขออภิปรายในทันที
ทั้งๆ ที่คณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ได้มีการพิจารณางบประมาณมาแล้วหลายกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 4,380 ล้านบาท มีรายละเอียด 195 หน้า กระทรวงพลังงาน งบประมาณ 2,717 ล้านบาท มีรายละเอียด 112 หน้า กระทรวงพาณิชย์ งบประมาณ 6,523 ล้านบาท มีรายละเอียด 269 หน้า แต่ส่วนราชการในพระองค์ มีงบประมาณถึง 8,761 ล้านบาท มากกว่า 3 กระทรวงที่กล่าวมา แต่มีเอกสารแค่ 7 แผ่นเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดชี้แจง
ผมคิดว่าเพื่อที่จะให้มีมาตรฐาน มีความโปร่งใส ในการพิจารณา ต้องมีคนมาชี้แจงไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงาน เพื่อมาอธิบายว่างบประมาณ 8,761 ล้านบาทจากเงินภาษีของประชาชน เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่บอกว่ามีการตั้งตัวชี้วัดหรือ KPI คือ การดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์และการถวายความสะดวก ถวายความปลอดภัยจำนวน 30,000 เรื่อง มีอะไรบ้าง ผมจะได้ทำหน้าที่ของกรรมาธิการในการตรวจสอบได้ ถ้าเอกสารที่เป็นรายละเอียดมากกว่านี้ยังไม่มี หรือไม่มีใครมาชี้แจง ผมเสนอให้แขวนหรือเลื่อนการพิจารณาไปก่อนแล้วก็ขอให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือคนที่เหมาะสมมาตอบคำถามกับกรรมาธิการได้ กลับมาชี้แจง หากเป็นเช่นนั้นผมคิดว่าจะสง่างามและก็เหมาะสมกว่า
ผมทราบมาว่าพอ ผมพูดจบโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดการประชุมของคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ออกไปข้างนอกก็ได้ถูกตัดสัญญาณไม่ให้ถ่ายทอดสดออกมาภายนอกห้องประชุมโดยทันที
หลังจากนั้น ประธานในที่ประชุมกรรมาธิการได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงแทนส่วนราชการในพระองค์ โดยที่ทางหน่วยงานราชการในพระองค์หรือเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเองกับคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ แต่อย่างใด คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งหน่วยงานราชการในพระองค์
ซึ่งทางผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้ชี้แจงว่า ส่วนราชการในพระองค์ มีงบประมาณในปีนี้อยู่ที่ 8,761 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณด้านบุคลากรในพระองค์เป็นเงินประมาณ 8,098 ล้านกว่าบาท ที่ประกอบด้วยสำนักองคมนตรี สำนักพระราชวัง หน่วยงานถวายความปลอดภัย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภคเป็นหลักแล้วก็ค่าวัสดุต่างๆ ค่าชุดต่างๆ แล้วก็มีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากรจำนวนทั้งสิ้น 14,275 อัตรา ประกอบด้วย สำนักงานองคมนตรี สำนักงานพระราชวัง สำนักงาน 904 กองบัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และกองบัญชาการนายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์ เป็นกำลังพลที่โอนมาทั้งฝ่ายตำรวจและกลาโหม
สุดท้าย ประธานในที่ประชุมได้ให้มีการถามตอบและชี้แจงโดยสำนักงบประมาณรวมเป็นเวลาทั้งสิ้นแค่ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ให้งบประมาณของหน่วยงานราชการในพระองค์ผ่านการพิจารณาไปได้
งบประมาณส่วนราชการในพระองค์จำนวน 8,761 ล้านบาท เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวเลขรวมงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ จำนวนกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูกรวบรวมโดยเพื่อน ส.ส. เบญจา แสงจันทร์ จากพรรคก้าวไกล ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 วาระแรก เมื่อค่ำวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ผมขอเรียกร้องไปยัง กมธ.งบ’65 ทุกท่านว่างบประมาณแผ่นดินที่เราร่วมกันพิจารณากันมา ปีนี้สูงถึง 3.1 ล้านล้านบาท เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ถ้าหน่วยงานไหนเอกสารรายละเอียดไม่ครบถ้วน หน่วยงานอธิบายชี้แจงถึงความจำเป็นไม่ได้ ก็จะถูกตัด บางหน่วยงานก็จะถูกแขวน หมายถึงให้พักการพิจารณา แล้วให้กลับไปทำเอกสารแล้วมาชี้แจงใหม่ บางหน่วยถูกแขวนมากกว่า 1 ครั้ง บางหน่วยงานหากหัวหน้าหน่วยไม่ได้เป็นผู้มาชี้แจง เราก็เคยไม่ยอมด้วยซ้ำ เราก็ขะมักเขม้นในการตัดลดเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
ผมก็เพียงแค่คาดหวังเช่นกันว่าเราจะมีมาตรฐานเดียวกันแบบนี้กับทุกหน่วยรับงบประมาณ
เรามาช่วยกันครับ…