ด่วน! ราชกิจจาฯ ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามเสนอข่าวทำให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นข่าวจริงก็ตาม ใครฝ่าฝืนถูก กสทช. สั่งปิดสื่อได้ทันที! มีแต่รัฐทรราชเท่านั้นแหละที่ทำแบบนี้!!!
เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้มีการประกาศ การออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีผล 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีเนื้อหาที่สำคัญก็คือ “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”
( อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/170/T_0001.PDF )
หากพิจารณาถึงถ้อยความในข้อกำหนดข้างต้น ก็อดตั้งคำถามว่ารัฐบาลของนายประยุทธ์ จันทร์โอชากำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือไม่?
คำว่า “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว…ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน…” นั้น หากอ่านแล้วอาจหมายความได้อย่างกว้างขวาง และหมายรวมถึงกรณีที่แม้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง เช่น การที่สื่อมวลชน พี่น้องประชาชนหรือพรรคการเมืองเสนอข้อมูลข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาล ข่าวผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดโควิด- 19 ก็ไม่อาจนำเสนอได้ ใช่หรือไม่???
เช่นนั้นแล้ว ข้อกำหนดที่เขียนด้วยเท้าเช่นนั้น มุ่งหมายที่จะปิดปากสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน และพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลว และโง่เขลาเบาปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ใช่หรือไม่?
นอกจากนี้ ข้อกำหนดข้างต้น ย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จริงอยู่ที่มีข้อยกเว้นในบางสถานการณ์ แต่การออกข้อกำหนดปิดปากห้ามไม่ให้ใครก็ตามพูด แม้แต่เรื่องจริง เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน เพราะมุ่งหมายไม่ให้ใครก็ตามเสนอข้อมูลข่าวสารที่แม้จะเป็นความจริงแต่ถ้าผู้มีอำนาจตีความว่ามีลักษณะเป็น “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว…ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน…” ก็ผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดีได้
มีแต่รัฐทรราชเท่านั้นที่ประพฤติเช่นนี้
อีกทั้งในข้อกำหนดข้อต่อมา ที่กำหนดให้สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีอำนาจในการแจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต ถึงกรณีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสาร และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากที่ใดพร้อมทั้งให้แจ้งรายละเอียดให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นทันที และให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ท้ายสุดแล้ว สำนักงาน กสทช. จะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลการบริการการสื่อสารให้เป็นไปได้ด้วยเรียบร้อย หรือจะเป็นแค่ “มือ-เท้า” ของรัฐบาลนายประยุทธ์ จันทร์โอชาในการปิดหู ปิดตา ปิดปาก และสร้างความหวดกลัวให้กับประชาชนใช่หรือไม่ แม้ข้อกำหนดข้างต้นจะคลุมเครือจนถึงขนาดว่า แม้เสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความจริง แต่รัฐบาลและผู้มีอำนาจเห็นว่าสร้างความกลัว ก็ผิดกฎหมายได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว สำนักงาน กสทช. ก็ต้องพึงระลึกไว้เสมอ องค์กรของตนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดและความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด -19 และส่งผลให้มีผู้ป่วย ผู้สูญเสีย และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
มิพักต้องพูดถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ สำนักงาน กสทช. ทำได้โดยทันที โดยไม่ผ่านการตรวจถ่วงดุลโดยองค์กรตุลาการ เช่นนั้นแล้ว สำนักงาน กสทช. ก็จะเป็นหน่วยงานที่ใหญ่คับฟ้า ควบคุมความคิดเหนของพี่น้องประชาชนได้โดยชัดเจน ไม่ต้องจากการปกครองของเผด็จการที่คอยควบคุมความคิดและโฆษณาชวนเชื่อพียงด้านเดียวของรัฐบาล
ในห้วงเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน มีผู้คนล้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน มีคนที่สูญเสียครอบครัวที่รัก มีคนที่สูญเสียโอกาสหรืออนาคตในชีวิต หรือแม้แต่สูญเสียชีวิตของตนเอง การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนและผู้คนในสังคม ไม่ใช่การแก้ปัญหา เช่นนั้นแล้วนานาอารยประเทศที่ผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด–19 มาได้ คงเลือกใช้หนทางเช่นนี้หมด แต่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือการที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ใช้สติปัญญาและอำนาจที่ตนมี แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยคำนึงถึงทุกชีวิตของประชาชน เพราะทุกชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไป ไม่ใช่เพียงตัวเลขบนกระดานนำเสนอข้อมูล แต่คือเลือดเนื้อ คือชีวิต คือความผูกพันธ์ของประชาชนครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง
แทนที่จะปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องรีบดำเนินการคือ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชนว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร รัฐบาลกำลังดำเนินการอะไร และประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงที่เกิดชึ้นในบ้านเมือง ไม่ใช่รับรู้ได้แต่เพียงสิ่งที่ผู้มีอำนาจนำเสนอ เพราะประชาชนย่อมมีวิจารณญาณและใช้ความคิดในการทำความเข้าใจและตัดสินใจว่าจะเชื่อสิ่งเหล่านั้นหรือไม่
การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดจะทำอะไรก็ได้ หากแต่การใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น และต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร
หากรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ไม่มีสติปัญญามากพอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะมีตัวอย่างให้ศึกษาและปฏิบัติตามจากนานาอารยะประเทศที่กำลังผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยด้วยดีแล้ว การเปลี่ยนม้ากลางศึก ที่ปัจจุบันนี้ ประชาชนก็ไม่มีความแน่ใจว่าเป็นม้าจริงหรือไม่นั้น ก็เป็นทางออกที่สำคัญยิ่งของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความจริงใจ และความเข้าอกเข้าใจถึงพี่น้องประชาชนเข้ามาแก้ไขปัญหา
สิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลต้องคำนึงถึงคือ การใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นต้องเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคงหรือความอยู่รอดของประเทศชาติประชาชน” ไม่ใช่ “ความมั่นคงของรัฐบาล”