จัดงบประมาณแบบไหน ช่วยประชาชนเจ้าของภาษีได้ดีที่สุดในยุคโควิด?
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา กรรมาธิการงบประมาณ มีการโหวตครั้งสำคัญที่สร้างข้อกังขาให้ประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ นั่นคือการตัดสินใจว่า งบประมาณประจำปี 2565 ที่กรรมาธิการเพียรพยายาม “รีดไขมัน” ตัดลดงบมาจนได้เป็นก้อนงบประมาณ 16,300 ล้านบาท จะนำไปเพิ่มให้กับหน่วยงานไหน?
กรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกล พยายามเสนอว่าให้นำงบก้อนนี้ ไปเพิ่มให้กับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสวัสดิการประชาชนโดยตรงเลยจะดีกว่า เช่น
- ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินปี 63-64 จำนวน 13,200 ล้านบาท
- ให้สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท
- ให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท
- ให้กองทุนประกันสังคม 509.61 ล้านบาท
แต่กลับปรากฏว่า กรรมาธิการเสียงข้างมาก โหวตให้นำเงิน 16,300 ล้านบาทนี้ เข้างบกลาง! ซึ่งหมายถึงงบที่นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจบริหารจัดการแต่เพียงผู้เดียว สภาตรวจสอบรายละเอียดไม่ได้เลย รู้ได้เพียงว่าเอาไปใช้ในโครงการชื่ออะไรเท่านั้น
พูดง่ายๆ คือเตะเงิน 16,300 ล้านบาท เข้าปากประยุทธ์ ทั้งที่ในมือพลเอกประยุทธ์ มีงบกลางก้อนใหญ่ถึง 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนที่ใหญ่กว่าทุกกระทรวงอยู่แล้ว และยังมี พ.ร.บ. เงินกู้โควิด ฉบับที่ 2 จำนวน 5 แสนล้านบาทเป็นอาวุธเสริม ไม่นับเงินสำรอง 50,000 ล้านบาทที่มีตุนไว้ในกระเป๋าตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณอีก!
มีเหตุผลจากกรรมาธิการเสียงข้างมากที่โหวตให้เอาเงินเข้างบกลาง ว่าการนำเงินเข้างบกลาง เพื่อให้รัฐบาลนำไปช่วยเยียวยาประชาชนในช่วงโควิดได้ดีขึ้น และหากนำเงินไปเพิ่มให้หน่วยงานอื่นๆ จะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ซึ่งห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติโดยให้ตนเองมีส่วนในทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งที่ในปีที่ผ่านมา กรรมาธิการก็นำงบที่ตัดได้ไปเพิ่มให้กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ได้มีข้อกังวลเรื่องผิดมาตรา 144 เนื่องจากในแต่ละปี มีหน่วยงานเป็นจำนวนมากทำเรื่องของบเพิ่มมาอยู่แล้ว และกรรมาธิการเพียงแต่เลือกตามหน่วยงานที่ทำเรื่องมา ไม่ได้มีการไปแทรกแซงการจัดทำงบโดยทุจริต จึงไม่ใช่กรณีฝ่าฝืนมาตรา 144
ส่วนเรื่องที่ว่า เอาเข้างบกลาง จะเป็นการนำไปเยียวยาประชาชน แก้ปัญหาโควิดได้ดีกว่า ขอให้ทุกท่านลองพิจารณาดูเองว่า ระหว่างการเซ็นเช็คเปล่า ให้นายกฯ ที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา นำไปใช้จ่ายตามใจชอบในนาม “งบกลาง” สภาตรวจสอบแทบไม่ได้ กับข้อเสนอจากกรรมาธิการฝั่งก้าวไกล ที่ให้นำงบไปจัดสรรให้หน่วยงานที่แบกภาระเยียวยาช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันสังคม ที่ต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ตกงาน สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่ต้องแบกรับภาระค่าจ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชนผู้ใช้บัตรทอง และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจะไปช่วยเหลือเด็กที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจนอาจต้องออกจากโรงเรียน