งบกลางคืออะไร? ทำไมไม่ควรเทงบที่ตัดได้ไปลงงบกลาง
งบกลางคืองบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยแยกต่างหากจากงบประมาณปกติ ซึ่งจำแนกรายกรม ปี 2565 ตั้งไว้ 571,047 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 11 รายการ (ถ้าอยากรู้ ดูเพิ่มในส่วนท้าย)
แต่รายการฮอตฮิตที่มีปัญหาเรื่อง “ความไม่โปร่งใส” มากที่สุด ก็คือรายการที่ 11
> “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น”
ซึ่งเปรียบเสมือน “เช็กเปล่า” ให้นายกฯ ใช้ เพราะนายกรัฐมนตรี มีสิทธิ์ขอให้ ครม. เซ็นไปใช้ได้ครอบจักรวาล ไม่ว่าจะนำไปแจกลงพื้นที่ของ ส.ส. คนใดหรือใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ โดยไม่ต้องมีตัวชี้วัดหรือแผนการใช้เงินที่ชัดเจน
ส่วนมากก็มีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติของกรมต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ จึงเป็นเหมือนเงินที่เพิ่มขึ้นมาให้พื้นที่หรือโครงการต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้จำเป็นจริง ๆ
และที่สำคัญ “ตรวจสอบยากมาก” เพราะมักไม่เปิดเผย หรือเปิดเผยไม่หมด หรือเปิดเผยเมื่อล่วงเลยเวลาที่คนอยากรู้ไปนานมาก
งบกลางมีได้ แต่ไม่ควรมาก!
ในการพิจารณางบ 65 พรรคก้าวไกล พยายาม “รีดไขมัน” ให้ได้มากที่สุด ในฐานะ “เสียงข้างน้อย” การตัดโครงการหรือปรับลดงบประมาณทำได้ยากยิ่ง และต้องมีเหตุผลเพียงพอที่เสียงส่วนใหญ่ยอมให้ปรับลดในคณะอนุกรรมาธิการ ต้องแบกความไม่พอใจจากข้าราชการเพราะไม่มีกรมใดอยากได้งบน้อย แล้วยังต้องผ่านอีกชั้นในกรรมาธิการใหญ่ซึ่งรัฐบาลก็กุมเสียงข้างมาก
กว่าจะตัดงบแต่ละบาทนั้นแสนยาก การที่ กมธ. งบประมาณเสียงส่วนมาก เทงบประมาณทั้งหมด 16,362 ล้านบาท เข้ากระเป๋า พล.อ.ประยุทธ์ ในงบกลางนั้น จึงเหมือนกับ “ไถนามาให้ประยุทธ์กิน” กล่าวคือ กว่าจะตัดได้ ต้อง (ไถนา) เหนื่อยยากและแบกความเกลียดชังจากข้าราชการ
แต่พอตัดได้แล้ว กมธ. เสียงข้างมากกลับนำไปให้ประยุทธ์จัดสรรไปลงพื้นที่หรือทำโครงการตามใจประยุทธ์หรือคนขอโดยแทบไม่มีการตรวจสอบ ส.ส. คนไหนอยากได้ก็ไปไหว้ขอเอาจากนายกฯ กลายเป็นบุญคุณกันอีก!
ในทางเทคนิค รัฐบาลอ้างว่าเป็น
> “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
ซึ่งฟังเผิน ๆ อาจดูดี แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่!
เงินไม่ใช่ปัญหาเพราะ รัฐบาลเพิ่งออก พรก. เงินกู้สองฉบับยอดรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินก้อนนี้มาก
> เราจึงเห็นว่า “เงินไม่ใช่ปัญหาแต่รัฐบาลไม่มีปัญญาในการแก้ปัญหาโควิด”
ที่น่าห่วงคือ ในทางปฏิบัติ งบที่ตัดได้ 16,000 ล้านบาทก้อนนี้ จะกลายเป็น “งบ ส.ส. แบบกลายพันธุ์” โดยนายกฯ อาจใช้ 16,000 ล้านบาทสำหรับการแก้ปัญหาโควิดจริง แต่เก็บโควต้า 16,000 ล้านบาทจาก “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท” เอาไปจัดสรรทางการเมือง ซึ่งใครอยากได้ก็ไปไหว้นายกฯ ให้แบ่งมาลงพื้นที่ ง่ายต่อการแบ่ง ง่ายต่อการเก็บหัวคิว ไม่มีใบเสร็จให้ตรวจสอบหลักในการจัดสรร #มือใครยาวสาวได้สาวเอา
ส่วนข้อกังวลที่ว่า หากแปรงบไปให้หน่วยงานจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 144 นั้น อาจเป็นการกลัวเกินกว่าเหตุ เพราะงบประมาณทุกปี ตั้งแต่ 61-64 (หลัง รธน. ฉบับบังคับใช้) ก็มีการแปรงบไปให้หน่วยงานต่าง ๆ จะให้ไปไล่เบี้ยเอาผิดกมธ. งบ และ ผอ.สำนักงบฯ ตั้งแต่สมัยนั้น เอาไหม?
แน่นอนว่าการแปรญัตติคืนงบประมาณให้หน่วยงานอื่น จะมีการไปหาผลประโยชน์กันหรือไม่ (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ก็คงต้องตามไปตรวจสอบกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ตรวจสอบง่ายกว่างบกลางแน่นอน เพราะงบประมาณที่จัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ นั้น สภาสามารถเรียกเอกสารขอหลักฐานได้ แต่สำหรับงบกลาง จะมีการเอาไปใช้กันอย่างไรขึ้นอยู่กับคนคนเดียว!!!
เพิ่มเติม
งบกลาง 11 รายการ ในร่าง พ.ร.บ. งบ 65 (เดิม)
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
- เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
- เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท
- เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท
- เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท
- เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
- เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท
- เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท