ไม่พอใจประธาน ‘ก้าวไกล’ เตือนสติ ‘ไพบูลย์’ อย่าดึงดันสอดไส้แก้ รธน. ย้ำ เป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ควรเร่งรัดตัดจบโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64 รัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ,รังสิมันต์ โรม และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.แก้รธน. สัดส่วนพรรคก้าวไกล แถลงผลการประชุมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา
ธีรัจชัย กล่าวว่า ในการพิจารณาวันนี้มีการบรรจุเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 และ 151 เป็นวาระแรก นัยยะสำคัญก็คือ ข้อ 124 ว่าด้วยการให้สมาชิกสามารถแปรญัตตินอกเหนือจากที่บรรจุไว้ในหลักการหรือไม่ ดังนั้น ก่อนเข้าสู่การพิจารณาตนจึงได้เสนอว่าควรพิจารณาข้อ 114 ด้วย เนื่องจากระบุว่าหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาต้องมีความชัดแจ้ง แต่เรื่องนี้มีปัญหาคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ เป็นร่างเดียวที่ผ่านการรับหลักการจากที่ประชุมสภาในวาระที่ 1 ซึ่งร่างนี้กำหนดแก้ไขเพียง มาตรา 83 และ มาตรา 91 เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีหัวเรื่อง ต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ที่มีหัวเรื่องชัดเจนว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งและเสนอแก้ไข 8 มาตรา แต่ทั้งร่างของพรรคพลังประชารัฐและเพื่อไทยถูกตีตกไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องหาข้อยุติก่อนว่าการแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดแจ้งให้แก้เฉพาะ 2 มาตราเท่านั้นใช่หรือไม่
“เมื่อเสนอว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระที่ต้องคุยในกรรมาธิการด้วย แต่ถูกตัดบทโดยประธานในที่ประชุม ซึ่งก็คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ทำให้ไม่สามารถไม่สามารถอภิปรายโต้แย้งเชิงหลักการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อภิปรายได้น่าสนใจว่า การแปรญัตติตามประวัติที่ผ่านมา ตามหลักการแล้วต้องมีหัวเรื่องก่อนจึงค่อยลงไปที่มาตรา ไม่ใช่เขียนเฉพาะมาตราอย่างเดียว ข้อสังเกตนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรรับฟัง แต่ประธานแจ้งว่าเรื่องนี้ยังไม่มีการลงมติว่าจะเอาอย่างไร ปล่อยไว้เฉยๆ เป็นเพียงเรื่องหารือกันเท่านั้น และบอกให้พิจารณาต่อตามวาระไป เมื่อเป็นอย่างนี้เท่ากับว่าเรื่องหลักเกณฑ์การแปรญัตติเพิ่มได้หรือไม่จึงยังไม่มีข้อยุติ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทางประธานได้แจ้งในไลน์ก่อนหน้านี้ว่า ควรตั้งคณะทำงาน ซึ่งได้เห็นแย้งและแถลงต่อสื่อก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า ไม่ควรตั้ง เพราะอาจเป็การเอาคนของตัวเองไปมุบมิบทำออกมาแล้วโหวตแบบพวกมากลากไป พอมาวันนี้ก็มีความพยายามเสนอให้ตั้งคณะทำงานอีกเช่นกัน แต่ก็ได้ถูกโต้แย้งจากกรรมาธิการอย่างแข็งขัน โดยหลายฝ่ายมองว่าควรตั้งเป็นอนุฯ เพราะมีความโปร่งใสมากกว่า เนื่องจากมีการบันทึกชวเลข เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสภายหลังได้ แต่คณะทำงานจะไม่มีตรงนี้ สุดท้ายแล้วจึงไม่มีการตั้งคณะทำงาน แต่ก็ยังน่าสงสัยถึงความพยายามรวบรัด เร่งรีบ ใช้เสียงข้างมากลากไป โดยเร่งรัดให้การประชุมเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ทำไมต้องเร่งรัดเร่งรีบขนาดนี้”
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า กรณีการตั้งคณะทำงานไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อมีความพยายามจะตั้งขึ้นจึงสร้างความผิดหวัง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ดังที่ทราบคือไม่ได้แก้ในสาระสำคัญเลย เป็นการแก้เพียงเรื่องระบบเลือกตั้ง แต่เมื่อจะแก้ระบบเลือกตั้งก็เป็นคำถามต่อไปว่าทำไมต้องเร่งรีบ เพราะระบบการเลือกตั้งที่ดีควรต้องนำไปสู่การหาฉันทามติและแก้ไขความขัดแย้งของสังคมได้ แต่ในห้องไม่มีบทสนทนานี้เลย มีแต่การเร่งรัดเดินหน้าแก้ระบบเลือกตั้งให้ได้ซึ่งก็ไม่ทราบว่าไปรับสัญญาณอะไรมา ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดเรื่องกรอบเวลา เรามีทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ทำงานสังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอยากให้ความเห็น เรามีประชาชนที่อยากมีส่วนร่วม ถ้าจะมีคณะทำงานจริงๆก็ต้องทำอย่างปราณี ต้องออกแบบว่าจะมีระบบรับฟังความเห็นสร้างการส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างไร
“เมื่อโดนโต้แย้งเรื่องตั้งคณะทำงานก็เลี่ยงใช้คำนี้ แต่ยังมอบหมายฝ่ายเลขาให้ไปจัดทำแนวทางว่าจะพิจารณาแปรญัตติได้หรือไม่ ความจริงใจในเรื่องการแก้ระบบเลือกตั้งจึงยังเป็นคำถามว่าแก้เพื่อให้ดีขึ้นหรือแค่แก้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น”
ด้าน รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้หนักใจมากเพราะเรากำลังเห็นการสอดไส้ใน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ก่อนนี้ สภามีโหวตตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนุญไป 12 ฉบับ แล้วผ่านร่างที่สมบูรณ์น้อยที่สุด แต่ในกรรมาธิการ เรากำลังเห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนร่างที่ผ่านมานี้ให้หน้าตาเหมือนกับร่างอื่นที่สภาโหวตคว่ำไปแล้ว จึงไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆว่า การทำแบบนี้จะเป็นผลดีต่อรัฐสภาอย่างไร การทำแบบนี้จะสอดคล้องกับ ข้อบังคับ 256 ว่าด้วยการพิจารณาของสภา 3 วาระอย่างไร เพราะถ้าทำแบบนี้ก็ไม่ต้องกำหนด 3 วาระ เอาแค่ 2 ก็ได้ เนื่องจากวาระแรกไม่มีความหมาย การที่เรากำลังเปลี่ยนให้ร่างของประชาธิปัตย์เป็นเหมือนกับอีกสองร่างที่ตกไป เท่ากับทำลายหลักการของสภาซึ่งนับวันได้รับความเชื่อถือวางใจจากประชาชนน้อยลงทุกที”
“พอกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกลพยายามถามเพื่อหาข้อยุติเรื่องนี้ ก็น่าเสียดายที่นายไพบูลย์ กลับเพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ประธานอย่างสมบูรณ์ ตั้งวาระประชุมเองแท้ๆแต่ไม่พยายามหาข้อยุติ ตีมึนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วดึงดันให้พิจารณาต่อไปซึ่งเห็นกัยอยู่ว่ากำลังสอดไส้เอาร่างที่ตกไปแล้วมาทำลายหลักการของสภา เราไม่เห็นความพยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย แต่สิ่งที่เห็นคือความพยายามบอกว่าสัปดาห์หน้าเอาให้จบ ขอถามว่าการพิจารณากฎหมายสูงสุดจะไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการแก้ไขเลยหรือ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อชีวิต ในอนาคต เขาจะได้รัฐบาลแบบไหน ด้วยกติกาอะไร จะไม่ให้เขามีส่วนร่วมเลยหรือ น่าเศร้าใจที่การแก้รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การสอดไส้อีกครั้ง ยังไม่สาย สัปดาห์หน้า ส.ส. ที่นั่งใน กมธ. ต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้มีการสอดไส้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลอาจไม่โหวตรับร่างนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมาทำหน้าที่ใน กมธ.ก็ต้องทำให้ดีที่สุด บางคนอาจบอกว่าก้าวไกลอยากเห็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ความจริงไม่ใช่ เพราะเราก็ไม่เชื่อว่าบัตรเดียวจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ บัตรสองใบต่างหากที่สะท้อน แต่ความต่างคือคำนวนแบบไหนเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องไปยัง กมธ.และฝากสื่อไปเตือนสตินายไพบูลย์ให้ทำหน้าที่ประธานให้ดี ฟังให้มากและพูดให้น้อยกว่านี้”