free geoip

แสงสว่างตรงหน้า: ‘หมอชนบทโมเดล’ คือจุดเปลี่ยนโควิด-19



ณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ : ยังมีแสงสว่างอยู่ตรงหน้า ‘หมอชนบทโมเดล’ คือจุดเปลี่ยนสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ที่ต้องคว้าไว้ให้ได้

ในวันที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด – 19 รายใหม่ยังพุ่งไม่หยุดและมีอัตราผู้เสียชีวิตมากกว่าสองร้อยคนต่อวัน เป็นสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า ‘ระบบสาธารณสุข’ ใกล้เคียงการล่มสลาย ไม่เพียงวัคซีนมีไม่เพียงพอ แต่จำนวนผู้ป่วยกลับทะยานขึ้นสูงขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ว่าหมอพยาบาลหรือหน่วยส่งต่อเริ่มไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย ขาดแคลนเตียง โรงพยาบาลสนามมีน้อย ไม่มีจุดแรกรับพักคอย หรือกระทั่งเมื่อตัดสินใจนำแนวทาง Home Isolation ซึ่งก็คือการให้รักษาตัวเองที่บ้านได้มาใช้ก็กลายเป็นขาดระบบรองรับที่ดีพอ ตั้งแต่การรับเรื่องที่ขาดศูนย์กลางการบูรณาการและการติดต่อที่แสนยากเย็น ระบบคัดกรองอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดจนเกิดเป็นสภาวะรอตรวจ รอเตียง หรือกระทั่งรอตาย แม้ว่าต่อมาจะมีอาสาสมัครจากมาหลายฝ่ายที่ระดมกำลังเข้ามาช่วยเหลือมากสักแค่ไหน ทำแทนทั้งในด้านรับเรื่อง ประสานงาน นำอุปกรณ์ช่วยชีวิตไปให้ ส่งยาและอาหาร แต่ด้วยความนิ่งเฉยของรัฐบาลจึงทำได้แค่เพียงการประคองปัญหากันไปวันต่อวัน ยื้อชีวิตเท่าที่ยื้อได้ ส่วนที่ยื้อไม่ได้ก็คือการเก็บศพส่งต่อสู่เตาเผา เป็นสัปเหร่อเองที่กลับต้องทำงานมือระวังยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี เป็นสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า แทบไม่เหลือความหวังใดๆ ให้นึกฝันถึงได้ง่ายนัก



แต่ภายหลังการ ‘บุกกรุง’ ครั้งแรก ของ ‘ทีมแพทย์ชนบท’ แสงสว่างลางๆ ของทางออกก็เริ่มปรากฏขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเขา ‘ณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์’ ส.ส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ที่ยกให้การปฏิบัติภาระกิจนี้เปรียบดังฮีโร่ที่มาช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อันหนักหน่วงในแต่ละวันที่พบ ซึ่งจะรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโควิด -19 ในภาพรวมด้วย เขามองว่าหากมีการขยับขับเคลื่อน ‘โมเดล’ นี้อย่างจริงจัง ภายใต้การสนับสนุนของทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลที่พลาดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ครั้งนี้จึงไม่ควรที่จะทำพลาดอีกเพราะความหวังได้ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว

ลองมาติดตามเรื่องนี้กันต่อไปว่า ทำไม ‘ณัฐชา’ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อสู้กับโควิด- 19 ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี จากพรรคก้าวไกล คนนี้จึงคิดเช่นนั้น






“ตั้งเป้าหมายตรวจให้ได้ 1 ล้านเคส ในหนึ่งเดือน สัปดาห์แรกให้ได้ 250,000 เคส”

นี่คือเป้าหมายที่ทีมแพทย์ชนบทวางเอาไว้ในการ ‘บุกกรุง’ ครั้งที่ 3 เพื่อลงจุดตรวจเชิงรุก 30 จุด ในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคม ด้วยการตรวจแบบ Rapid Test หรือ Antigen test Kit (ATK) เพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ โดยคาดว่าจะสามารถตรวจได้จุดละ 1,000 รายต่อวัน รวมเป็นวันละ 30,000 ราย ในระยะเวลา 7 วัน คาดการณ์ได้ว่า จะคัดกรองโรคได้ประมาณ 210,000 ราย นอกจากนี้ จะยังมีทีมของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นทีมใหญ่ที่ตรวจคัดกรองแบบ walk-in อีกวันละ 5,000 ราย ในจุดต่างๆเปลี่ยนจุดไปตลอด 7 วัน ตรงนี้จะสามารถคัดกรองได้อีก 35,000 ราย ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็จะใกล้เคียงกับเป้าหมายในสัปดาห์นี้

ณัฐชา บอกว่า ตอนได้ยินข่าวครั้งแรกถึงกับขนลุกด้วยความดีใจและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ในส่วนที่ทำได้ เพราะเฝ้ารอการขยับเขยื่อนจากภาครัฐในการ ‘ตรวจเชิงรุก’ มานานมากแล้ว และได้พยายามทำในส่วนที่ทำเองได้มาโดยตลอด ก่อนหน้าคลัสเตอร์ทองหล่อเล็กน้อย ตอนนั้นพื้นที่บางแคเริ่มมีการระบาดเข้ามาของโควิดแล้ว ส่วนหนึ่งคาดว่ากระจายมาจากการระบาดในพื้นที่แรงงาน เช่น สมุทรสาคร ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเข้าใจดีหากมองจากสภาพความเป็นจริง แม้ว่าแรงงานติดเชื้อในส่วนที่มีหอพักแรงงานอาจควบได้ดี แต่บางส่วนยังอยู่ข้างนอกตรงนั้นและเป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจที่ยังต้องขับเคลื่อน รวมถึงปากท้องของแรงงานที่ยังต้องทำงานหารายได้วันต่อวัน ยังหาซื้ออาหารทาน ยังต้องไปตลาด ยังมีความคลุกคลีกับชุมชน เชื้อจึงสามารถส่งต่อกันและกระจายออกมา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคิดถึงในตอนนั้นต้องไม่ใช่การกล่าวโทษจับผิด แต่ต้องเป็นการตรวจเชิงรุกเพื่อให้เจอผู้ติดเชื้อเร็ว ตัดวงจรการระบาดเร็วที่สุด และถ้าเขาได้รับการรักษาเร็วก็จะลดความเสี่ยงที่จะอาการรุนแรงด้วย เพราะในตอนนั้นยังแทบไม่มีใครได้รับวัคซีนเลย


“เราเริ่มเห็นปัญหาและเราเสนอแนะเรื่องเหล่านี้ไปยังรัฐบาลหลายครั้ง โดยเฉพาะการปลดล็อกการตรวจแบบ RT- PCR มาใช้ Rapid Test หรือ Antigen test แต่รัฐบาลไม่ฟังเลย ก็ไม่เป็นไร ตอนนั้นพรรคก้าวไกลจึงมาวางแผนกันว่า งั้นลองมาทำของเราเอง ระดมความผิดและทรัพยากรที่มี ส.ส.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ ส.ส.เท้ง บางแค ก็ไปหาชุดตรวจ Rapid Test กับแล็บมา พอดี พี่อำนาจ ปานเผือก ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางเเค แจ้งว่า ‘ชุมชนบ้านขิง’ มีผู้ติดเชื้อโควิด ก็เลยลงไปตรวจเชิงรุกกันเลย ตรวจไปกว่า 98 คน ผลออกมาว่ามีผู้ติด 9 คน เมื่อยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจแบบ RT- PCR ก็ตรงกัน 100 % เพราะตอนนั้นยังต้องยืนยันด้วย RT- PCR จึงจะเข้าสู่ระบบการรักษาโควิดได้ จากผลตรงนี้นี้ เราเชื่อว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อแฝงอยู่อีก จึงรีบประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเเละสำนักเขตบางเเคมาตรวจอีกครั้ง คราวนี้พบผู้ติดเชื้อในชุมชนบ้านขิงกว่า 67 ราย ทั้งหมดได้เข้าสู่การรักษา เราพยายามลงตรวจแบบนี้อีกหลายครั้งก็พบทุกครั้ง แต่แน่นอนว่างบประมาณและบุคลากรที่มีเรามีจำกัดจึงไม่สามารถที่จะขยายผลได้มากนัก จึงน่าเสียดายว่าถ้าภาครัฐทำตั้งแต่ช่วงนั้นสถานการณ์อาจไม่เดินมาถึงจุดนี้”



“ตอนหลัง เราก็ตั้ง ‘กลุ่มเปลือกส้ม’ ขึ้น เพื่อทำงานในลักษณะอาสาสมัครในพื้นที่กรุงเทพ คือหลังจากเราเห็นความนิ่งเฉยในการรุกตรวจของภาครัฐและการจัดหาวัคซีนแล้ว ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า อนาคตข้างหน้าไม่น่าจะดีแน่ แบบนี้ผู้ติดเชื้อน่าจะสูงขึ้นอีกและยิ่งรับทุกเคสเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ซึ่งเราก็เคยเรียกร้องให้รีบวางระบบรักษาดูแลแบบ Home Isolation นะ เราเชื่อว่าทำได้และอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำแล้ว ผู้ป่วยหนักก็เริ่มมากขึ้น เพราะเขาไม่ได้เข้าสู่การรักษาตั้งแต่ระดับสีเขียวไง พอเดลต้ามาคราวนี้มันไปเร็ว ก็ไปล้นในโรงพยาบาล เฉพาะหน้าเรามีทีมโควิดของพรรคที่ประชุมกันตลอดและมีหมอมาให้คำปรึกษาก็ได้รับคำแนะนำว่า เพื่อลดภาระผู้ป่วยวิฤตในไอซียูสามารถใช้ Oxygen High Flow ได้ กลุ่มเปลือกส้มก็ไปหาเงินบริจาคมาเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ชิ้นนี้ไปมอบให้โรงพยาบาลได้หลายแห่ง พอสถานการณ์หนักขึ้นอีก คราวนี้กลุ่มเปลือกส้มจึงเข้าไปช่วยรับเรื่องจากผู้ป่วย ประสานหาเตียง เข้าช่วยเหลือและส่งต่อ หลังๆ ก็เริ่มจัดการเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตที่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”



ณัฐชา เล่าต่อไปว่า จะเห็นปัญหาแบบนี้มาตลอด ยิ่งช่วงหลังเหมือนรัฐบาลยิ่งปล่อยวางเลย อย่างพื้นที่บางขุนเทียนในเขตพื้นที่โรงงาน พอเริ่มมีการระบาดเกิดขึ้นและเริ่มกระจายเป็นวงกว้าง แรงงานรู้ ชาวบ้านรู้ โรงงานรู้ แต่จะบอกว่ากระทรวงแรงงานไม่รู้ก็คงไม่ได้ เพราะก็ได้แจ้งข้อมูลไป แต่สิ่งที่เขาเลือกทำ คือออกคำสั่งยกเลิกการตรวจเชื้อให้แรงงานต่างชาติ เป็นเรื่องที่น่าตกตะลึงมากว่าพวกเขาคิดกันได้อย่างไร

“ย้อนกลับไปวันนั้นแทบมองไม่เห็นทางออกเลย ผมว่ารัฐบาลรู้ปัญหาดีเหมือนที่เรารู้ แต่คำถามคือทำไมจึงไม่มีการขยับ ยิ่งมีคำสั่งแบบนี้คือถ้าไม่ใช่คนโง่ก็น่าจะเป็นคนเลวบัดซบ โชคดีที่ตอนนั้นแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งแรกพอดี จึงประสานไปให้เขามาช่วยตรวจให้ เพราะอยู่แบบนี้ชาวบ้านเขาก็กังวล ทีมแพทย์มาให้ 2 วัน ลงตรวจทั้งหมดไม่ว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติหรือคนไทย ตรวจไปจำนวน 4,000 คน พบผู้ติดเชื้อมากถึง 1,000 คน หนึ่งในสี่คือไม่ใช่น้อยๆ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลวางเฉยไง ปล่อยให้โควิดกระจายตัวไปอย่างอิสระด้วยการเลือกปฏิบัติระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งไม่ใช่แนวนโยบายที่ดีอย่างแน่นอนสำหรับการควบคุมการระบาด ผมคิดว่านี่ก็คงเป็นคำตอบในตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมการล็อกดาวน์จึงไม่ประสบผล ก็เพราะคุณไม่รุกตรวจซึ่งถ้ายังปล่อยไว้แบบนี้เรื่อย ต่อให้ยกกระดับไปจนถึงการประกาศกฎอัยการศึกก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการควบคุมการระบาดได้”







“คัดกรองเร็ว รู้เร็ว ดูแลตัวเองเร็ว เข้าถึงการรักษาเร็ว และกักดูแลตัวเองได้ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีคุณภาพมาอยู่เต็มแขนประชาชน ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ดี นี่คือโมเดลของทีมแพทย์ชนบทที่เราต้องสนับสนุน”

ณัฐชา บอกว่า หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เขาเองก็คือผู้ติดเชื้อโควิด -19 คนหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลยังไม่ยอมรับผลตรวจแบบ Rapid Test และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแนวทาง Home Isolation จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่มั่นใจว่าระบบนี้จะใช้ได้จริงหรือไม่ แต่หากมองจากประสบการณ์ของตัวเอง สิ่งที่เกิดตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงวันที่หาย ก็น่าจะเป็นภาพเดียวกันกับสิ่งที่ทีมแพทย์ชนบทอยากให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในกระบวนการสาธารณสุข


“คือตอนนั้น แม้รัฐบาลจะไม่ยอมรับผล Rapid Test แต่ในฐานะ ส.ส. โดยเฉพาะการเป็น ส.ส.เขต ยังไงก็ต้องลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าสภาซึ่งตรงนั้นคือที่รวมของคนมากมายเลย ทั้ง ส.ส.จากทั่วประเทศและทีมงาน จึงมีโอกาสที่จะรับเชื้อเข้ามาและกระจายออกไปเป็นคลัสเตอร์ได้ พอประเมินความเสี่ยงแบบนี้ ผมก็เลยหมั่นตรวจเป็นประจำ พอมาวันหนึ่งผลเป็นบวกก็กักตัวทันทีแจ้งไปที่สภาและไปตรวจ RT-PCR ซ้ำ โชคดีเรารู้ตัวเองเร็ว เพราะอาการก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ายังไปสภาต่อก็คงเกิดคลัสเตอร์สภาได้และคงไม่รู้ด้วยว่าใครติดจากใคร เพราะเราเป็นถ้าไม่หมั่นตรวจด้วยตัวเองก็ไม่มีทางรู้ว่ามีเชื้อ คงไปทำงานตามปกติ เมื่อรู้ผลแล้วจากนั้นก็ขอทำ Home Isolation เลย เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ระบบสาธารณสุขจะได้มีเตียงเหลือสำหรับผู้ป่วยหนักจริงๆ ตอนนั้นสถานการณ์ขาดแคลนเตียงผู้ป่วยเริ่มมาแล้ว เลยขอเข้าระบบ Home Isolation โชคดีที่มีหมอเป็น ส.ส. อยู่ในพรรคด้วย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง มาดูแลเป็นเหมือนหมอที่คอยประกบจากทางไกล มียามีการตรวจวัดอาการต่างๆ เพื่อประเมิน ช่วงที่ป่วยจริงน่าจะแค่ 1-2 วัน จากนั้นก็เริ่มกลับมาปกติ หากมองจากตัวเองคิดว่า ถ้าผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงอยู่ในการดูแลของแพทย์เร็ว ได้รับการรักษาโดยเร็ว โอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยหนักก็น้อย ก็หมายถึงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงและเหลืองจะลดลง ถ้าเป็นแบบนี้ภาระทางสาธารณะสุขและก็น้อยลง แพทย์มีโอกาสช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักได้มากขึ้น”




ณัฐชา กล่าวว่า ผู้ป่วยแบบตนนี่แหล่ะที่ทีมแพทย์ชนบทพยายามค้นหาให้เจอ จึงทำให้เขาต้องบุกกรุงเทพและปริมณฑลมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14-16 และ วันที่ 21-23 กรกฎาคม หากติดตามจากข่าวและบทสัมภาษณ์ต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือหลักคิดของทีมแพทย์ชนบทที่ทำให้ตัดสินใจว่าต้องมาบุกกรุง คือนอกจากการเห็นภาพผู้ป่วยนอนรอการตรวจหรือรอรักษาอย่างทนทุกข์ ชวนเวทนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกวันแล้ว สิ่งที่เขาจับสัญญาณได้คือการลามจากกรุงเทพออกไปยังต่างจังหวัด เช่น ยอดที่โคราชจากเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณหลักสิบต่อวัน แต่ช่วงหลังกลับเป็น 500 ต่อวันติดต่อกันเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือก็คือกลุ่มที่มาจากกรุงเทพ หมายความว่า ต่อให้ปลายทางดูแลพื้นที่ดีแค่ไหน หากไม่จัดการดับไฟตั้งแต่ต้นทางก็คือกรุงเทพก็จะไม่มีทางจัดการปัญหาได้เลย

“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ารัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข หรือกรุงเทพมหานคร ที่อยู่กับปัญหานี้มาเป็นปีๆ ประสบการณ์ดีๆในการแก้ปัญหาจากต่างประเทศก็มีมากมาย ทำไมจึงมองไม่เห็น คิดไม่ได้ ผมลงพื้นที่กี่ครั้งๆ ประชาชนก็ถามว่า ทำไมประเทศเราต้องอยู่ได้ด้วยอาสาสมัครตลอดเลยหรือ น้ำท่วมก็รอบริจาค โรคระบาดก็ให้อาสาสมัครมาทำงานแทนเต็มไปหมด รัฐบาลที่มีงบประมาณมหาศาลอยู่ตรงไหนในโครงสร้างปัญหานี้ ทีมแพทย์ชนบทก็เริ่มต้นจากอาสามาด้วยใจแบบนี้ อยู่ตั้งไกลแต่เห็นปัญหาต้องมาทำและทำอย่างจริงจริงด้วย ในสิ่งที่นโยบายภาครัฐไม่ตอบสนอง แถมแค่มาไม่กี่วันพวกเขาก็เห็นแล้วว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ปัญหาของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ในอดีตแทบไม่มีการลงทุนด้านสาธารณสุขเลย มีแต่การลงทุนเพื่อรักษา จึงไม่มีระบบการการป้องกันหรือส่งเสริมสุขภาพ เมื่อมีปัญหาก็พึ่งระบบรักษาอย่างเดียว พอล้นก็เอาไม่อยู่ อีกเรื่องหนึ่งก็คือลงมาตรวจแล้วเจอเคสแล้ว แต่ไม่รู้จะส่งต่อไปตรงไหน ไม่มีระบบรองรับไว้ แต่ในการมาครั้งที่ 3 ของแพย์ชนบทครั้งนี้พร้อมมาก ตรวจแล้วมีระบบของ สปสช.รองรับผู้ป่วยเลย”




ทั้งนี้ เป้าหมายของแพทย์ชนบทในเดือนสิงหาคมคือ การตรวจเชิงรุกได้ 1 ล้านเคส มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหรรม และมีการตัดสินใจที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.เพื่อสนับสนุนอย่างเหมาะสม เฉพาะในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคม มีการระดมแพทย์กว่า 400 คน จากต่างจังหวัด โดยแบ่งเป็น 38 ทีม เป้าหมายคือ 250,000 เคส เพื่อเป็นเสมือน ‘โมเดลต้นแบบ’ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่กรุงเทพสามารถขับเคลื่อนต่อได้เองอย่างต่อเนื่องหากพวกเขากลับไปแล้ว ขณะนี้ผลการคัดกรองล่าสุด อัตราพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ราว 10-15 % หมายความว่า สัปดาห์นี้อาจพบผู้ติดเชื้อมากถึง 25,000-32,500 ราย ซึ่งหากสามารถนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ ก็จะสามารถลดภาระเตียงล้นของโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตลง รวมถึงจะเป็นการตัดวงจรของการระบาดได้

ณัฐชา บอกว่า ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลและทีมเปลือกส้มจึงพยายามสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การประสานงานพื้นที่จุดตรวจ รวมถึงระดมทีมเปลือกส้มและ ส.ส. ไปช่วยกันทุกวัน โดยเฉพาะในวันจันทร์ที่ 9 ส.ค. นี้ จะมีการระดมตรวจครั้งใหญ่ที่ วัดม่วง เขตบางแค จำนวน 5,000 คิว ขณะนี้ทีมงานกรุงเทพกำลังประชุมกันเพื่อจัดเตรียมการให้ทีมแพทย์สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวที่สุด



“ต้องชื่นชมเลยว่า ในครั้งนี้ทีมแพทย์ชนบททำงานอย่างเป็นระบบมาก เข้าใจว่าหลังบุกกรุงมา 2 ครั้ง ทางแพทย์ชนบทได้ไปคุยกับ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้โมเดลการลงทะเบียนและส่งต่อชัดเจน ถ้าพบผล Rapid test เป็นบวก ให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำทันที จากนั้นจึงสแกนคิวอาร์โค้ทเข้าระบบดูแล Home Isolation ของ สปสช. เพื่อให้แพทย์ประเมินและติดตามอาการ โดยจะมีหมอโทรเข้าไปหาวันละ 2 ครั้ง กรณีไหนต้องแจกยาฟาวิพิราเวียร์ก็แจกทันที ถ้าเป็นสีแดงก็ประสานส่งต่อโรงพยาบาล ผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการอ่อนๆจะให้ยาฟ้าทะลายโจร ล่าสุด ยังมีการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กลุ่มเสี่ยงด้วย”



สำหรับการบริการจัดการระบบ Home Isolation ณัฐชา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจำเป็นต้องมีหมอคอยที่ดูแลเคสจึงจะสั่งยาได้ แต่อาจเป็นเพราะกรุงเทพมหานครไม่มีระบบรองรับมาก่อนเลย จึงทำให้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีเสียชีวิตคาบ้านหรือตามริมถนนสูง เพราะถึงตรวจเจอก็ไม่มีระบบรองรับจึงไม่ตรวจไปเลย แต่ก็ไม่แก้ปัญหาจนเกิดบานปลาย กระทั่งช่วงที่รัฐบาลประกาศทำ Home Isolation แล้วคือประมาณวันที่ 23 ก.ค.เคสสะสมยังมีเป็นหมื่นแต่ระบบรองรับทำได้แค่หลักร้อยรือหลักพัน ระบบสื่อสารก็ล่ม จนวันที่ 24-25 ก.ค. จึงเริ่มตั้งหลักได้ เพราะเป็นช่วงที่แพทย์ชนบทขึ้นมาตรวจเชิงรุกพอดี สปสช.จึงให้ทางทีมแพทย์ชนบทเป็นผู้รับเคสไว้ก่อน คือตรวจเจอก็รับเลย ส่วนตอนนี้ทราบมาว่า สปสช. กำลังดึงคลินิกเอกชนทั่วประเทศเข้ามาช่วยรองรับระบบ Home Isolation ด้วยพร้อมวางระบบส่งยาและอาหารไปให้ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะมีเสียงสะท้อนว่า สปสช. ผ่านเงินลงไปเงินช้าทำให้ไม่มีเงินหมุน ก็มีการปรับระบบเป็น หากรับคนไข้ก็จะเหมาจ่ายหัวละ 3,000 ต่อสัปดาห์ลงไปทันทีเพื่อให้ขับเคลื่อนและจัดการได้ดีขึ้น



การตรวจเชิงรุกจึงกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ท่ามกลางความรู้สึกที่มีความหวังขึ้นมาอีกครั้งของประชาชน ณัฐชา ระบุว่า ในแต่ละวันสามารถตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง อาจจะมีบางวันที่ไม่ได้ตามเป้าบ้าง เนื่องจากบางคนอาจไม่ได้มาตามคิวนัดหรือเอกสารมีปัญหา แต่โดยรวมก็ถือว่าเดินหน้าไปได้ด้วยดี วันที่ 6 ส.ค. 64 มีการตั้งจุดตรวจ วัดแสมดำ เรียกคิวตรวจ 3,000 ราย ได้เข้ารับการตรวจ 1,427 ราย พบผู้ติดเชื้อ 205 ราย ได้เข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR ทั้งหมด เป็น ผู้ป่วยสีแดง 0 ราย ผู้ป่วยสีเหลือง 20 ราย ผู้ป่วยสีเขียว 185 ราย ผู้ป่วยได้รับยา Favipiravia 149 ราย กลุ่มเปราะบางได้รับวัคซีน AstraZeneca 100 ราย วันที่ 5 ส.ค. 64 เอื้ออาทร บางขุนเทียน 3 ผู้เข้ารับการตรวจ 796 ราย ผู้ติดเชื้อ 37 ราย ได้รับยาทั้ง Favipiravia 37 ราย

ส่วนในวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันแรกคือ พื้นที่พระราม 2 ซอย 92 มีผู้เข้ารับการตรวจ 614 ราย พบผู้มีผลเป็นบวก 97 ราย ได้เข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR เรียบร้อยแล้ว ในจำนวนนั้นมีผู้ป่วยสีแดง 1 ราย ผู้ป่วยสีเหลือง 7 ราย มีผู้ป่วยได้รับยา Favipiravia 8 ราย





“เราเริ่มมองเห็นทางออก แต่อุปสรรคยังมี จากนี้ไปขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะบริหารผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่อไป หรือจะลุกขึ้นมาช่วยทะลวงคอขวดต่างๆเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนตามโมเดลที่ทีมแพทย์ชนบทเริ่มต้นเอาไว้แล้ว”

ณัฐชา กล่าวว่า สำหรับพรรคก้าวไกลของต้องขอบคุณทุกคน ทุกหน่วยงาน และยืนยันอีกครั้งว่าพร้อมสนับสนุนภารกิจครั้งนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หากทีมแพทย์ชนบทและแพทย์อาสาสมัครจากต่างจังหวัดต้องกลับไปทำภารกิจปกติที่บ้านของพวกเขาเอง ซึ่งก็หนักหนาไม่แพ้กัน สถานการณ์ในกรุงเทพจะเป็นอย่างไรต่อเป็นเรื่องน่าคิด นั่นก็เพราะความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่มีในกรุงเทพเวลานี้ ยังขึ้นอยู่กับภาพของการเมืองที่ยังงัดข้อกันระหว่างกลุ่มการเมืองอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะอยู่ในค่ายเดียวกันแต่ชิงแคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ หรือความขัดแย้งระหว่างพรรคที่มุ่งแต่จะไปทำฐานเสียงของตัวเองเกิดการช่วงชิงทรัพยากรมั่วไปหมด กลายเป็นว่า กรุงเทพที่หน่วยงานสำคัญด้านสาธารณสุขตั้งอยู่มากมาย มีทั้งคน งบประมาณและบุคลากร แต่สิ่งที่ขาดคือไม่มีใครยอมใครหรือต่างคนต่างทำและไม่มีใครกล้าทุบโต๊ะตัดสินใจแก้ปัญหาให้แม้แต่นายกรัฐมนตรี จนกระทั่งระบบสาธารณสุขแทบล่มสลายดังที่กล่าวมา ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหา คงจะรอหวังพึ่งพลังแพทย์อาสาจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือตลอดเวลาคงไม่ได้


“ต้องไม่ลืมว่าเรายังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 20,000 เคส และเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในบางวัน ส่วนใหญ่ก็เป็นเคสในกรุงเทพ ซึ่งระบบสาธารณสุขในกรุงเทพต่อให้ใหญ่แค่ไหนก็รับไม่ไหว จำเป็นต้องสร้างระบบ Home Isolation ให้แข็งแรง แต่ปัญหาที่ซ้อนมาคือพื้นที่สีแดงเข้มมากๆในกรุงเทพคือการเป็นพื้นที่ชุมชนแออัดหรือเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารทำ Home Isolation ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มี Community Isolation โดยทางแพทย์ชนบทเสนอว่าควรต้องมีทุกแขวง อาจใช้อาคารของโรงเรียน หน่วยงานรัฐ หรือค่ายทหารก็ได้เพื่อเป็นจุดพักคอยกรณีที่เจอเคส ตรงนี้ยังมีน้อยมากจริง

ดังนั้น กรุงเทพมหานคร ควรเป็นเจ้าภาพในการเร่งทำงานร่วมกับสาธารณสุขเพื่อหาสถานที่ บุคลากรอาสาสมัครที่สามารถช่วยหนุนเสริมกลุ่มวิชาชีพสายสุขภาพได้ ส่วนรัฐบาลจะต้องจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้พร้อม ตอนนี้เครื่องวัดออกซิเจนเริ่มหายาก ชุด Rapid Test ก็หาซื้อยากและราคาแพง ยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ราว 1 ล้านเม็ดต่อวัน ต้องอย่าให้ขาดเพราะสำคัญมากต่อการเพิ่มโอกาสในการรักษา เพื่อไม่ให้อาการเปลี่ยนจากเบาเป็นหนัก หรือกระทั่งงบประมาณต่อหัวลงไปที่ สปสช. เพื่อให้คลินิกต่างๆมั่นใจในการเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหมุนเวียนเมื่อรับเคสมาดูแล ขอวกเข้าเรื่องแปรคืนงบประมาณหน่อยแล้วกัน บางคนอาจบอกว่าคืนไปก็ไม่เกี่ยวกับโควิด ความจริงมันเกี่ยวโดยตรงเลย เพราะขณะนี้ สปสช.คืออีกกลไกที่สำคัญมากในการสนับสนุนมาตรการตรวจเชิงรุกและ Home Isolation ให้ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพได้”



ขณะนี้หลายภาคส่วนกำลังเข้ามาช่วยกันแก้ไขสถานการณ์วิฤตครั้งนี้อย่างเต็มที่ ระบบที่เคยมีคอขวดเต็มไปหมดได้ถูกจัดการให้เข้ารูปเข้ารอยและขับเคลื่อนไปอย่างมีทิศทาง เป็นแนวโน้มที่สามารถเปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อชะลอความสูญเสียได้จนกว่าวัคซีนจะเข้ามา

“เราอยู่ในความมืดมิดกับรัฐบาลนี้มานาน แสงสว่างหรือทางออกเห็นอยู่รำไร กรุงเทพไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยวเหมือนคราวเสียกรุงที่ถูกปิดล้อมแต่ไม่มีใครมาช่วย ครั้งนี้เรามีทัพหนุนเป็นหมอจากทุกสารทิศมาช่วยเมืองหลวงในสงครามเชื้อโรค แต่จุดวัดใจที่สำคัญก็อยู่ที่ว่า ‘รัฐบาล’ จะมองเห็นโอกาสเหมือนที่เราเห็นหรือไม่ หรือจะเมินเฉย ปล่อยให้ ‘การเมือง’ ภายในทำงานต่อไปบนกองศพของประชาชนที่นับวันมีแต่พูนสูงขึ้นทุกที” ณัฐชา กล่าวทิ้งท้าย


Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า