‘วิโรจน์’ ฉะ ‘อนุทิน’ ปมพ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ชี้ เอาหมอบังหน้า ปล่อยให้นักฆ่าลอยนวล
“ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดทะลุ 200 ราย เสมือนมีเครื่องบินตกในประเทศทุกวันเเละเสียชีวิตทั้งลำ สิ่งที่ประชาชนคาดหวังในสถานการณ์เช่นนี้คือ การออกมารับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะชดเชยเยียวยาพวกเขาอย่างไร ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากความหละหลวมหรือจงใจให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการเตรียมนิรโทษกรรมตัวเอง แถมเอาบุคลากรด่านหน้ามาบังหน้า”
สองวันที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกกระหน่ำจากทุกทิศทางกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเอกสารหลุดแนวทางการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งวิโรจนตั้งข้อสังเกตว่านี่คือการนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่เอาบุคลากรการแพทย์บังหน้า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือการหาทางลงให้กับคนในรัฐบาล โดยเฉพาะคณะผู้จัดหาวัคซีนและผู้ที่บริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด ซึ่งก็รวมถึงตัวอนุทินเอง
สองวันเต็มที่อนุทินต้องออกมายืนยันกับสื่อ โดยไม่มีการปฏิเสธเรื่องการเตรียมออกพ.ร.ก. แต่อนุทินพยายามแก้ตัวว่ากฎหมายนี้มีเพื่อปกป้องบุคลากรการแพทย์ให้ทำงานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวโดนฟ้อง
วันนี้ วิโรจน์ ผู้เปิดประเด็นร้อนครั้งนี้ ตอกกลับอย่างหนักแน่นว่า ข้อแก้ตัวของอนุทินฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงการ “เอาหมอบังหน้า ปล่อยให้นักฆ่าลอยนวล!”
ย้อนชมการแถลงข่าวที่นี่ https://youtu.be/nOgFxp_4spc
พรรคก้าวไกลยืนยันว่า บุคลากรทางการเเพทย์และสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค. คำสั่งของรัฐบาล หรือคำสั่งของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง พวกเขาไม่สมควรถูกฟ้องร้อง เพราะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดนานัปการ และในทางกฎหมาย ตอนนี้รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว หากประชาชนได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รัฐจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรมซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก จึงชัดเจนว่า พ.ร.ก.นิรโทษกรรม มีไว้เพื่อคุ้มครอง “ผู้ออกนโยบาย” โดยเฉพาะ
ในระดับนโยบาย คณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการวัคซีนที่สังคมตั้งข้อสงสัย เช่น ใครหรือคณะกรรมการชุดใดที่ให้ความเห็นที่ให้ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการ COVAX คนกลุ่มนั้นไม่ควรลอยนวล ไม่ควรต้องได้รับการปกป้องจากฎหมายพิเศษแบบนี้ และใครในคณะกรรมการชุดใดที่ให้ความเห็นในข้อที่ 10 ว่า “บุคลากรทางการเเพทย์ไม่ควรได้รับการกระตุ้นภูมิเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนเเวคไม่มีประสิทธิภาพ เเละจะทำให้แก้ตัวยากมากขึ้น” การตัดสินใจด้วยเหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่บุคคลากรทางการเเพทย์ทั้งแผ่นดินยังคงรอคอยคำตอบว่า ใครเป็นผู้ให้ความเห็นนี้ เป็นอาจารย์แพทย์หรือบุคคลใดที่กระทำความบั่นทอนต่อความรู้สึกประชาชนและบุคลากรทางการเเพทย์
วิโรจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การงุบงิบรวบรัดตัดตอนออกเป็นพระราชกำหนดยังสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลและทำให้ประชาชนอาจสงสัยต่อการกระทำของรัฐบาล เป็นพฤติกรรมเยี่ยงคณะรัฐประหารที่อ้างความดี แต่เป็นความดีในวงเล็บเพื่อให้ตนได้กระทำความชั่ว และขี้ขลาดหวาดกลัวในข้อเท็จจริง จงอย่าเอาการกระทำเช่นนี้มาออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเหมาเข่งให้กับบุคคลเเละคณะบุคคลที่ออกนโยบายเชิงสาธารณสุขได้อีกเลย
ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีประชาชนหลายกลุ่มกำลังดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดต่อรัฐในขณะนี้ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ หรือการที่ญาติพี่น้องของเขาเสียชีวิตไปจากการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด การไม่เตรียมทรัพยากรสาธารณสุขให้พร้อมสำหรับรับมือการระบาดระลอกใหม่ จึงเป็นไปได้ว่า พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คือการเตรียมการของรัฐบาลเพื่อรับมือการฟ้องร้องจากประชาชน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกหลายกรณีในอนาคต