ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยสันติ ไม่ใช่ยั่วยุและปราบปราม
“ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว…”
นี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) นายหนึ่งกล่าวกับสื่อมวลชน ก่อนที่จะมีการยิงกระสุนแก๊สน้ำตาและบังคับให้สื่อมวลชนหยุดการบันทึกภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ประโยคเดียวแต่สะท้อนความจริงที่เจ็บปวดสำหรับประชาชน
การใช้กำลังของตำรวจ ไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่พึงมีได้โดยสันติ ตรงกันข้าม การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับยิ่งเป็นการโหมไฟความรุนแรงเสียเอง
เราจะไม่ยอมให้ตำรวจกลายเป็นกลไกปราบปรามกดขี่ประชาชนเช่นนี้อีกต่อไป
“การปฏิรูปตำรวจ” ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ได้ออกมาชี้ให้เห็นว่าในการควบคุมการชุมนุมวันที่ 7 และ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจทำผิดหลักการสากล เปิดฉากใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และเป็นฝ่ายยั่วยุมวลชนให้เกิดการปะทะ
“ในการชุมนุม 2 ครั้งล่าสุด เรากลับพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้มาตรการหนัก ห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุมโดยเด็ดขาด กองกำลังควบคุมฝูงชนของรัฐได้ใช้ยุทธวิธีตำรวจเปิดฉากปิดและยึดคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือสารพัด ยิ่งในการสลายผู้ชุมนุม ก็มีอาวุธปืนลูกยาง ปืนยิงแก๊สน้ำตา ซึ่งใช้อย่างผิดหลักสากล มิหนำซ้ำยังเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ นี่คือความผิดพลาดอย่างยิ่งของการทำหน้าที่ตำรวจ”
“ตำรวจทำเพียงประกาศเตือนว่าผู้ชุมนุมได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและจะมีการปราบปรามจับกุม จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการทันที โดยที่มิได้มีการเข้าเจรจาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมในรูปแบบอื่น ในฐานะที่ผมเคยเป็นทั้งผู้ปฏิบัติและผู้สั่งการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนมาก่อน ตลอดจนเคยเป็นผู้ฝึกสอนในวิชาดังกล่าวด้วย เห็นว่าเป็นการลัดขั้นตอนการปฏิบัติของชุดควบคุมฝูงชน มิได้ดำเนินการจากเบาไปสู่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันน่าจะขัดต่อหลักการสากล ตลอดจนในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย”
เราต้องขอย้ำอีกครั้งว่า “การชุมนุมเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของประชาชน” หน้าที่ของตำรวจคืออำนวยการให้การชุมนุมเป็นไปโดยไม่มีความรุนแรง
“การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธคือหลักการพื้นฐานที่ทั่วทั้งโลกให้การรับรอง และประชาชนผู้มาชุมนุมเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ทรงสิทธิ์ นี่คือหลักแรกที่รัฐจะต้องเข้าใจและให้บริการอำนวยการจัดการให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการชุมนุม และตำรวจควรจะต้องดูแลผู้ชุมนุมเพื่อตอบสนองความต้องการในข้อเรียกร้องและใช้การเจรจาเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาตำรวจกลับไม่ได้กระทำตามตามนั้น เช่นที่ปรากฏทั้ง 2 ครั้ง กลับใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธเข้าปราบปราม และเหตุเช่นนี้แหละที่จะทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งมาด้วยความบริสุทธิ์ระบายอารมณ์ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ดังที่ปรากฏ เช่นป้ายสีชื่อองค์กร เผาตู้ยาม อันนี้ถือได้ว่า เป็นการทำลายประเทศชาติด้วยน้ำมือของรัฐบาลเองใช่หรือไม่?”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นแล้วว่าการทำหน้าที่ของตำรวจมีปัญหา ในการดูแลการชุมนุม ไม่มีการพูดคุยเจรจา แต่กลับเริ่มต้นด้วยการยั่วยุและใช้เครื่องมือสลายการชุมนุม
“ความจริงแล้วเครื่องมือหลักของตำรวจคือโล่และกระบองเพื่อป้องกันการถูกทำร้ายเท่านั้น ตำรวจควรต้องถูกฝึกให้มีความอดทนมากเป็นพิเศษ ต้องถูกฝึกให้เจรจาเป็นหลัก และการใช้อาวุธสลายการชุมนุมต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือสุดท้าย กระทำเมื่อการชุมนุมเป็นไปโดยวุ่นวายและควบคุมสถานการณ์ไม่ได้แล้วเท่านั้น ไม่ใช่ถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือแรกในการปราบปรามประชาชน”
พล.ต.ต.สุพิศาล ยืนยันถึงความจำเป็นในการปฏิรูปตำรวจว่าต้องเร่งทำใน 2 เรื่อง คือ
- แยกตำรวจออกจากกองทัพ โรงเรียนฝึกตำรวจต้องแยกออกจากโรงเรียนฝึกทหาร มีระบบการศึกษาแบบเดียวกับมหาวิทยาลัย
- ปรับปรุงสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย เพื่อให้ตำรวจทำหน้าที่ของตำรวจจริงๆ
“ในฐานะอดีตข้าราชการตำรวจ ผมยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ควรที่จะทบทวนการทำงานให้เป็นไปด้วยหลักการสากล ถึงเวลาแล้วที่ต้อง”ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ ให้เป็นตำรวจที่มีหัวใจประชาธิปไตย อำนวยความสะดวกให้ประชาชน มิใช่ขัดขวางสิทธิที่ประชาชนมี อย่างการปราบปราม จับกุม ใช้กฎหมายสารพัดจัดการเหมือนเห็นประชาชนเป็นศัตรูแบบที่ทำอยู่ในเวลานี้ เกียรติยศศักดิ์ศรีของตำรวจควรได้รับการฟื้นฟู ออกมาเดินดู มารับฟังประชาชนบ้างว่า วันนี้ ประชาชนเขามอง เขารู้สึกอย่างไรกับตำรวจ”
“ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราต้องรับความทุกข์ร้อน ทุกข้อเรียกร้อง เพื่อนำไปสะท้อนให้เห็นปัญหา ไม่ใช่ปิดหูปิดตาปิดกั้นข้อเรียกร้องเหล่านั้น และมุ่งปราบปรามการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว” สุพิศาลกล่าวทิ้งท้าย