“ศิริกัญญา” เปรียบเทียบงบฐานข้อมูลสวัสดิการประชาชนของกรมบัญชีกลาง 5.8 ล้านบาท แต่งบ กอ.รมน.ทำ big data platform กวาดเก็บข้อมูลส่วนตัวประชาชน 361 ล้านบาท มองประชาชนเป็นศัตรูเพื่อความมั่นคงของใคร?
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 อภิปรายสงวนความเห็น ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระที่ 2 และ 3 โดยอภิปรายกรณีโครงการพัฒนา big data platform ของกองอำนวยความรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มูลค่า 361 ล้านบาท
รับชมคลิปการอภิปราย https://youtu.be/cihM_tmyZg8
โดยศิริกัญญา ระบุว่าโครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 4 ปี ใช้งบประมาณ 361 ล้านบาท ตั้งงบประมาณไว้ในปี 2565 จำนวน 72 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์ตัดลดลงไปแล้ว แต่ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากอนุญาตให้มีการอุทธรณ์และคืนงบประมาณให้หน่วยงานไป
ในการนี้ ตนและพรรคก้าวไกลยังคงมีความเห็นคัดค้าน ด้วยว่าขณะนี้คือปี 2564 และสภากำลังพิจารณางบประมาณในปี 2565 ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจ เราจึงต้องมองถึงลำดับความสำคัญและความจำเป็นก่อน
ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ก็มีการพัฒนาฐานข้อมูลในลักษณะของ big data เช่นเดียวกัน เช่น กรมบัญชีกลาง ที่มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้รับสวัสดิการของรัฐทั้งหมดเพื่อบูรณาการ โครงการนี้กรมบัญชีกลางใช้งบประมาณไปเพียง 5.8 ล้านบาท แต่เรากลับให้งบประมาณทำฐานข้อมูลความมั่นคงกับ กอ.รมน.เป็นจำนวนมากกว่าหลายเท่า ถึง 361 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในรายการข้อมูลด้านความมั่นคง ที่ กอ.รมน.จะมีการจัดเก็บ ยังเป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น เช่น ทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลอาวุธปืน ข้อมูลทะเบียนบ้าน ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ และข้อมูลที่เป็นสารสนเทศด้านการข่าวและข่าวกรอง
ศิริกัญญา ระบุต่อไปว่าในสภาแห่งนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม เคยได้มีการอภิปรายไปแล้ว ถึงกรณีแผนบูรณาการด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้สามจังหวัดภาคใต้เป็นห้องทดลองมนุษย์ ทั้งเก็บข้อมูล DNA จากเด็ก คนแก่ ทหารเกณฑ์ จดจำไปหน้าจาก CCTV ซึ่งวันนี้กำลังถูกนำมาบูรณาการเป็น big data platform ที่จะใช้โดย กอ.รมน. และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจะไม่เป็นปัญหา หากที่ผ่านมารัฐไม่ได้ปฏิบัติกับประชาชนเหมือนเป็นฝั่งตรงข้าม เหมือนเป็นศัตรู ไม่ได้ใช้นิยามความมั่นคงของรัฐเท่ากับความมั่นคงของรัฐบาล ดังที่มีข้อมูลเอกสาร “ลับที่สุด” เปิดเผยออกมา เป็น Watchlist ซึ่งมีบุคคลทั้งประชาชน และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า อยู่ในรายชื่อเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ถึงสองครั้ง ทำให้ไม่มีกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมาปกป้องประชาชนจากการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ยิ่งทำให้ตนไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา big data platform นี้ ที่จะเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชนหนักขึ้น
“สรุปว่ารัฐบาลมองประชาชนและพรรคก้าวไกลเป็นศัตรูของรัฐเสียแล้ว เป็นความกังวลใจ หากวันนี้ กอ.รมน. จะทำ big data platform ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเอาไว้ แล้วสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ ดิฉันไม่เห็นด้วยที่จะให้ กอ.รมน. มีโครงการ big data platform นี้ โดยใช้ภาษีของประชาชน ที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่ามีภัยมากกว่าที่จะมีความมั่นคงในชีวิต”
ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย