free geoip

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ควรได้เงินจากภาษีประชาชนแม้แต่สตางค์เดียว


ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ กับงบ 79.9 ล้าน และบทบาทในฐานะผู้ผูกขาดความจริงให้รัฐ

“การเอาอำนาจในการชี้ขาดว่าสิ่งใดคือความจริง สิ่งใดเท็จ ไปอยู่ในหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง และเป็นหน่วยงานเดียวกันที่ถืออำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับประชาชน ไม่มีทางสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ ผมถามง่าย ๆ ว่าถ้าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง ใครจะเป็นคนดำเนินคดี? เราควรจะส่งเสริมองค์กรในลักษณะนี้ให้เกิดจากความร่วมมือในภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ที่แน่นอนว่าจะเป็นอิสระและมีความเป็นกลางมากกว่า”



ข้างต้น คือหนึ่งในคำอภิปรายโดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ได้อภิปรายเสนอตัดงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในส่วนของศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ทั้งโครงการมูลค่า 79,997,000 บาท

รับชมคลิปการอภิปราย https://youtu.be/DRacfysOIXg


ในโลกยุคโซเชียลปัจจุบัน ปรากฏการณ์ข่าวปลอมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความพยายามในการต่อต้านข่าวปลอมเกิดขึ้นจากความร่วมมือในระดับสากลมาโดยตลอด

จนเกิดขึ้นมาเป็นหลักการขององค์กร IFCN (The International Fact-Checking Network) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นมาตรฐานที่หน่วยงานต่อต้านข่าวปลอมทั่วโลก (ที่เป็นประชาธิปไตย) ล้วนยึดถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ของ ดีอีเอส ก็อ้างว่าตนเองอยู่ภายใต้มาตรฐานดังกล่าวนี้ และยังเคยคุยโวโอ้อวด ว่าจะตรวจสอบข่าวต่าง ๆ โดยไม่เอนเอียงทางการเมือง บอกว่าตัวเองมีหน้าที่เพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะไม่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีข่าวปลอม

แต่ข้อเท็จจริงที่ปกรณ์วุฒิชี้ให้เห็นจากการอภิปราย ปรากฏว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ทำทุกอย่างที่เคยบอกไว้ว่าตัวเองจะไม่ทำ!

เบื้องต้นที่สุด แค่เกณฑ์ในการจัดประเภทข่าวปลอม ก็ทำให้เหนความไม่เป็นมาตรฐานสากลแล้ว

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯมีเกณฑ์ในการแบ่งข่าวออกเป็น 3 ประเภท คือข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน

ในความเป็นจริงตามมาตรฐานสากล การแบ่งประเภทแบบนี้มีปัญหา เพราะเป็นเกณฑ์ที่คลุมเครือ ไม่ครอบคลุมประเภทของข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจริง และที่สำคัญ มันเปิดช่องให้การตีความว่าข้อมูลไหนที่เป็นข่าว “ปลอม” หรือ “จริง” ทำได้ครอบจักรวาล

เรื่องจริงสามารถเป็นปลอม เรื่องปลอมกลับเป็นเรื่องจริงได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออำนาจในการชี้นิ้ว อยู่ในมือของรัฐและหน่วยงานรัฐ


IFCN แบ่งประเภทของข่าวปลอมออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) disinformation คือข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาให้ผู้อ่านเข้าใจผิด
2) misinformation การให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่ชัดเจน
3) malinformation ข้อมูลที่มีพื้นฐานจากเรื่องจริงและเท็จปนกัน หวังผลโจมตีผู้อื่นหรือสร้างความเกลียดชัง


สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกกล่าวถึงในเกณฑ์การวัดของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่ปล่อยให้เรื่องของ “ข่าวปลอม” เป็นความคลุมเครือ จางๆ เปิดให้ตีความได้ครอบจักรวาลเสมอ

นั่นก็เพราะโดยแท้จริงแล้ว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ไม่เคยมีเจตนาอย่างแท้จริงที่จะดำเนินการกับข่าวปลอมจริงๆ แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแขนขาให้รัฐบาล ในการผูกขาด “ความจริง” ให้เป็นไปตามที่รัฐชี้นิ้วอยากให้เป็นเท่านั้น

นั่นนำมาสู่ประเด็นที่สองของปกรณ์วุฒิว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ไม่ได้มีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง อย่างที่ได้โอ้อวดเอาไว้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เลือกตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อนโยบายรัฐบาลเท่านั้น และพร้อมที่จะปล่อยผ่านข่าวปลอมที่เป็นผลบวกกับรัฐบาลเสมอ

หลายกรณี ข่าวปลอมเหล่านั้น ได้รับการยืนยันจากองค์กรนานาชาติแล้วว่าเป็นข่าวปลอม แต่แน่นอน เมื่อมันเป็นบวกกับนโยบายของรัฐบาล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็เลือกที่จะนิ่งเฉย

เช่น ข่าวที่อ้างอิงจากเว็บไซต์สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์ ที่เนื้อความจริงๆ รายงานถึงมาตรการของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ให้ทางเลือกกับชาวสิงคโปร์ที่แพ้วัคซีนชนิด mRNA สามารถเลือกฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ และจะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลสิงคโปร์

ข่าวนี้หลายคนน่าจะจำกันได้ ว่าถูกนำไปบิดเบือน กลายเป็นรายงานข่าวว่าคนสิงคโปร์อยากฉีดซิโนแวคมากกว่าวัคซีน mRNA จนกองเชียร์ซิโนแวคที่ไม่ได้มีความรู้เท่าทันต่อข่าวสาร หรือไม่รู้ภาษาพอที่จะเข้าใจข้อเท็จจริงได้ เอาไปตีปี๊ปกันยกใหญ่อยู่ระยะหนึ่ง

กรณีนี้ ปกรณ์วุฒิเล่าว่าเคยจี้ไปกับตัวแทนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ที่มาชี้แจงในห้องกรรมาธิการครั้งหนึ่งแล้ว แต่คำตอบที่ได้รับ คือ “การดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจากต่างประเทศได้”

แต่เพียงแค่สองวันให้หลัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็ตรวจสอบข่าวนี้แล้วระบุว่าเป็นข่าวบิดเบือน

ในอีกนัยหนึ่ง นี่แปลว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ทำงานได้ช้ากว่าชาวบ้านคนอื่นที่เขาจับโป๊ะแตกได้ก่อนหน้านี้หลายวัน จนกองเชียร์ซิโนแวคเงิบหน้าชากันไปจนหายชาไปแล้ว ดีอีเอสถึงมาบอกว่านี่เป็นข่าวปลอม

แปลว่านอกจากทำงานไม่เข้าเป้า ไม่เป็นกลางแล้ว ยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่างหาก สมควรหรือที่หน่วยงานแบบนี้ได้รับงบจากภาษีประชาชนไปถึง 79.9 ล้านบาท?

“นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมาแค่ไม่ยอมทำเท่านั้นเอง นี่คือการตอกย้ำว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐบาล หรือฟากฝั่งทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่หน่วยงาน fact-checking เป็นหน่วยงานใต้รัฐโดยตรง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ถูกข้อครหาด้านความเป็นกลาง”



ไม่เพียงแค่นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังทำเรื่องที่เคยบอกว่าตัวเองจะไม่ทำอีกประการหนึ่ง ก็คือภารกิจด้านการปราบปราม “ข่าวปลอม” โดยรับงบจากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีตัวชี้วัดหนึ่งคือความสำเร็จของการจับกุมและปราบปราม วัดผลสัมฤทธิ์คือความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “ข้อเท็จจริง”

นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังเคยขอให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงของผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก และยังให้การสนับสนุนแก่ บก.ปอท. ที่ออกมาขู่ประชาชนฮึ่ม ๆ ตลอดเวลา ว่าจะดำเนินคดีผู้เผยแพร่ “ข่าวเท็จ” และทางกระทรวงดีอีเอสเองก็เคยมีการยื่นฟ้องประชาชนมาแล้วหลายคดี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปราบปรามดำเนินคดีโดยเฉพาะ

ปกรณ์วุฒิ ยังได้พาเราและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ไปดูสิ่งที่มาตรฐานสากลเขาทำกัน เช่น ในระบบของเฟซบุ๊ก ระหว่างที่เราเลื่อนหน้าฟีดผ่านไป เราจะเห็นอยู่เสมอว่ามีการขึ้นเตือนเป็นแถบ ให้เห็นว่าข่าวใดบ้างที่เป็นข่าวปลอม ที่มีการตรวจสอบโดยองค์กรระดับนานาชาติแล้ว

IFCN เคยมีข้อสังเกตออกมา ว่าหน่วยงานที่ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ควรเป็นองค์กรภายใต้กำกับของรัฐ เพราะหากการตรวจสอบข่าวปลอมอยู่ภายใต้รัฐ ที่เป็นองค์กรทางการเมือง อาจจะนำไปสู่ปัญหาของการ “ผูกขาดความจริง” ได้

ข้อสังเกตนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง

ไม่ใช่ที่อื่นใดเลย มองไปไม่ต้องที่ไหนไกล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ของกระทรวงดีอีเอสนี่ล่ะ ที่ทำให้เราเห็นแล้ว ว่าการมีหน่วยงานต่อต้านข่าวปลอม อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนและสังคมมากขนาดไหน

ช่วยรัฐผูกขาดความจริง ชี้นิ้วข่าวปลอมที่รัฐไม่ชอบ ปล่อยผ่านข่าวปลอมที่รัฐอยากให้ปั่น ปราบปรามประชาชนบนโลกโซเชียล


ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ที่เป็นได้แค่ “ของปลอม” แบบนี้ ยุบทิ้งเสียเลยอาจจะดีกว่า

และไม่ควรที่จะได้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนไปเลยแม้แต่สตางค์เดียว

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า