งบกระทรวงสาธารณสุข : โควิดที่ไม่ถูกโฟกัสกับจุดจบในปากประยุทธ์
ในภาวะวิกฤติโควิดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทุกวันนี้ ย่อมเป็นเรื่องปกติ ที่งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมากเป็นพิเศษ
แต่มันจะเป็นเรื่องที่ไม่ปกติทันที เมื่อรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ยังคงจัดกันเหมือนสถานการณ์ที่เป็นสภาวะที่ปกติ
นี่คือความตั้งใจเดิม ของ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ที่ได้เคยอภิปรายเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ระหว่างที่อยู่ในการพิจารณาวาระ 1 ที่โฟกัสไปที่งบกระทรวงสาธารณสุข 1.5 แสนล้านบาท
รับชมการอภิปราย https://youtu.be/zSLwUk2FDyA
ซึ่งหากเป็นรัฐประชาธิปไตยปกติ ที่มีสามัญสำนึกอยู่ การจัดงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุข ย่อมจะต้องโฟกัสไปที่วิกฤติโควิด และลดทอนส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีความสำคัญจำเป็นลงไป
แต่สิ่งที่รัฐราชการ โดยเฉพาะตัวกระทรวงสาธารณสุขเสนอของบประมาณมาทางสภาผู้แทนราษฎรสำหรับงบประมาณปี 65 กลับสะท้อนปัญหาความไม่สามารถแยกแยะ และจัดลำดับความสำคัญได้ เต็มไปด้วยรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดจำนวนมาก
เมื่องบโควิดเป็นเพียงหนึ่งใน “รายการ” ไม่ใช่ “สมการหลัก” ของกระทรวงสาธารณสุข
เราลองมาฟังสิ่งที่วาโยไล่เรียงกันมา เพียงแค่ส่วนหนึ่ง ของสิ่งที่น่าจะถูกตัด (มีบางส่วนตัดสำเร็จ บางส่วนก็ไม่ได้ถูกตัด) แล้วทุกท่านก็ลองพิจารณาดูเอาแล้วกัน ว่าสมควรหรือไม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดงบแบบนี้ ในวันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด
ตัวอย่างที่ชัดที่สุด ก็เรื่องของ “โครงการอุดหนุนเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” งบที่ตั้งมาตอนเเรก 25 ล้านบาท ตัดไป 10 ล้านบาท คือลดลงไป 39% นี่คืองบอุดหนุนในการทำและงบดำเนินงาน ส่วนงบครุภัณฑ์ซื้อของต่างๆ อยู่ครบ ไม่ได้ถูกตัดสักรายการเดียว ได้แก่
กล้องจุลทรรศน์ สำหรับเอาไว้ตรวจอุจจาระ ดูไข่พยาธิ เพื่อคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ในตับ เครื่องละ 3 แสนกว่าบาทนับสิบเครื่อง, เครื่องอัลตร้าซาวด์สำหรับคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ เครื่องละ 4.5 แสนบาทนับสิบเครื่อง, เคลื่อนอัลตร้าซาวด์สำหรับคัดกรอง ราคาเครื่องแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 9.5 แสนบาท, 4.5 แสนบาท และ 9.3 แสนบาท
รวมๆ แล้ว ครุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโครงการปลอดพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีจำนวนเกือบ 700 รายการ รวมแล้ว 140 กว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย
หนึ่งในรายการที่วาโยไปพบมา คือกล้องถ่ายภาพจอประสาทตา ที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ประเทศไทย ซึ่งวาโยระบุว่าได้ติดต่อไปที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ซึ่งน่าจะเป็นคนใช้เครื่องนี้ ว่าที่ไปที่มาของการซื้อเครื่องนี้คืออะไร?
ปรากฏว่าคนของวิทยาลัยไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าจะมีการซื้อมาให้ แถมยังบอกด้วยว่า “เออดีนะ ประเทศไทยรวยจัง เครื่องละตั้ง 1.2 ล้านบาท”
ซึ่งทั้งหมดนี้ หากเป็นการจัดงบที่ทำในภาวะปกติก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่ในสภาวะที่โควิดระบาดไปทั่วเมืองแล้วยังแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า “จัดมาเพื่ออะไร?”
ลองเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ขอมาสำหรับรายการโควิดโดยเฉพาะดูบ้าง
เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ หรือเครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง มีรายการจัดซื้อเพียง 46 เครื่อง ในสภาวะที่ทุกวันนี้ แค่ที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัมที่เดียวต้องใช้ถึง 200 เครื่องแล้ว
คำถามคือการซื้อมาแค่ 46 เครื่องมันพอสำหรับทั้งประเทศหรือไม่?
เครื่องช่วยหายใจก็เช่นกัน มีการตั้งงบมาแค่ 150 เครื่อง ซึ่งทั้งประเทศมันจะพอไหมสำหรับภาวะวิกฤติปีหน้า?
สำนักงานปลัดสาธารณสุข มีโครงการที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิดเพียงโครงการเดียว ไม่ถึง 8.5 ล้านบาท
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโครงการเพิ่มศักยภาพห้องแล็บตรวจโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ 16 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการไว้ 5 ปี งบรวมประมาณเกือบ 70 ล้าน เริ่มต้น 16 ล้านบาทในปี 2565 แล้วทยอยใช้ไปจนครบในอีก 5 ปีที่เหลือ
ประเด็นคือ นี่เป็นแล็บเอาไว้ตรวจโควิด แต่ตั้งโครงการไว้ 5 ปี ทั้งที่จริงๆ แล้วความจำเป็นเร่งด่วนนี้ เราต้องใช้ภายใน 5 วันด้วยซ้ำ ไม่ใช่ 5 ปี
หรือจะเป็นกรมควบคุมโรค ที่มีงบเกี่ยวกับการควบคุมโรคในเรือนจำ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ยากมาก มีงบที่เกี่ยวกับโครงการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค “ตามแนวทางพระราชดำริ” และ “เฉลิมพระเกียรติ” ประมาณ 52 ล้านบาทเศษ
แต่งบประมาณส่วนนี้ไม่ได้เอาไปควบคุมโรคทั้งหมด มีส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคแค่ 24 ล้านบาทเศษเท่านั้น อื่น ๆ เป็นเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้าบ้าง โรคพยาธิใบไม้ในตับบ้าง โรคมะเร็งท่อน้ำดีบ้าง
ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุป งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโควิดโดยตรง ไม่ได้กลายเป็นจุดโฟกัสหลักของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข แต่กลายเป็นรายละเอียดปลีกย่อย
ที่ถ้าไม่ตรงจุด ก็น้อยเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่ได้ใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
หน่วยงานที่มาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ ระบุว่าที่ต้องจัดงบประมาณแบบนี้ เพราะเป็นการจัดทำมาตั้งแต่ปีหรือสองปีก่อนหน้านั้น ไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องโควิดได้
แต่ถ้าเป็นแบบนั้นจริง แล้วรายการที่เกี่ยวกับโควิดปลีกย่อยหลายรายการ อยู่ในงบประมาณได้อย่างไร?
การจัดงบมีปัญหา ยังไม่เท่า “เตะหมูเข้าปากหมา”
การตัดลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่ไม่จำเป็นอย่างที่ว่ามาข้างต้นนั้น ในชั้นกรรมาธิการสามารถปรับลดลงไปได้ 60 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 0.04
แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันแล้ว ว่างบประมาณที่มีการตัดทั้งหมดนั้น ได้ปรากฏว่ามีการ “เตะหมูเข้าปากหมา” ไปอยู่ในมือประยุทธ์ในนามของงบกลางทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว
ทำให้แทนที่เราจะได้งบประมาณไปเพิ่มในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโควิดจริงๆ กลายเป็นการเอาไปประเคนให้ประยุทธ์ใช้ตามใจชอบ
ผ่านมาจนถึงวันนี้ วาโย ที่เดิมจะขอสงวนคำแปรญัติขอปรับลด 1,128 ล้านบาท กลับมองว่าการเอางบประมาณที่จะต้องถูกตัดนี้ ไปใช้กับโครงการอื่นๆ ที่ว่ามาข้างต้นของกระทรวงสาธารณสุข ยังดีกว่าให้ประยุทธ์เอาไปใช้กับโครงการ “โควิด” แบบย้อมแมวขาย ประเภท “เลี้ยงไข่ไก่อารมณ์ดีสู้ภัยโควิด” อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากการใช้งบกลางของปีก่อนหน้านี้
หรือกระทั่งการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมด้วยข้ออ้าง “โควิด” อย่างที่ผ่านมา
“ตอนแรกผมสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดเอาไว้ 1,128,123,057 บาท แต่ตอนนี้เป็นที่ทราบกันดี ว่าคณะกรรมาธิการมีมติที่จะคืนงบทั้งหมดที่ตัดมาเข้ากลาง เพราะฉะนั้นถ้าจะคืนให้ประยุทธ์เอาไปใช้ ผมก็คิดว่าคาไว้อยู่ตรงนี้ เอาไปซื้อตู้อบไอน้ำ เอาไปซื้อดัมเบล เอาไปซื้อลู่วิ่ง เอาไปซื้อเครื่องดึงหลังดีกว่า เพราะฉะนั้นผมในฐานะกรรมการที่สงวนความเห็น ขอถอนคำสงวนความเห็น และไม่ปรับลดงบของกระทรวงสาธารณสุข ให้คาไว้แบบนี้ดีกว่าให้ประยุทธ์ใช้”