free geoip

ทำไมงบฯ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องปฏิรูป?

ในการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระที่ 1 พรรคก้าวไกลได้นำเสนอไปแล้วว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ รวมๆ แล้วอย่างน้อย 33,712 ล้านบาท จากงบประมาณประจำปี 3.1 ล้านล้านบาทที่ตั้งไว้



งบประมาณสถาบันกษัตริย์ เรื่องต้องห้ามใน “สภาผู้แทนราษฎร”?

เรื่องของงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูเหมือนเป็น “แดนสนธยา” ในการพิจารณา เพราะที่ผ่านมา การตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ดูจะเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ถูกพูดถึงในการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร และมักถูกปล่อยผ่านในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

สำหรับการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระ 2 ที่เกิดขึ้น ในการอภิปราย มาตรา 36 ส่วนราชการในพระองค์ ยังมีอุปสรรคจากการไม่ให้ฉายสไลด์ข้อมูลประกอบ ทั้งที่ข้อมูลทั้งหมด นำมาจากเอกสารงบประมาณที่เผยแพร่สาธารณะอยู่แล้ว เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เผยแพร่สู่สาธารณะ มีเอกสารอ้างอิงที่เชื่อถือได้

และย้อนไปก่อนหน้านี้ ในการอภิปรายโครงการ “โคก หนอง นา” ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงินรวมกันกว่า 5,000 ล้านบาท การอภิปรายงบประมาณเครื่องบินพระที่นั่งในสำนักนายกรัฐมนตรี งบการถวายความปลอดภัยของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เคยถูกห้ามฉายสไลด์แสดงข้อมูลต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนแล้ว 




ประธานในที่ประชุม คือ ศุภชัย โพธิ์สุ ได้อ้างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 69 “ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”




และอ้างถึง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาตรา 37 ที่มีเนื้อหาว่า “ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”




เมื่อลองพลิกไปดูตัวบทกฎหมายรวมถึงข้อบังคับเหล่านี้ที่ศุภชัยอ้าง เห็นชัดว่านี่คือการตีความที่เกินเลยตัวบทอย่างมาก

ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ  การพูดถึงงบประมาณของ “สถาบันกษัตริย์” เป็นการกล่าวถึง “พระมหากษัตริย์” โดยไม่จำเป็นหรือไม่ ?

และทำไม การนำเสนอเนื้อหาตรวจสอบงบประมาณสถาบันกษัตริย์ที่มาจากภาษีประชาชน ถึงกลายเป็นเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครอง หรือมีผลกระทบกับความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมอันดีของประชาชนไปได้ ?





แล้วเราเห็นอะไรในงบประมาณสถาบันกษัตริย์? 

ในการพูดถึงงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์  เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องย้อนไปพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ต้นตอของปัญหา” จนทำให้การอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นข้อถกเถียง

นั่นก็คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562





ปัญหาจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายอย่าง 

ไม่ว่าจะเป็นการรวมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย และสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ  มาเป็นหน่วยรับงบประมาณหน่วยงานเดียวในชื่อ “ส่วนราชการในพระองค์”




ซึ่งนอกจากการรวมหน่วยงานแล้ว เนื้อหาในกฎหมายหลายประการก็เป็นปัญหา อาทิ มาตรา 4 กำหนดให้การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ “เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” และส่วนราชการในพระองค์ “ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด”




นอกจากนี้ ในมาตรา 5 ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเป็น “เงินอุดหนุน” ให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ และให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์




ซึงบทบัญญัติใน มาตรา 5 ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณางบประมาณ เพราะการกำหนดให้จัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน เปิดช่องให้เกิดการชี้แจงบรรทัดเดียวในเอกสารงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องชี้แจงงบบุคลากร และงบดำเนินการใดๆ 

รวมทั้งการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้ง ทำให้เกิดการขยายขอบเขตการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

นี่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์นั้น เรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือปกครองในระบอบการปกครองใดกันแน่?




บประมาณส่วนราชการในพระองค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง…

พิจารณารูปธรรมที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ที่งบประมาณสถาบันกษัตริย์ทั้ง 5 ส่วน ยังคงรับแยกกันนั้น มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้รวม 5,674 ล้านบาท

แต่หลังกฎหมายฉบับใหม่ออกมาแล้ว ภายในปีเดียว สถาบันพระมหากษัตริย์กลับได้รับงบประมาณรวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,391 ล้านบาท 




นอกจากนี้ยังมีงบประมาณคาอยู่ที่หน่วยงานถวายความปลอดภัยเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีก 3,055 ล้านบาท ทำให้รวมเบ็ดเสร็จแล้วกว่า 9,446 ล้านบาท 

และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งในปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะผ่านงบประมาณรวมกันถึง 12,176 ล้านบาท




..จะเห็นได้ว่า 6 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์และงบถวายความปลอดภัย เพิ่มขึ้นกว่า 114% เร็วกว่างบประมาณแผ่นดิน ที่เพิ่มขึ้นเพียง 13% เท่านั้น

นี่ทำให้เราตั้งคำถามว่า งบประมาณแผ่นดินที่เราจัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ สูงเกินไปหรือไม่?






งบส่วนราชการในพระองค์สูงเกินไป

ถ้าลองพิจารณาเปรียบเทียบประเทศที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่ง สิ่งที่เราพบคือ สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับงบประมาณมากที่สุด 

มากกว่ากษัตริย์อังกฤษ ที่ได้งบประมาณ 3,565 ล้านบาท 1 เท่า และมากกว่าสวีเดน ที่สถาบันกษัตริย์ได้งบประมาณ 266 ล้านบาท เกือบ 33 เท่า




นอกจากนี้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับส่วนราชการอื่นๆ ที่มีสถานะเทียบเท่ากัน ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณมากกว่ากระทรวงถึง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงอุตสาหกรรม, และกระทรวงพลังงาน




อย่างไรก็ตาม อาจมีการโต้แย้งว่า การที่ส่วนราชการในพระองค์ต้องได้รับจัดสรรงบประมาณมากขนาดนี้ เป็นเพราะต้องดูแลข้าราชบริพารมากถึงกว่า 14,000 คน ทั้งนี้ จากการชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ ได้รับทราบตัวเลขว่ามีข้าราชบริพารประมาณ 14,275 คน

ซึ่งถ้าเทียบจำนวนบุคลากรจำนวนนี้ มากกว่ากระทรวง ถึง 14 กระทรวง และมากกว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก คนชรา ผู้พิการ และคนเปราะบางกลุ่มต่างๆ ทั้งประเทศไทยถึงเกือบ 5 เท่า




ไม่ได้กำลังบอกให้เพิ่มจำนวนบุคลากรให้กับหน่วยงานรัฐอื่น เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐก็เป็นจำนวนที่กดดันภาระงบประมาณในทุกๆปีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากชวนคิดชวนตั้งคำถามคือ จำนวนบุคลากรที่มากเกินความจำเป็นหรือไม่? 





งบประมาณที่ไม่มีรายละเอียดเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี 2560

นอกจากจำนวนเงินที่สูงเกินไปแล้ว ปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดของการพิจารณางบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น คือ ความโปร่งใส

ในการพิจารณางบประมาณแผ่นดินของสภาผู้แทนราษฎรนั้น หน่วยงานต่างๆ จะต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้งบประมาณและตัวชี้วัดว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากภาษีประชาชนนั้น จะถูกนำไปใช้อย่างไร ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ 

แต่ที่น่าแปลกใจคือ การพิจารณางบส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งมีงบประมาณมากกว่ากระทรวงต่างๆ 7 กระทรวงดังที่กล่าวมาแล้วนั้น กลับมีเอกสารมาให้สภาพิจารณาเพียง 7 หน้า 

และที่น่าตกใจก็คือ ไม่บอกรายละเอียดการใช้งบประมาณ และไม่มีผู้แทนหน่วยงานมาชี้แจงต่อสภาเหมือนหน่วยงานอื่น




การไม่มีรายละเอียดทำให้เกิดข้อสงสัย เพราะสำหรับหน่วยรับงบประมาณปกตินั้น เมื่อใช้จ่ายงบประมาณไม่เต็มวงเงิน ต้องส่งเงินคืนคลัง แต่ส่วนราชการในพระองค์ กลับเบิกจ่ายงบเต็มจำนวน 100% และบางปีก็มีการเบิกจ่ายเกินด้วย 

อาทิ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เบิกจ่ายเกินมา 52% เป็นเงิน 2,195 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เบิกจ่ายเกินมา 28% คิดเป็นเงิน 2,129 ล้านบาท โดยที่ไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่มีการชี้แจงใดๆ ถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว




อาจมีข้อโต้แย้งว่า การเบิกจ่ายงบเต็มจำนวน ส่วนที่ใช้ไม่หมดก็เก็บเป็นเงินสะสม เป็นลักษณะเดียวกับองค์การมหาชน ประเด็นนี้ต้องไม่ลืมว่า องค์การมหาชนนั้นมีรายงานงบประมาณการเงินอย่างโปร่งใสทุกปี ว่าใช้อย่างไร? มีเงินสะสมเหลือเท่าไหร่? แต่ส่วนราชการในพระองค์ ไม่เห็นเอกสารเหล่านั้น !

การไม่มีรายละเอียดงบส่วนราชการในพระองค์ ไม่ใช่เรื่องปกติ! แต่เป็นผลจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 

เพราะหากก่อนปี พ.ศ.2560 ในเอกสารงบประมาณ ถึงแม้จะไม่ละเอียด แต่เราสามารถเห็นได้ว่างบประมาณส่วนราชการในพระองค์ถูกใช้ไปที่หน่วยงานใด เป็นเงินเท่าไหร่ และมีรายการใช้จ่ายอะไรบ้าง







บทสรุป: ความไม่โปร่งใสไม่ได้มีแค่นี้ ต้อง “ปฏิรูป” งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกมิติ

นอกจากความไม่โปร่งใสในงบประมาณที่ได้กล่าวไป ในความเป็นจริงยังมีงบประมาณโดยตรงของสถาบันกษัตริย์ที่ซุกซ่อน และกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยราชการอื่นอีก เช่น

งบซื้อเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท (ตั้งแต่ปี 61-65) และค่าซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิงอีกปีละ 1,500 ล้านบาท ที่ตั้งในสำนักนายกรัฐมนตรี





งบที่เขียนว่า “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง 1,500 ล้านบาท” จริงๆ ซึ่งใช้ในการปรับปรุงวังที่ประทับต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย 




ยังไม่นับงบประมาณของโครงการที่มีนามสกุลห้อยท้าย “ในพระราชดำริ” “เฉลิมพระเกียรติ” อื่นๆ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในหลายกระทรวง โดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการตั้งคำถาม และไม่มีการปรับงบประมาณ ทั้งๆ ที่บางโครงการตั้งขึ้นมาติดต่อกันกว่า 30 ปี

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นความจำเป็นของการ “ปฏิรูป” งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ลดงบประมาณให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประชาชนกำลังยากลำบากจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเช่นนี้ 

ปัญหาที่ทำให้สภาไม่สามารถพิจารณาหรือตรวจสอบงบส่วนราชการในพระองค์ได้อย่างปกติเหมือนส่วนราชการอื่น เป็นเพราะ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ซึ่งตราขึ้นหลังรัฐประหาร โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในสมัยรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ รวมถึงการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการนี้ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ฉะนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรจะเข้าไปตรวจสอบงบประมาณส่วนนี้ ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบกระเทือนต่อพระราชสถานะ

“การปฏิรูป” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่เกิดในยุค คสช. ที่ทำให้งบสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่องค์พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

“ความจงรักภักดีไม่ได้วัดกันที่จำนวนหน่วยถวายรักษาความปลอดภัย จำนวนข้าราชบริพาร จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หรือการใช้ 112 แจกจ่ายประชาชน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนเอง” 






คลิกเพื่อย้อนฟังการอภิปรายฉบับเต็ม

คลิกเพื่อฟังบทสรุปย่อใน 4 นาที


Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า